ล้อหมุนเร็ว : การแข่งรถ วรรณกรรมการแข่งรถ และชาตินิยมไทย

เกริ่นนำ
ในวันที่ 9 มกราคม 2531 มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นที่ใจกลางพระนคร รถแข่งรุ่นเก่าของแท้ 14 คันถูกลำเลียงจากค่ายทหารมายังลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อจัดแสดง และต่อมาก็ขับแข่งกันขึ้นล่องไปตามถนนราชดำเนิน เกิดความตื่นเต้นและโกลาหลมากมายเนื่องจากการรักษาความปลอดภัยสำหรับรถเหล่านั้นมีอยู่เพียงหลวมๆ และไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าควรทำอย่างไรกับรถเก่าพวกนี้ดี บรรดาคนขับและช่างเครื่องล้วนเป็นคนผิวขาว และคนขับที่เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวซึ่งหน้าตาเหมือนชาวยุโรปกลับพูดภาษาไทยได้ชัด การรักษาความปลอดภัยและการขนส่งลำเลียงรถดำเนินการโดยสารวัตรทหารหน้าตาท่าทางดุดัน ผู้มาเฝ้าชมเป็นชาวไทยซึ่งยืนแถวอยู่สองฟากถนน หลายคนเดินเข้าไปดูรถที่จัดแสดงอยู่ได้ตามสบาย อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา รถเหล่านี้จะไปแข่งที่สนามแข่งรถนานาชาติที่พัทยา ซึ่งในวาระนี้จะมีการเปลี่ยนชื่อสนามแข่งเป็น “สนามแข่งรถพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต” เพื่อเป็นเกียรติแก่นักแข่งรถที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติเพียงคนเดียวของไทย

งานนี้เป็นการจำลองเหตุการณ์การแข่งรถนานาชาติกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ซึ่งเคยมีกำหนดจะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 โดยจะมีนักแข่งรถและทีมงานจากยุโรปเข้าร่วม มีการพิมพ์โปสเตอร์ที่ออกแบบโดยพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช และมีการจัดทำถ้วยถมเงินลายวิจิตรขึ้นมาเพื่องานสำคัญนี้เป็นการเฉพาะ ผู้ที่เป็นต้นคิดจัดงานกรุงเทพ
กรังด์ปรีซ์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช เจ้าทั้งสองจากสยามถูกส่งไปอังกฤษเพื่อเรียนหนังสือและเรียนรู้วิถีของตะวันตก กลายเป็นคนไทยที่มีสองวัฒนธรรมและรู้สองภาษา และเป็นสองในสุภาพบุรุษตะวันออกที่กลายเป็นตะวันตก (Westernized Orientalist Gentlemen หรือ WOG) น่าเสียดายที่งานกรุงเทพฯ กรังด์ปรีซ์ในท้ายที่สุดไม่ได้จัดขึ้น เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียก่อน
หนึ่งในกิจกรรมที่พระองค์เจ้าทั้งสองหลงใหลอย่างยิ่งคือการแข่งรถ ทั้งคู่ส่งทีมแข่งรถสยามคือทีมคอกหนูขาว เข้าร่วมแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่ปี 2478 ทีมนี้ลงสนามแข่งอย่างแข็งขันมากที่สุดในปี 2479, 2480, 2481 แต่มาสะดุดเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามสิ้นสุด พระองค์พีระยังแข่งรถต่อไปจนถึงทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มมีการจัดแข่งกรังด์ปรีซ์ฟอร์มูลาวัน พระองค์พีระขับรถแข่งให้หลายทีม แต่ประสบความสำเร็จน้อยลง หนังสือเกี่ยวกับการแข่งรถยุคแรกๆ ส่วนมากจะมีการบันทึกชื่อและผลงานของพระองค์พีระไว้

บทความนี้จะแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักพระองค์เจ้าทั้งสองและความสำเร็จของพวกเขาในการแข่งขันในยุโรป อีกทั้งจะพยายามจะอธิบายบริบทของประสบการณ์ที่ทั้งคู่ได้ประสบในแง่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรับรู้ที่สาธารณชนสยามมีต่อตะวันตก ความทันสมัย และชาตินิยม ในขณะที่ชาตินิยมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นิยามผ่านการต่อต้านอาณานิคมตะวันตก แต่ชาตินิยมของไทยอยู่บนฐานของการเปิดรับและยึดกุมความเป็นสมัยใหม่ของตะวันตก และการหาทางฉวยใช้ความเป็นสมัยใหม่นั้นในการยกฐานะของไทยให้อยู่ในระดับของความมีอารยะอย่างเดียวกัน

ชาตินิยมของไทยนั้นมีลักษณะเป็นชาตินิยมจากบนลงล่าง คือการที่สมาชิกราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูง และชนชั้นนำทางการเมือง สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นมา โดยที่คนระดับล่างมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย ความสำเร็จของพระองค์เจ้าทั้งสองในการแข่งรถ และการเฉลิมฉลองผลงานของพวกเขาโดยคณะราษฎรที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่งผลอันเอื้อต่อการสร้างชาตินิยมแบบบนลงล่างที่ว่านี้ด้วย ลัทธิชาตินิยมดังกล่าวยังคงสำแดงให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้ที่ชาติถูกโยงเข้ากับสถาบันกษัตริย์และขุนนางชั้นสูงที่เป็น “คนดีมีศีลธรรม” และข้าราชการที่รับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาท ในกรณีของไทย ประชาชนคือผู้บริโภคลัทธิชาตินิยมดังกล่าวและมิใช่เป็นผู้มีส่วนร่วมอันแข็งขันในการประกอบสร้างมันขึ้นมาเช่นกันกับในวาระจำลองเหตุการณ์แข่งรถนานาชาติกรุงเทพกรังด์ปรีซ์เมื่อปี 2531 รัฐบาลไทยมีความภาคภูมิใจที่ได้ชี้ให้เห็นว่าสยามเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งรถนานาชาติ ความภาคภูมิใจแห่งชาติและความเป็นชาตินิยมนี้ยังอิงกับการผูกโยงตัวมันเองอย่างแนบแน่นต่อสถาบันกษัตริย์ไทยและผลงานของสมาชิกในราชวงศ์ด้วย

Bits and Pieces - BIRA 1942

 

$_57

thaichana