นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก ของ เขียน ยิ้มศิริ กับการเมืองวัฒนธรรมสมัยสงครามเย็น

ท่านอธิบดีที่นับถือ

ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำจากพระสุวพันธ์ แห่งสถานทูตไทย ในกรุงลอนดอนว่า ท่านอาจจะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง ในกรณีย์ดังต่อไปนี้ คือ

สถาบรรณศิลป์ร่วมสมัย ณ กรุงลอนดอน กำลังวางโครงการงานประกวดภาพปั้นระหว่างชาติ ซึ่งจะต้องประกาศให้ทราบทั่วโลกในเดือนมกราคม ๒๔๙๕ และสิ้นสุดก่อนสิ้นปี หวังว่าการประกวดครั้งนี้ พร้อมด้วยเงินรางวัลกว่าหมื่นปอนด์ อาจจะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนและบันดาลใจปฏิมากรทั่วโลกให้ส่งงานเขาเข้าแข่งขัน

ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือจากท่านในการที่จะได้นามและตำบลที่อยู่ขององค์การปฏิมากรรม, สมาคม, โรงเรียน รวมทั้งนามและตำบลที่อยู่ของปฏิมากร เป็นรายบุคคลในประเทศของท่าน เท่าที่ท่านสามารถจะช่วยได้ เพื่ออาจจะได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้นต่อไป และมั่นใจว่า ปฏิมากรทุกท่านจะส่งใบสมัครเข้าสู่การประกวดครั้งนี้โดยทั่วกัน

การประกวดจะเปิดขึ้นแก่ปฏิมากรทุกคน และงานของเขาจะได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรม ไม่จำกัดแบบว่าจะเป็นแบบคิดฝันตามอุดมคติ, ความหมาย, หรือแบบจริงตามธรรมชาติ (Abstract, Symbolic, or Realistic) ก็ตาม ศิลปินมีสิทธิที่จะเลือกทำได้ตามใจชอบ

ขอได้รับความร่วมมือจากท่านพร้อมด้วยความขอบคุณ
ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ) เอ. เจ. ที. โกลแมน
ผู้อำนวยการ โครงการงาน

จดหมายจากแอนโธนี เจ. ที. โคลแมน (Anthony J. T. Kloman) ประธานและผู้อำนวยการจัดโครงการประกวด
แบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก (Monument to the Unknown Political Prisoner) ที่ส่งถึงหลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ระบุขอความร่วมมือให้ทางการไทยช่วยประสานงานจัดส่งรายชื่อองค์กร สมาคม และประติมากรที่น่าจะสนใจส่งผลงานแบบร่างเพื่อเข้าร่วมการประกวด กรมศิลปากรได้ให้ความร่วมมืออย่างดีโดยส่งรายนามจำนวนหนึ่งไปตามคำขอดังกล่าว จากนั้นทางโครงการฯได้จัดการส่งระเบียบการและใบสมัครกลับมาตามที่อยู่ขององค์กร สมาคม และประติมากรที่กรมศิลปากรได้ให้ไว้ โดยมีบริติช เคาน์ซิล ในกรุงเทพฯ ภายใต้การดูแลของ อาร์. เจ. ฮิลตัน (R. J. Hilton) เป็นผู้ประสานงานร่วมในประเทศไทย

ประติมากรไทยที่ส่งแบบร่างเข้าประกวดมีทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ เขียน ยิ้มศิริ, สิทธิเดช แสงหิรัญ, แสวง สงฆ์มั่งมี, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ และอำนาจ พ่วงสำเนียง ผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย (รูป 1) และถูกนำไปจัดแสดงร่วมกับแบบร่างชิ้นอื่นๆในนิทรรศการที่เทท แกลเลอรี่ (Tate Gallery) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม-30 เมษายน พ.ศ. 2496

โครงการประกวดแบบร่างอนุสาวรีย์นักโทษการเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้เป็นข่าวคราวใหญ่โตนักในเมืองไทย แทบไม่มีงานเขียนที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังนอกจากบทความของเขียน ยิ้มศิริ หนึ่งในผู้ส่งแบบประกวดและผู้ได้รับ
คัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย บทความของเขียนมีลักษณะเป็นรายงานเล่าเรื่องกฎเกณฑ์การประกวด ขั้นตอนการส่งผลงานและรายละเอียดผลงานของตนกับศิลปินไทยอีก 4 คน พร้อมทั้งบทแปลหัวข้อของอนุสาวรีย์ที่อยู่ในประกาศรับสมัคร ตลอดจนรายนามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคณะกรรมการ บทความทั้งสี่ชิ้นตีพิมพ์ในวารสาร ศิลปากร ช่วงปี พ.ศ. 2496

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลประการหนึ่งซึ่งคงจะเขียนขึ้นในยุคหลังและกลายเป็นที่แพร่หลายมาก นั่นคือการยกย่องว่า
ผลงานของเขียนชิ้นนี้ “ได้รางวัล” หรือ “ชนะการประกวด” ไม่ว่าจะเป็นในเอกสารราชการเรื่อง “ขอเพิ่มค่าจ้างให้แก่ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี” (2504) ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไป ใน สูจิบัตรนิทรรศการศิลปานุสรณ์ เขียน ยิ้มศิริ (2522) หรือในเว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลศิลปินไทยของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 และอื่นๆ อีกมากมาย (ก็ขอให้ลองกูเกิลกันดู)

เมื่อเห็นข้อมูลนี้ ผู้เขียนสะดุดใจว่าเคยมีศิลปินไทยชนะการประกวดศิลปะที่เททจริงหรือ (ไม่ใช่จะดูเบาในความสามารถทางศิลปะของศิลปินไทย แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เขียน ยิ้มศิริ คงจะดังกว่านี้อีกสักล้านเท่า) จึงได้ทำเรื่องขอเข้าไปดูข้อมูลของงานประกวดนี้ที่ The Hyman Kreitman Reading Rooms ที่พิพิธภัณฑ์เทท บริเทน (Tate Britain) อันเป็นห้องสมุดที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึง Tate Archive ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินและศิลปะในอังกฤษ ตลอดจนนิทรรศการต่างๆที่เคยจัดขึ้นที่เทท จากการไปสืบค้นซึ่งหากไม่นับการนัดหมายอันยาวนานแล้ว ที่เหลือก็
ไม่ได้ยากเย็นอะไรประสาการหาข้อมูลในประเทศเจริญๆ ที่ให้คุณค่ากับการเก็บบันทึก การอ่าน การเขียน และการเผยแพร่องค์ความรู้

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]