สุภา ศิริมานนท์ กับ “ศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์”

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 บทความเรื่อง “ภาวะของศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์” ของจิตติน ธรรมชาติ (นามปากกาหนึ่งของสุภา ศิริมานนท์) ตีพิมพ์ตอนแรกลงในแผนกสัจจะและมายาการของนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น และจิตตินได้เขียนบทความชุดนี้ลงต่อเนื่องไปจนจบในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาเพียงสามเดือนก่อนหน้าที่ผู้คนนับร้อยจะถูกคุกคามและจับกุมจากกรณี “กบฏสันติภาพ” โดยในจำนวนนี้มีสุภา ศิริมานนท์ รวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นอีกราวยี่สิบปี ชุมนุมวรรณศิลป์ องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำบทความนี้มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อเดียวกันในปี 2517 แต่เมื่อเกิดการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หนังสือเล่มนี้ก็เข้าไปอยู่ในรายชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง พ.ศ. 2520

คำแถลงของบทความนี้ระบุว่า เดิมทีจิตตินต้องการจะศึกษา เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภาวะของศิลปะใน
ระบอบฟาสซิสม์กับภาวะของศิลปะในระบอบโซชลิสม์ แต่ภายหลังเขาตัดสินใจแยกการเรียบเรียงบทความออกเป็นสองชุด ชุดแรกเป็นการวิเคราะห์เฉพาะภาวะศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์เพียงอย่างเดียว ในบทความชุดนี้ จิตตินได้สอบค้นข้อมูลรวมทั้งกรณีตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับศิลปะหลากหลายสาขา เพื่อวิเคราะห์ถึงภาพรวมของศิลปะในยุคเผด็จการฟาสซิสม์ ซึ่งแม้ว่าเขาจะเน้นไปที่สมัยนาซีของเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งไรช์เมื่อ ค.ศ. 1933 และการออกกฤษฎีกาห้ามวิพากษ์วิจารณ์งานฝ่ายศิลปะอย่างเด็ดขาด ค.ศ. 1936 ก่อนที่ฮิตเล่อร์จะนำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในอีกสามปีถัดมา แต่จิตตินก็ระบุตั้งแต่ในคำแถลงว่า “ระบบฟาสซิสม์นั้นมิได้หมายความถึงแต่เพียงระบบเผด็จการของฮิตเล่อร์หรือ
มุสโสลินี แต่หมายความถึงระบบเศรษฐกิจสังคมอันหนึ่งซึ่งย่อมเคลื่อนไหวไปเกิดและสถิตย์อยู่ได้ในทุกแห่งทุกประเทศที่ระบบแคปิตะลิสม์ได้ก้าวล่วงเข้าไปถึงขั้นร่อแร่” (น. 28)

จิตตินมีความเห็นว่า สหรัฐฯในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็กำลังเข้าสู่ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์เช่นกัน จากการมุ่งทำลายลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เขายกตัวอย่างว่าการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนพฤติกรรมซึ่งมิใช่วิสัยของคนอเมริกัน หรือ Un-American Committee และการออกกฎหมาย Taft-Hartley มาควบคุมสหภาพแรงงานใน ค.ศ. 1947 นั้นเป็นการละเมิดและคุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง และทำให้ผู้ประกอบศิลปะในยุคนั้นต้องหวาดผวา ไม่กล้าสร้างสรรค์งานใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด

การกลับไปอ่านบทความ “ภาวะของศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์” ในพุทธศักราช 2557 (ค.ศ. 2014) อาจพูดให้วกวนว่าเป็นการอ่านย้อนยุคแบบร่วมสมัยก็คงได้ เพราะประเทศของคนดี (เท่านั้น) กำลังถอยหลังเข้าคลองเผด็จการอย่างไม่รู้อนาคต แต่ในฐานะคนอ่านหนังสือคนหนึ่ง เมื่ออ่านบทความนี้จบก็ได้แต่นึกขอบคุณจิตติน ธรรมชาติ ที่ตั้งประเด็นปัญหาและรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับวงการศิลปะในยุคเผด็จการฟาสซิสม์ไว้ให้ ได้อ่าน ได้คิดทบทวนและเปรียบเทียบข้ามพรมแดนและข้ามยุคสมัย และเมื่อคำนึงถึงความตั้งใจและการลงแรงในบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับบทความเรื่องนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องขอบคุณคุณสุภา ศิริมานนท์ อย่างสูงในฐานะคนทำหนังสือที่น่านับถือคนหนึ่ง ดังจะขอตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้

