Maus : มรดกแห่งความทรงจำของประวัติศาสตร์บาดแผล

ผมอยู่ที่งานเทศกาลหนังสือแฟรงค์เฟิร์ตตอนที่มัน [Maus] ออกวางขาย แล้วผมก็ถูกนักข่าวคนหนึ่งกรรโชกใส่อย่างก้าวร้าวว่า “คุณไม่คิดหรือไงว่าการเอาเรื่องเอาช์วิตซ์มาทำเป็นหนังสือการ์ตูนน่ะ มันเป็นรสนิยมสามานย์ ?” ผมชอบคำตอบของผมตอนนั้น ผมตอบว่า “ไม่ล่ะ ผมคิดว่าเอาช์วิตช์เองน่ะแหละที่เป็นรสนิยมสามานย์”

บทสนทนาระหว่างนักข่าวชาวเยอรมันกับนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกันเชื้อสายยิว อาร์ต สปีเกลแมน (Art Spiegelman) ว่าด้วย “รสนิยม” นี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการพูดถึงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ที่มากไปกว่าในแง่ของเนื้อหา เพราะสิ่งที่
ผู้ถามเป็นกังวล ไม่ใช่เรื่องว่าควรพูดถึงโฮโลคอสต์หรือไม่ หรือพูดว่าอะไร หากแต่เป็น “พูดอย่างไร” และในทรรศนะของผู้ถามนั้น หนังสือการ์ตูนเป็นรูปแบบที่ห่างไกลจากการจะมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์บาดแผล (trauma) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมของชาวยุโรปจนอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะ “รสนิยมสามานย์”

อย่างไรก็ตาม สำหรับสปีเกลแมน (หรือ “อาร์ตี” [Artie] หนึ่งในตัวละครใน Maus (“เมาส์”) ซึ่งเป็นตัวคนวาดเอง) แล้ว สิ่งที่ “สามานย์” หาใช่การดึงเอาเรื่อง “ศักดิ์สิทธิ์” อย่างโฮโลคอสต์มาวาดเป็นการ์ตูน หากแต่เป็นศิลปะแห่งการทำลายล้างระดับเหนือจินตนาการของนาซีเยอรมัน ที่รังสรรค์ขึ้นในค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) อันอื้อฉาวต่างหาก คำตอบดังกล่าวไม่เพียงท้าทายขนบของการจัดชนชั้นวรรณะทางศิลปะ แต่ยังย้อนกลับไปทวงถามความชอบธรรมของคำถามตั้งต้น เพราะเมื่อวัฒนธรรมยุโรปอันสูงส่งได้ผลิตนวัตกรรมรสนิยมสามานย์อย่างเอาช์วิตซ์ขึ้นมาแล้ว ยังจะมีใคร(โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเยอรมัน) กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผลงานชิ้นใดหลังจากนั้นว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำได้อีกหรือ?

Maus เป็นนิยายภาพ (graphic novel) หรือบันทึกความทรงจำภาพ (graphic memoir) ที่เล่าถึงบทสนทนาระหว่างผู้เขียน (และวาด) กับวลาเด็ค (Vladek) บิดาของตน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยคนต่างเชื้อชาติ-ศาสนาในเรื่องจะถูกวาดเป็นสัตว์ชนิดต่างๆกัน (ตัวละครหลักคือ หนู [ยิว] แมว [เยอรมัน] และหมู [โปลิช]) อาการตระหนกตกใจของสาธารณะและความกล้าๆกลัวๆของสำนักพิมพ์ในการจะตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะนอกจากมันจะลบหลู่ความศักดิ์สิทธิ์ของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วยรูปแบบการ์ตูน (ซึ่งรั้งตำแหน่งอยู่ท้ายตารางของประเภทศิลปะในวัฒนธรรมตะวันตก) แล้ว มันยังลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นตัวละครด้วยการวาดพวกเขาออกมาเป็นสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางโศกนาฏกรรมอันเศร้าสลด สปีเกลแมนยังอุตส่าห์สร้างภาพบิดาของตนให้ออกมาเป็นคนยิวขี้งก เจ้าระเบียบ เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ต่างอะไรจากภาพแม่แบบเหมารวม (stereotype) ของชาวยิวที่ถูกผลิตซ้ำในโลกตะวันตกมาอย่างยาวนาน ราวกับว่าแทนที่มันจะพูด “เพื่อ” ชาวยิวในฐานะผู้สืบเชื้อสายเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย กลับกลายเป็นตอกย้ำซ้ำแผลของอคติทางชาติพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันเสียเอง

แล้วทั้งที่เป็นเช่นนี้ เหตุใด Maus เจ้าของรางวัล Pulitzer ปี 1992 จึงได้รับความนิยมมายาวนาน ได้รับการแปลเพื่อขายในประเทศต่างๆ ราว 30 ภาษา กระทั่งถูกบรรจุไว้ใน course syllabus ของมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกา? คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าชาวโลกมีความอดทน (tolerance) ต่อความอุตริของสปีเกลแมนมากมายขนาดไหน แต่อยู่ที่ว่า
รูปแบบอันท้าทายและดูเหมือนละเมิดกฎเกณฑ์ทั้งทางด้านศิลปะและมนุษยธรรม มีศักยภาพในการนำเสนอเรื่องราวของโฮโลคอสต์ได้อย่างไร

พูดในทางกลับกันก็คือ เงื่อนไขของการเล่าเรื่องโฮโลคอสต์มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ที่ทำให้รูปแบบการนำเสนอของ Maus ไม่ใช่แค่ “เหมาะสม” แต่จำเป็นอย่างยิ่ง

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]