ในกรงขังความเงียบ

When we claim to have been injured by language, what kind of claim do we make?
(Judith Butler)

จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) เปิดบทในหนังสือ Excitable Speech: A Politics of the Performative (1997) โดยตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าคำพูดทำร้ายเราได้อย่างไร ภาษากับตัวตนของมนุษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไรจึงทำให้เราเจ็บปวดเพราะคำพูดได้ ในฐานะที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นจากภาษา (linguistic being) หมายความว่า “อุดมการณ์” (ideology) ทางสังคมที่กอปรขึ้นเป็นตัวตนของเราอยู่นั้นได้รับการสถาปนาและปลูกฝังผ่านกระบวนการเชิงภาษาในรูปแบบต่างๆ ทั้งสิ้น ภาษาจึงมีลักษณะเป็น “act” ประเภทหนึ่ง กล่าวคือ มีอำนาจในการประดิษฐ์สร้างสถาปนา บัญญัติและรักษาความจริงทางสังคมที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของเราอีกทีหนึ่ง ภาษากำหนดโลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนระบบคุณค่าที่เรายึดถือ และในเมื่อภาษาสร้างเราขึ้นมา ในทางกลับกัน ภาษาจึง “ทำร้าย” เราได้ด้วย ภาษาเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำกลับ (จากการเป็นผู้กระทำนั้นเอง) มีความเปราะบางอยู่ในตัว เป็นฝ่ายสร้างบาดแผลและถูกทำให้บาดเจ็บได้ประหนึ่งเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางกายภาพ ข้อห้ามอันเกี่ยวเนื่องกับภาษาอย่างการเซ็นเซอร์ การปิดกั้นไม่ให้พูด และการลงโทษเมื่อเกิดการล่วงละเมิดนั้นเกิดจากพื้นฐานที่ว่า อันที่จริงแล้ว ความคิดที่ว่า “คำพูดทำร้ายใครไม่ได้” เป็นเรื่องไม่จริงนั่นเอง

เครื่องมืออย่างหนึ่งในการป้องปรามอำนาจในการโจมตีของภาษา ไม่ให้ภาษาเป็นฝ่ายโจมตีตัวตน หรือพูดให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือ โจมตีอุดมการณ์ที่กำหนดตัวตนนั้นๆ อยู่ จึงเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ภาษา การเซ็นเซอร์ และการกำหนดบทลงโทษต่อการละเมิดกฎเกณฑ์ในการใช้ภาษานั่นเอง ครั้งหนึ่ง มุกหอม วงษ์เทศ ขึ้นต้นบทความเอาไว้อย่างจับใจว่า “ศัพท์บางประเภทมีอาถรรพ์ คำบางวงศ์วานมีอาคม” และ “ศัพท์กำราบ สาปด้วยศัพท์” วลีของมุกหอมแสดงการกำหนดกฎเกณฑ์และบทลงโทษดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ในการใช้ภาษาในสังคมไทยอันเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นเอาไว้เป็นอย่างดี บทความอธิบายถึงทั้งราชาศัพท์ที่เป็นศัพท์แสงที่ใช้เฉพาะกับราชาและเชื้อพระวงศ์ (โดยเชื้อพระวงศ์ในแต่ละชั้นก็มีศัพท์เฉพาะแยกย่อยลงมาอีก ตามธรรมเนียมของสังคมลำดับชั้นที่แต่ละชั้นย่อมมีวัตรปฏิบัติเป็นของตนเอง) และศัพท์สำนวนโวหารที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยในปัจจุบันในหมู่ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “รอยัลลิสต์” ที่แสดงการด่าทอ ขู่กรรโชก สาปแช่งคนที่ “บังอาจ” กระทำการ “จาบจ้วง” “ลบหลู่” เบื้องสูง ศัพท์แสงทั้งสองประเภทแสดงถึงกฎเกณฑ์ในการใช้ภาษา และบทลงโทษการละเมิดกฎเกณฑ์ที่ว่านั้นผ่านการใช้ภาษา

ความที่ภาษาเป็น act นี้เองที่ทำให้การล่วงล้ำ ละเมิดลำดับความต่ำสูงด้วยคำพูดหรือข้อเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การใช้ถ้อยคำจำพวก “จาบจ้วง” “บังอาจ” “ขี้กลากจะกินกบาล” และคำอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีนัยถึงการต่อต้านการรุกล้ำระเบียบลำดับชั้นที่จัดวางไว้แล้วด้วยการใช้ภาษาเช่นกัน การกระทำที่ “ละเมิด” ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็น “ธรรมชาติ” ของสังคมไทย หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเป็น “ความจริงทางสังคม” นั้นเป็นสิ่งที่ยอมกันไม่ได้ ทั้งยังไม่มีพื้นที่ว่างให้กับความเป็นอื่นอีกด้วย ในโลกทัศน์ที่จัดวางให้เราทั้งหลายมีสถานะเป็นเพียง “ฝุ่นใต้ตีน” การสงสัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เจ้าของตีนที่เหยียบเราอยู่ เป็นความ “อาจเอื้อม” ชนิดที่ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ เป็นข้อห้ามระดับพื้นฐานของความเป็นคนไทย และ
เป็นจุดกำเนิดของระเบียบสังคม กฎเกณฑ์ ตลอดจนคุณค่าต่างๆ (ที่แน่นอนว่าขัดกับหลักการประชาธิปไตย) ข้อห้ามการละเมิดได้กลายเป็นเครื่องบำรุงรักษา status quo ที่ทั้งผู้มีอำนาจและผู้ที่สยบยอมอยู่ในระเบียบอำนาจดังกล่าวจะรู้สึกว่าต้องสงวนเอาไว้ เพราะการแตะต้องในเรื่อง “สูง” นั้นเป็นเรื่องที่เปราะบางเหลือเกิน ทำร้ายจิตใจอย่างเหลือคณานับ ดังข้ออ้าง “กระทบกระเทือนจิตใจคนไทยทั้งชาติ” ที่มักถูกยกมาโต้แย้งความพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ – ลำดับสูงสุดในสังคมชนชั้น

การคุกคามด้วยภาษาในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่รูปแบบเดียวของการต่อต้านผู้ที่บังอาจจาบจ้วงเบื้องสูง หากยังมีการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมที่มีผลต่อร่างกายโดยตรงอย่างการจำคุกอีกด้วย กระนั้น บทลงโทษทางกฎหมายที่ว่าก็สืบเนื่องมาจากประเด็นของภาษาอยู่นั่นเอง กล่าวคือ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สาปีถึงสิบห้าปี” (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)
****