ประการแรก แม้ว่าจิตตินจะระบุในคำแถลงของบทความว่า เขารวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนงานชุดนี้ไว้นานแล้ว แต่บทความนี้ตีพิมพ์ในกลางปี 2495 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก โดยหลังจากที่กลุ่มทหารภายใต้การนำของผิน ชุณหะวัน, กาจ กาจสงคราม, เผ่า ศรียานนท์ ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2491 แล้ว ก็มีความพยายามก่อกบฏเพื่อต่อต้านรัฐบาลอีกหลายครั้ง ทั้งจากฝ่ายพลเรือนและทหาร จนนำมาสู่การรัฐประหารเงียบของจอมพล ป. ในเดือนพฤศจิกายน 2494 และการกวาดจับประชาชนครั้งใหญ่ในกรณีกบฏสันติภาพในอีกหนึ่งปีถัดมา

ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ รัฐบาลอำนาจนิยมได้จัดการกับฝ่ายต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆนานา เช่น ใส่ร้ายป้ายสีปรีดี พนมยงค์ ด้วยเรื่องแผนการมหาชนรัฐและคดีสวรรคต ยิงทิ้งรัฐมนตรีจากภาคอีสานสี่คน คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ทองเปลว ชลภูมิ, ถวิล อุดล และจำลอง ดาวเรือง ในระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวและใส่กุญแจมือเมื่อเดือนมีนาคม 2492 นอกจากนั้นยังควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วยการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ออกคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศ และกระทั่งสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่คัดค้านรัฐบาล เช่น มหาชน (รายสัปดาห์) และปวงชน (รายสัปดาห์) เป็นต้น ส่วนในฟากฝ่ายของกรรมกร รัฐบาลก็ได้จัดตั้งสมาคมกรรมกรไทยขึ้น เพื่อกำราบและลดบทบาทของสหอาชีวะกรรมกรซึ่งนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงานอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ดี การต่อต้านรัฐบาลครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลแถลงว่าจะส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีในเดือนกรกฎาคม 2493 ทำให้มีการรณรงค์สันติภาพและคัดค้านสงครามโดยมีประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องด้วยหลายหมื่นคน จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2494 จึงมีการก่อตั้งคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทยขึ้น คณะกรรมการฯ ได้จัดประชุมผู้แทนสันติภาพทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2495 และต่อมาในปลายเดือนตุลาคม กรรมการบางส่วนนำโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังได้เดินทางไปแจกเสื้อผ้าและข้าวของแก่ประชาชนในภาคอีสานซึ่งกำลังประสบภัยแล้ง เมื่อรัฐบาลมองว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นภัยคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มกวาดจับผู้คนนับร้อยคนในวันที่ 10 พฤศจิกายน หรือที่เรียกว่ากรณีกบฏสันติภาพนั่นเอง

ผู้ถูกจับกุมในครั้งนี้มีทั้งที่ได้รับการปล่อยตัวในเวลาไม่นานและที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีกบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ สุภา ศิริมานนท์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว แต่เขาต้องยุติการตีพิมพ์ อักษรสาส์น ลงตั้งแต่นั้น (ทว่าเขาคงโชคดีกว่าอารีย์ ลีวีระ ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามนิกร และพิมพ์ไทย ซึ่งถูกจับกุมตัวและได้รับการปล่อยตัวออกมาเพียงเพื่อจะต้องถูกยิงทิ้งในอีกหนึ่งปีให้หลัง)

จริงอยู่ที่บทความ “ภาวะของศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์” มีเนื้อหาว่าด้วยเผด็จการในต่างประเทศ มิใช่การวิพากษ์ “ระบอบพิบูลสงคราม” ในขณะนั้นโดยตรง และบทความส่วนใหญ่ใน อักษรสาส์น ระยะนั้นก็นำเสนอเรื่องจากต่างประเทศ ทั้งทฤษฎี ปรัชญาและวรรณกรรม เพื่อรักษาสถานะของหนังสือให้อยู่รอด แต่วิธีการที่ อักษรสาส์น เลือกนี้ก็เป็นประโยชน์แก่คนทั้งในยุคสมัยเดียวกันและรุ่นต่อมาอยู่ตามสมควร และหากเรากลับไปอ่านข้อเขียนของจิตติน ธรรมชาติ แล้วนึกสงสัยว่า เหตุใดเขาจึงนำบทความชุด “ภาวะของศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์” ตีพิมพ์ในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองดังกล่าวมาข้างต้น คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ในท้ายบทความของเขา:

การท้อแท้ไม่คิดต่อสู้ของศิลปินคือการทรยศต่อศิลปะ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ความหมายของคำฟาสซิสม์นั้น ถ้ามันดังกังวานขึ้นในที่ใด นอกจากจะหมายไปถึงความบรรลัยในทางต่างๆ อื่นๆ อันมากมายแล้ว ก็หมายความเป็นสำคัญถึงความพินาศของศิลปะด้วย และความล้มเหลวเสียที่มิได้เข้าต่อกรกับการเข้ามาข่มขู่ของมันก็มีความหมายเท่ากับศิลปินทั้งหลายได้ช่วยส่งเสริมให้ศิลปะหัวคะมำพรวดพราดลงเหวรวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง (น. 80)

ประการที่สอง เมื่อกล่าวถึงระบอบเผด็จการฟาสซิสม์ โดยเฉพาะระบอบนาซีนั้น เรามีแนวโน้มจะนึกถึงความโหดร้ายทารุณต่อชีวิตมนุษย์ในค่ายกักกันต่างๆ และนึกถึงความตายของคนยิว 6-10 ล้านคนที่เป็นเหยื่อลัทธิคลั่งชาติ แต่ในข้อเขียนที่จิตตินเรียบเรียงมาให้อ่านนี้ เขาแจกแจงให้เห็นถึงผลกระทบอันร้ายแรงและชวนสะเทือนใจอยู่ไม่น้อยที่ความหลงชาติอย่างบ้าคลั่งของพวกฟาสซิสต์กระทำต่อวงการศิลปะ โดยเฉพาะหากมองจากจุดยืนของจิตตินซึ่งนิยามศิลปะว่าคือการสื่อสาส์น (ภาษาทางศิลปะ) ระหว่างมโนคติของศิลปินกับมโนคติของผู้เสพศิลปะ โดยที่ศิลปะนั้นจะต้อง “หล่อหลอมก่อรูปโฉมขึ้นโดยชีวิตทางวัฒนธรรม” ในแต่ละยุคสมัย และจิตตินสนใจศิลปะโดยเพ่งเล็งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง “พวกที่ถือเอาศิลปะเป็นวิชาชีพ” กับ “สามัญชนผู้เสพศิลปะ (คือผู้อ่านผู้ฟัง)” หรือก็คือระหว่างวัฒนธรรมกับประชาชน มากกว่าการศึกษาศิลปะแบบเน้นบรรยายความงามของชิ้นงานศิลปะในทางนามธรรมจนกลายเป็นของขลังและสูงมาก

ด้วยมุมมองต่อศิลปะเช่นนี้เอง เมื่อจิตตินศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะของศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์ เขาจึงมีประเด็นความสนใจอยู่ที่ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างศิลปะกับชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้คนซึ่งปรากฏอยู่ในศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ดนตรี การประพันธ์ ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป

ประการสุดท้าย แม้บทความชุดนี้มีอายุมากกว่า 60 ปีแล้ว และภาษาของจิตตินก็มีถ้อยคำแปลกตาจำนวนหนึ่ง เช่น นายทุนขุนคลัง กระฎุมพีชั้นพี่เบิ้ม ขุนศึกกึ่งศักดินา อสูรนาซี อสุรกุ๊ยฟาสซิสต์ เป็นต้น แต่การณ์กลับเป็นว่า คำเหล่านี้มีตัวอย่างใกล้ตัวให้ผู้อ่านสมัยนี้พอนึกออกได้โดยไม่ยากนัก นอกจากนั้น ถึงแม้อุดมการณ์เบื้องหลังของบทความเรื่องนี้อาจจัดอยู่ในฝ่ายสนับสนุนโซชลิสม์ซึ่งหลายคนเมินหน้าให้เสียแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าใจความคิดเห็นของจิตตินต่อภาวะของศิลปะในยุคเผด็จการฟาสซิสม์ อีกทั้งเรายิ่งเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อเขายกตัวอย่างพฤติการณ์ในการประกอบศิลปะของระบอบฟาสซิสม์นาซีและของสหรัฐฯหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำลายบรรยากาศทางภูมิปัญญาของทั้งสองประเทศอย่างน่าเศร้า

นอกจากข้อสังเกตข้างต้นแล้ว ยังพบว่าบทความของจิตตินทั้งหมด 7 ตอนมีความสั้นยาวของเนื้อหาแตกต่างกัน โดยนำเสนอประเด็นต่อเนื่องกันไป และใช้การตั้งคำถามเพื่อนำเข้าสู่รายละเอียดพร้อมทั้งยกตัวอย่างต่างๆที่เขาสืบค้นมา ทว่าเขาไม่ได้ระบุเป็นชื่อหัวข้ออย่างชัดเจน

เนื่องจากบทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว จึงจะขอแบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ 1) ระบบฟาสซิสม์คืออะไร 2) ภาวะของศิลปะในระบอบนาซีของเยอรมนี และ 3) ภาวะของศิลปะในสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยจะสรุปเนื้อหาของแต่ละหัวข้อไปตามลำดับ แล้วใช้คำถามที่จิตตินตั้งไว้ในแต่ละช่วงเป็นจุดนำสายตาผู้อ่านเข้าสู่ข้อเขียนของ
จิตตินโดยตรงให้มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะว่าตัวข้อเขียนของจิตตินนั่นเองจะแสดงให้เห็นว่าการทำงานโดยไม่ท้อแท้ของเขาคืออย่างไร กระนั้นก็ตาม แน่นอนว่าการกลับไปอ่านงานของจิตตินเองโดยตรงทั้งหมด รวมทั้งงานเขียนอื่นๆ ของเขา ย่อมให้อรรถรสได้มากกว่า และเป็นความมุ่งหวังประการสำคัญของผู้เขียนบทความนี้