พันธกิจแห่งชีวิต : งานวิชาการด้านเมืองไทยของเบ็น แอนเดอร์สัน

ตุลาคม พ.ศ. 2556 เป็นช่วง “วาระครบรอบ” สี่สิบปีของเหตุการณ์แรกในจำนวนสองเหตุการณ์ล้อมปราบนองเลือดที่กองทัพและองค์กรเสมือนรัฐกระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมไร้อาวุธซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่สนามหญ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ เหตุการณ์แรกนี้ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 บางทีอาจจะควรแก่การเฉลิมฉลองในแบบงานครบรอบมากกว่าเหตุการณ์ที่สอง ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย ส่วนเหตุการณ์ที่สอง คือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นยังไม่พบบทจบในแง่เรื่องเล่า มันไม่ยอมผนวกเข้าโดยราบรื่นกับประวัติศาสตร์ชาติไทย สี่ทศวรรษแลว้ เช่นนี้เองที่ทำให้แผนกจัดพิมพ์ของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAP Publications) มหาวิทยาลัยคอร์แนล ตัดสินใจตีพิมพ์ความเรียงเกี่ยวกับเมืองไทยที่เขียนโดยศาสตราจารย์ เบ็น แอนเดอร์สัน ขึ้นมาใหม่ อันเป็นงานที่เขียนไว้อย่างแหลมคมถึงความเปลี่ยนแปลงสั่นสะเทือนทางการเมืองและความเป็นไปได้ต่างๆ ของทศวรรษ 1970 และที่พ้นไปจากนั้น

ข้อวิพากษ์อันหลักแหลมของเบ็น แอนเดอร์สัน ต่อสังคมไทยและต่อสถาบันต่างๆ ซึ่งทรงอำนาจสูงสุดในสังคมไทยนั้น ช่างได้มาโดยง่าย หรือคล้ายจะง่ายเมื่อดูจากการเสนอข้อโต้แย้งที่ถึงแก่นและการวิเคราะห์ที่รอบด้าน บางทีอาจเพราะในเวลาเดียวกันเขาเป็นทั้งคนในและคนนอกของประเทศแห่งนั้นและรวมถึงทุกประเทศที่เขาอาจอ้างว่าเป็นสถานที่ที่เขาผูกพันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จึงน่าสนใจไม่น้อยที่จะขุดค้นประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของเขา เพื่อหาต้นตอของคุณสมบัติในการทั้งรักษาระยะห่างทางความคิดและทั้งรู้สึกใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งในเวลาเดียวกัน ต่อให้ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดา แต่มันก็อาจช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าชายผู้เกิดที่เมืองคุนหมิงของจีนในกลางทศวรรษ 1930 มีแม่เป็นชาวอังกฤษและพ่อเป็นแองโกล-ไอริชคนนี้ เปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในโลกเกี่ยวกับเรื่องชาตินิยมได้อย่างไร

cover