นิยามการมีตัวตนในโลกสมัยใหม่ กับการเล่นซ่อนหาใน คนแคระ

“ถอนใจให้กับประตู… กรีดร้องใส่รูกุญแจ… อย่าตอแยกับลูกกรง… เพราะทางลงคือหน้าต่าง…นั่นทางลงคือหน้าต่าง… ฮิฮิฮิ… ” (หน้า 317)

ภาวะที่ถูกล้อมกรอบ ความรู้สึกถูกบีบให้แคบและลีบเล็กลงๆเรื่อย จนกระทั่งไม่มีพื้นที่ส่วนตัวที่รู้สึกปลอดภัยและเป็นอิสระหลงเหลือ คือบรรยากาศที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้ยามอ่าน คนแคระ นวนิยายม้ามืดเจ้าของรางวัลซีไรต์เล่มล่าสุด ซึ่งสร้างความฮือฮาในหมู่นักอ่านวรรณกรรมไทยด้วยโครงเรื่องแปลกประหลาดและวิธีการเล่าเรื่องที่พา
คนอ่านสำรวจลึกเข้าไปในจิตสำนึกของตัวละครจนทะลุปรุโปร่ง

วิภาส ศรีทอง ผู้แต่ง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาชื่นชม D. H. Lawrence (1885-1930) นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งใน “เจ้าพ่อ” ของนวนิยายสมัยใหม่ (modern novels) งานของเขาจึงมีกลิ่นอายแบบ “โมเดิร์นๆ” ที่นักอ่านตัวยง
น่าจะคุ้นเคยกันดี ทั้งในส่วนของแก่นเรื่องที่สะท้อนภาวะความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ว่าด้วยความแปลกแยก, การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์,การสูญสิ้นศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์และพระเจ้า รวมไปถึงวิกฤติของศิลปินที่เกิดจากคำถามต่อรูปแบบและสถานะของงานศิลปะ และในส่วนของลีลาการประพันธ์ที่เน้นหนักทางด้านการบรรยาย “ความจริง” ภายในห้วงคิดของตัวละคร มากกว่าพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอกที่ทำให้พล็อตเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามความโดดเด่นของนวนิยายเล่มนี้ หาใช่เพราะมันมีความคล้ายคลึงกับงานจากโลกตะวันตก และถูกจริตของ
นักอ่านกลุ่มที่จัดตัวเองอยู่ในประเภท “ซีเรียส” หากแต่เป็นเพราะผู้เขียนได้สร้างตัวละครที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด ท้าทายกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและศีลธรรม ทว่าขณะเดียวกันคนอ่านกลับเชื่อมโยงตัวเองกับพวกเขาได้ ราวกับว่าความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวดังกล่าวนั้นมีอยู่ในตัวทุกคนหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นความ “ปกติ” อย่างที่สุด เมื่อผนวกเข้ากับโทนเรื่องที่ชวนให้หวาดผวาอยู่เป็นระยะจนบางช่วงถึงขั้น “หลอน” นวนิยายเรื่องนี้จึงทั้งท้าทายให้ขว้างทิ้งและยั่วเย้าให้อ่านต่อแบบวางไม่ลงไปพร้อมๆกัน