ในฉากอันแสนธรรมดาสองฉากของภาพยนตร์เรื่อง Perfume: The Story of Murderer (2006) ฉากแรกเล่าเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เอ่ยถามผู้ดูแลว่า “ไปไหน?” เมื่อมีทารกประหลาดหรือเกรอนุย
ตัวละครเอกของเรื่องเข้ามาร่วมอาศัยแย่งที่ทางหลับนอน… ส่วนอีกฉากหนึ่งกล่าวถึงเมื่อเด็กสาวแสนสวยชื่อลอร่า
ริชชี่ ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งถูกปลุกขึ้นกลางดึกเหตุเพราะความฝันประหลาดของบิดา เด็กสาวไม่เพียงถูกขัดจังหวะการนอนแต่ยังถูกบีบคั้นให้ตอบคำถามต่างๆ ที่ผู้เป็นพ่อเฝ้าถามจนเด็กสาวเอ่ยกลับด้วยคำถาม “ทำไม?” … ไปไหนและทำไม คำถามอันแสนกะทัดรัดกลับมาทวีความเข้มข้นให้ฉากทั้งสอง ทำให้เหตุการณ์ที่แทบจะเลือนหายไปจากความสนใจของผู้ชมกลับทวีความเข้มข้นเทียบได้กับฉากร่วมรักสุดอลังการในท้ายเรื่อง เนื่องด้วยทั้ง
“ไปไหน?” และ “ทำไม?” ผูกติดอยู่กับกลิ่น อันเป็นหัวใจของเรื่อง
Wh – ก.
เด็กชายถาม “ไปไหน?” และเด็กสาวตอบ “ทำไม?” กลายคำถามที่ไร้คำตอบหรือเป็นคำตอบที่ผละจากคำถาม หลบเลี่ยงไปยังที่อื่น เมื่อไม่อาจให้ที่ทางไหนหรือเพราะเหตุผลอะไรได้ คำถามโชยขึ้นมาเหมือนกลิ่นบางเบาที่ลอยละล่องอยู่ทุกฉากตอนในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว คำถามค้างเติ่งตั้งแต่ต้นเรื่องเพื่อถามหาที่ทาง (“ไปไหน?”) และกลับมาตอบในฉากท้ายเรื่องด้วยคำถามถึงเหตุผล (“ทำไม?”) การถูกถามเน้นย้ำหรือร้องเรียกให้เราควานหาคำตอบ แต่จะตอบคำถามที่ถูกตอบด้วยคำถามอย่างไร คำตอบยอกย้อนกลวิธีถาม ถามหาที่ทางแต่กลับตอบด้วยการหาวิถีที่มา ถามหาสิ่งที่เห็นแต่ตอบกลับด้วยกระบวนการสวนสอบความนัย คำตอบย้อนยอกคำถามเพื่อแนะว่าเมื่อถามถึงที่ทางย่อมมาดหมายถึงเหตุผล หรือเมื่อควานหาความนัยย่อมต้องเบี่ยงไปมองสิ่งที่เห็น เมื่อต้องการรับรสน้ำหอมจึงต้องละจากจมูกโยกย้ายมาสู่ตา
ในช่วงปี ค.ศ. 1680 จิตรกรชาวเบลเยี่ยม Jan Brueghel, the Elder (c.1568-1635) ได้สร้างภาพเขียนเชิงแฝงคติธรรม (Allegory) ขึ้นชุดหนึ่งจำนวนถึง 7 ภาพ ภาพวาดชุดดังกล่าวไม่ใช่ภาพเล่าเรื่องที่มีเนื้อหาสืบเนื่องต่อกัน หากแต่ไม่ได้ตัดขาดความต่อเนื่องของเนื้อหาเพราะยังคงมีนัยที่อิงต่อกัน กล่าวคือ เป็นชุดภาพที่กล่าวถึงผัสสะการรับรู้ทั้งห้า อันได้แก่ การได้ยิน การเห็น การได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัส หากแต่จะเข้าถึงการรับรู้ได้อย่างไรในเมื่อขอบเขตของสื่อ ผิวระนาบอันราบเรียบของผืนผ้าใบ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่ง ความขุ่นมัวของภาพถูกก่อด้วย
คำถามถึงวิถีที่ทาง (what+way) จะได้ยินเสียงเครื่องสายของหญิงสาวที่นั่งตรงกลางบรรเลงได้อย่างไร จะสัมผัสความนิ่มลื่นของขนสัตว์ในวงแขนของหญิงสาวด้านหน้าได้ด้วยวิธีไหน จะรับรสอาหารในมือและเมรัยที่รินปริ่มถ้วยบนโต๊ะอาหารในภาพ Senses of Hearing, Touch and Taste ได้เช่นใด หรือในภาพ Sense of Smell จะดอมดมกลิ่นมวลดอกไม้ไอระเหยจากโถกำยานที่ลอยล้นฟุ้งเจือจางอยู่ในภาพได้อย่างไร คำถามเชิงโวหารที่เปรียบเทียบถามขึ้นจึงเปรยเปรียบลงในคำตอบว่าด้วยเรื่องพื้นที่เช่นกัน กล่าวคือในภาพ Sense of Sight หาใช่เพียงแค่การเห็นเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการมองอย่างถ้วนถี่จึงจะรับรู้ สอดส่ายทุกซอกมุมที่ถูกพับหลบหลีกเอาไว้เพื่อให้เห็นทั้งหมดมวล จิตรกรรมสร้างความลวงตาขึ้นยอกย้อนการเห็นพอกับที่ขัดแย้งเรื่องขอบเขตความเป็นสื่อ ความขุ่นมัวของภาพกลายเป็นกลไกให้ผู้ชมจับจ้องมองตาม ยั่วยุให้สัมผัส สร้างความหิวกระหาย(ยั่วน้ำลาย) กระทั่งเอื้อให้อ่านภาพเพื่อให้เกิดเสียง หรือแสดงท่าทางเพื่อเร่งเร้าให้เกิดกลิ่น การรับรู้เกิดขึ้นบนพื้นที่เชิงประจักษ์และพื้นที่เชิงความทรงจำ มีสายตาเป็นเข็มทิศชี้นำ เป็นไม้เท้าคลำทางไปจนเจอทางออกของคำถาม ภาพผลักเราไปถึงทางตันถึงผละไปยัง(พื้น)ที่อื่น
