นวนิยายจากอดีตอาณานิคมโปรตุเกสด้วยความฉงน : จาก Mia Couto ถึง José Eduardo Agualusa

the-book-of-chameleons

SleepwalkingLand

ในยุคอาณานิคม โปรตุเกสเป็นประเทศล้าหลัง เศรษฐกิจยังดำเนินด้วยระบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) อุตสาหกรรมยังไม่พัฒนา ยังไม่มีการปกครองและใช้ทรัพยากรแบบระบบอาณานิคมที่ทันสมัยกว่าตามแนวทางของเจ้าอาณานิคมอื่นๆ แต่เจตจำนงในการเป็นเจ้าอาณานิคมไม่หายไปไหน ครั้นถึงเวลาปลดปล่อยอาณานิคมเป็นอิสระหลังสงครามโลกครั้งที่สองแบบที่เจ้าอาณานิคมอื่นๆทำ โปรตุเกสก็ไม่ได้ดำเนินรอยตาม ความวุ่นวายทางการเมืองจากเผด็จการมาถึงเสรีประชาธิปไตยส่งผลต่อการเมืองของประเทศอาณานิคมโปรตุเกสในแอฟริกา สงครามกลางเมืองในอาณานิคมโปรตุเกสคือสภาวะที่กลายเป็นเรื่องสามัญ โดยเฉพาะในแองโกลาและโมซัมบิกที่เส้นทางสงครามกลางเมืองนั้นยังเกี่ยวพันกับเส้นทางไปสู่สังคมนิยม แต่ฝ่ายต่อต้านสังคมนิยมก็ทรงพลังเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศแอฟริกาใต้

เมื่อประเทศเป็นเอกราชและผ่านสงครามกลางเมืองมา การสร้างอัตลักษณ์ภายใต้กรอบของรัฐประชาชาติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก วรรณกรรมเป็นวิถีทางแห่งการสถาปนาอัตลักษณ์ของรัฐประชาชาติที่สำคัญ แต่วัฒนธรรมแอฟริกันเป็นวัฒนธรรมของการใช้เสียงหรือคำพูดมากกว่าวัฒนธรรมตัวอักษร วัฒนธรรมวรรณกรรมจึงเป็นของใหม่ ภาษาที่ใช้จำนวนมากก็เป็นภาษาของเจ้าอาณานิคม เช่น ภาษาอังกฤษในงานของ Chimamanda Ngozi Adichie (1977-), ภาษาฝรั่งเศสของ Léopold Sédar Senghor (1906-2001), ภาษาโปรตุเกสของ Mia Couto (1955-) และ José Eduardo Agualusa (1960-) เป็นต้น มรดกที่สำคัญของอาณานิคมจึงเป็นภาษา ในขณะที่ทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษในโลกหลังยุคอาณานิคมคือภาษาอังกฤษ โปรตุเกสก็มีทรัพย์สินแบบนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ทรงพลังมากเท่าภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส

ผลงานของกลุ่มที่พูดภาษาโปรตุเกสและมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับโปรตุเกสไม่ใช่มีแค่ในอดีตประเทศอาณานิคม แต่ก็ยังมีเมืองที่อยู่ใต้การปกครองของโปรตุเกสเช่นเมืองกัวในอินเดีย เป็นต้น โลกของ “Lusophone” จึงมีนักเขียนมากมาย จากบราซิลสู่แองโกลาจนถึงโมซัมบิก จาก Jorge Amado จนถึง Gonçalo Tavares เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงนักเขียนที่ใช้ภาษาโปรตุเกสสองคนจากนวนิยาย Sleep Walking Land ของ Mia Couto และ The Book of Chameleons ของ José Eduardo Agualsa ทั้งคู่มาจากอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสคือโมซัมบิกและแองโลา