ผมได้วางโครงการเขียนบทความเรื่องทาสอเมริกัน (American Slavery) มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ระหว่างการตระเตรียมเอกสารข้อมลู ก็เกิดปัญหาสำคัญว่าแนวเรื่องหลักของบทความจะพูดและอภิปรายในประเด็นอะไรดี เนื่องจากประวัติศาสตร์ของทาสผิวดำและระบบทาสในสหรัฐอเมริกานั้น มีการค้นคว้าศึกษาและตีพิมพ์ทั้งหนังสือและบทความวารสารมาแล้วมากมายมหาศาล เรียกว่าเป็นหนึ่งในหัวข้อของงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์อเมริกาที่มีการศึกษาและตีพิมพ์มากสุด
แต่กระนั้นเมื่อกลับมาพิจารณาถึงสถานะของการศึกษาและวิชาการด้านประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในเมืองไทย ผมพบว่าสถานะทางวิชาการนั้น ต่ำและอยู่ติดดินก็ว่าได้ คือแทบไม่มีฐานะและความก้าวหน้าและพัฒนาการอะไรทั้งสิ้น แม้ยังมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์สหรัฐฯกันอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นวิชาเลือกที่นักศึกษาจากภาควิชาภาษาวรรณคดีมักถูกแนะนำจากอาจารย์ผู้สอนว่าให้มานั่งฟังประวัติศาสตร์สหรัฐฯ สำหรับไปใช้ในการเรียนด้านวรรณคดี จะหานักศึกษาประวัติศาสตร์ที่มุ่งมั่นมาเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาเป็นเอกนั้นน้อยมากๆ ยิ่งประเด็นเฉพาะที่ผมถนัดและได้ศึกษาค้นคว้าตอนที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบิงแฮมตันหรือชื่อเก่าคือ State University of New York at Binghamton (SUNY-Binghamton) อันได้แก่เรื่องทาสผิวดำและความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของปัญญาชนภาคใต้ก่อนสงครามกลางเมือง ยิ่งหาวิชาที่จะสอนและนักศึกษาที่จะมาเรียนได้ยากขึ้นไปอีก ชีวิตของการเป็นอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์สหรัฐฯในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยของผมจึงจืดชืดไร้สีสันและแทบไร้ความหมายใดๆทั้งสิ้น
ด้วยความที่ถนัดและชอบเขียนบทความ ผมจึงนั่งเขียนบทความเรื่องการเมืองสหรัฐอเมริกา โดยมีมิติประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เป็นประจำทุกสัปดาห์ติดต่อกันมาหลายปีจนผมจำไม่ได้ ความจริงเริ่มเขียนตั้งแต่เริ่มทำวิทยานิพนธ์ในสหรัฐฯ และเขียนต่อเมื่อกลับมาสอนในมหาวิทยาลัยไทย ได้รวมบทความเหล่านั้นเป็นเล่มต่อมาคือ ปอกเปลือกประชาธิปไตยในอเมริกา: ตำนานเรื่องคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน (สำนักพิมพ์ศยาม, 2535) หลังเหตุการณ์สะเทือนโลกกรณี 11 กันยา (9/11) ผมได้ตีพิมพ์ บาดแผลอเมริกา: สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา (สำนักพิมพ์มติชน, 2547) ล่าสุดเมื่อสหรัฐฯได้ประธานาธิบดีผิวดำเป็นคนแรก (และอาจเป็นคนสุดท้าย) คือบารัก โอบามา ผมจึงถือโอกาสเล่าประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองของคนผิวดำในหนังสือเรื่อง ความคิดทางการเมืองของคนอเมริกันผิวดำ: จากทาสสู่เสรีชน (สำนักพิมพ์แสงดาว, 2551)
ข่าวล่าสุดที่สะเทือนใจยิ่งคือ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา อาจารย์และที่ปรีกษาผู้ให้ความคิดประวัติศาสตร์ทาสแก่ผม คือศาสตราจารย์ยูยีน ดี. เยโนเวเซ (Eugene D. Genovese) ถึงแก่กรรมที่บ้านพักในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ผมจึงตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณและความเมตตาที่ท่านได้ห่วงใยและปลูกฝังในช่วงที่ผมไปเรียนในสหรัฐฯ จนทำให้ซึมซับและตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งขึ้น โดยขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ระบบทาสและวิธีการทางประวัติศาสตร์จากมิติมุมมองของอาจารย์เยโนเวเซ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประวัติศาสตร์เรื่องภาคใต้ที่ดีและโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ (และของโลก) เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผมกับยูยีนและภรรยาของท่าน ซึ่งต่อมาได้รับช่วงเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมและได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเมื่อปี 2549 มีความเป็นมาที่ยอกย้อนและมีความเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันด้วย จึงขอเล่าประวัติศาสตร์ในเชิงซ้อนระหว่างนักประวัติศาสตร์กับตัวเรื่องในประวัติศาสตร์ด้วยพร้อมกัน