ผู้หญิงศิวิไลซ์ : ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศตวรรษที่ 20 ของไทย

ผู้ชื่นชมติดตามผลงานของซูซาน ฟูลอป เค็ปเนอร์ ในการแปลและแนะนำวรรณกรรมไทยสมัยใหม่เข้าสู่โลกภาษาอังกฤษได้รอคอยหนังสือเล่มนี้มาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษครึ่งแล้ว ผู้อ่านส่วนใหญ่ในโลกภาษาอังกฤษได้อ่านและใช้งานแปลของ ดร. เค็ปเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นLetters from Thailand [จดหมายจากเมืองไทย] (1977) ของโบตั๋น,
A Child of the Northeast [ลูกอีสาน] (1991) ของคำพูน บุญทวี และหนังสือรวมงานเขียนคัดสรรเกี่ยวกับนักเขียนหญิงของไทย The Lioness in Bloom (1996) ซึ่งเป็นการแนะนำผู้อ่านต่างชาติให้รู้จักกับงานเขียนไทยสมัยใหม่ เราเคยได้ยิน หรืออาจเคยอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1998 ของเธอ ที่เขียนภายใต้การดูแลโดยศาสตราจารย์กิตติคุณเฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ (Herbert Phillips) ที่เบิร์คลีย์ และเรายังเคยนึกสงสัยว่าเมื่อไหร่จะได้มีโอกาสอ่านวิทยานิพนธ์ดังกล่าวในรูปแบบของหนังสือ บัดนี้การรอคอยสิ้นสุดลงแล้ว และ ดร. เค็ปเนอร์ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง

A Civilized Woman: M. L. Boonlua Debyasuvarn and the Thai Twentieth Century เล่าเรื่องราวชีวิตของหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ตั้งแต่วัยเด็กที่เกิดเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน 32 คนของพ่อผู้เป็นขุนนางระดับสูงและเชื้อพระวงศ์ระดับล่าง เข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกคอนแวนต์ที่กรุงเทพฯ และปีนัง จนถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ประกอบอาชีพครู นักการศึกษาและข้าราชการ ตลอดจนเรื่องราวความเจ็บป่วย การแต่งงานในวัยที่ล่วงเลยไปมาก ชีวิตหลังเกษียณและการเป็นนักเขียนของเธอ คริส เบเคอร์ เขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ไว้อย่างดีใน บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ใครที่สนใจรายละเอียดของเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ควรอ่านบทวิจารณ์ชิ้นดังกล่าว ผมจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้อย่างกว้างๆ โดยให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ ต่อการกล่าวถึงโลกที่กำลังเลือนหายไปของชนชั้นสูงไทยหลังปี 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หญิงผู้ดีชนชั้นสูงอย่างบุญเหลือต้องปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งจะเน้นไปที่เรื่องราวความยากลำบากของบุญเหลือในการทำงานในระบบราชการไทย และจะปิดท้ายด้วยการสำรวจ ทัศนะของเธอเกี่ยวกับการใช้วรรณกรรมไทยให้เป็นประโยชน์และการใช้ประโยชน์จากวรรณกรรมไทย