อย่างไรก็ดียังคงมีประเด็นที่คั่งค้างอยู่และจำต้องถามกลับอย่างยอกย้อนถึงการมองที่เอื้อไปถึงความหมายหรือภาพที่ยั่วยุให้อ่านว่าพื้นที่ตรงไหนถึงตัน…และตรงไหนถึงโปร่ง หรือก็คือการแปรคำถามเชิงโวหารเสียว่า เมื่อสื่อสกัดกั้นการรับรู้ให้เหลือเพียงสายตา ภาพก่อจินตภาพให้เกิดอารมณ์ร่วมได้เช่นไร ในที่นี้อาจอธิบายด้วยมโนทัศน์เรื่อง
ตัวผลัด (relais) ของโรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักสัญศาสตร์ชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 20
บาร์ตส์อธิบายเกี่ยวกับข้อบกพร่องหรือจุดบอดสำคัญประการหนึ่งของการรับรู้ความรุนแรงในบทความเรื่อง “Le message photographique” ว่าเราไปไม่ทัน หรือไปไม่ถึงความรุนแรง แม้ว่าอยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกันก็ตาม ก็อาจคลาดเคลื่อนไปด้วยมุมมองของการเห็น การได้ยิน หรือการสัมผัส ความรุนแรงที่ผู้ชมเห็นหรือรับรู้จึงอาจเป็นเพียงภาพจำลองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ในที่นี้ ผู้ชมมองภาพเสมือนความรุนแรงผ่านตัวผลัดหรือก็คือสื่อทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด หรือกระทั่งภาพยนตร์ ตัวผลัดเหล่านี้เองย่อมถูกจัดแจงด้วยสุนทรียศาสตร์โดยจงใจหรือเป็นเพียงความบังเอิญอย่างเลี่ยงไม่ได้เนื่องด้วยต้องผ่านการจัดการองค์ประกอบศิลป์ของผู้สร้าง เช่น การเลือกมุมมอง การจัดแสง การเข้าประชิด การออกห่าง ตลอดจนการเกลี่ยฝีแปรงหรือกระทั่งชนิดของเลนส์ เป็นต้น หรือกระทั่งจากการประเมินจากสายตาของผู้ชมในแง่มุมเดียวกัน
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าเราเห็นหรือรับรู้ความรุนแรงได้อย่างไร เรารู้สึกถึงรส กลิ่น เสียง สัมผัสอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงการมีอยู่ของตัวผลัด การรับรู้จึงกลายเป็นข้อยกเว้นของการมอง คือ ต้องมองโดยไม่เห็น เช่นเดียวกับการรับรู้ความรุนแรง ผู้ชมหมกมุ่นไปที่ภายในหรือเนื้อหาที่แสดงออกมา หักเหสายตาประหนึ่งการมองแต่ไม่เห็น กลไกที่ทำให้เราคำนึงถึงตรรกะภายในราวกับว่าสื่อคือรสชาติที่ถูกลิ้มลอง ระนาบเรียบของภาพเป็นเสียงที่ได้ยินหรือกลิ่นที่ล่องลอยเข้ามา หรือก็คือภาพนั้นเต็มตาจนไม่อาจเลี่ยงได้ เรือนร่างเปล่าเปลือยกับท่าทางอันน่าใหลหลงสะกดให้เราจ้องตาม ยิ่งแสร้งว่ารับรู้เท่าไหร่ก็กลับยิ่งถลำลึกไปในความขุ่นข้องหมองมัวที่ผู้ชมสร้างให้แก่ภาพ หลงติดกับความงามของภาพราวกับถูก Medusa จ้องมอง ยอกย้อนเช่นเดียวกันกับคำถามตั้งต้นด้วย How (อย่างไร) แต่กลับควานค้นชำแรกแทรกหาวิธี (Where) ปริศนาอันซับซ้อนถูกตามติด (หรือต่อติด) ด้วย Why (เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น) คำถาม (Wh-Question) ที่ถามหาถึงกลิ่นจึงต้องลดรูปลงในพื้นที่การเห็นให้เหลือเพียง ก. ประหนึ่งคำตอบเชิงโวหารของบาร์ตส์ “มันแจ่มแจ้งชัดเจนในตัว แล้วเราเห็นมันหรือเปล่า แทบจะไม่เลย”
…เราได้ ก. มันหรือเปล่า แทบจะไม่เลย…