ในห้องเรียนวิชา “สตรีภาคใต้” (Southern Women) ของอาจารย์เอลิซาเบ็ธ ฟอกซ์-เยโนเวสี ที่มหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน ในภาคฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ซึ่งพูดถึงเรื่องของผู้หญิงภาคใต้ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาภาคใต้ก่อนสงครามกลางเมือง ผมได้รู้จักนักเขียนสตรีผิวดำชื่อ โซรา นีล เฮอร์สตัน (Zora Neale Hurston) เป็นครั้งแรก ในขณะที่ตัวละครส่วนใหญ่ของวิชานี้ได้แก่บรรดาสตรีผิวขาวผู้เป็นภรรยาของนายทาส เนื่องจากเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการศึกษาส่วนใหญ่ก็มาจากข้อเขียนทั้งที่เป็นบันทึกไดอารี่ จดหมายและคำบรรยาย รวมถึงหนังสือเล่มที่เขียนโดยสตรีผิวขาวชาวใต้ ทั้งที่เป็นภรรยาหรือไม่ก็เป็นบุตรีของบรรดานายทาสผิวขาวทั้งหลาย ในสังคมภาคใต้ที่มีระบบทาสเป็นสถาบันอันสำคัญยิ่ง สำคัญถึงขนาดว่าการที่คนผิวขาวภาคเหนือมาพูดดูถูกหรือเหยียดหยามระบบทาสภาคใต้นั้นถือว่าเป็นการ “หมิ่นเดชานุภาพของความเป็นคนใต้” ผู้มีอารยธรรม (ในขณะที่สมัยนั้นภาคเหนือไม่เป็น) อย่างให้อภัยกันไม่ได้เลย นี่เองคือที่มาประการหนึ่งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้
แต่วิชานี้ก็ไม่ได้ตาบอดสีถึงขนาดไม่เห็นความสำคัญของสตรีสีอื่นๆ ในภาคใต้เสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสตรีทาสผิวดำ เพียงแต่ว่าข้อเขียนของพวกเธอเหล่านั้นมีน้อยและหายาก ทำให้มีการพูดถึงเรื่องราวของผู้หญิงผิวดำน้อยกว่าคนผิวขาว นอกจากโซรา นีล เฮอร์สตัน แล้วทาสผู้หญิงผิวดำที่มีการศึกษาที่ได้รับการพูดถึงกันมากในยุคนั้นได้แก่ แฮเรียต เจคอบส์ ผู้เขียนนวนิยายชีวิตทาสสตรีเรื่อง Incidents in the Life of a Slave Girl: Written by Herself
ในทศวรรษ 1970 วงการวิชาการและศิลปะวรรณกรรมอเมริกัน มีการรื้อฟื้นและขุดค้นอดีตและความเป็นมาของผู้คนและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะของผู้ถูกกดขี่หรือบรรดาคนชายขอบทั้งชายและหญิงกันอย่างเอาจริงเอาจัง เรื่องราวและชื่อเสียงเรียงนามของคนหลายคนที่นักวิชาการอเมริกันศึกษาไม่เคยได้ยินและรู้จักกันมาก่อน หรือไม่ก็รู้จักในนามแฝงหรือนามปากกา ก็ค่อยๆ ปรากฏออกมาอย่างไม่น่าเชื่อ ช่วงเวลาดังกล่าวคือยุคปฏิวัติของขบวนการนักศึกษา ขบวนการคนผิวดำและขบวนการสตรี ยังไม่นับการเคลื่อนไหวเล็กๆ และไม่เป็นที่รู้จักกันในระดับชาติอีกไม่น้อย เช่นของคนอินเดียนพื้นเมือง กรรมกร และอื่นๆ อีก บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์และกระทั่งประท้วงนโยบายและการปฏิบัติที่ต้านและทวนกระแสการเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางกระแสสูงของคลื่นลูกใหม่เหล่านี้เองที่ทั้งโซรา นีล เฮอร์สตัน และแฮเรียต เจคอบส์ สามารถก้าวออกมาให้พวกเราได้รู้จัก ในบรรดานักเขียนสตรีผิวดำผู้ถูกลืมไปแล้วนั้น คนที่นำไปสู่การศึกษาและต่อยอดมากที่สุดจนถึงปัจจุบันคือ โซรา นีล เฮอร์สตัน
บทความนี้จะเล่าเรื่องและงาน (ไม่ใช่วาทกรรม) ของโซรา นีล เฮอร์สตัน โดยมองจากแง่มุมของวรรณกรรมคนผิวดำและพัฒนาการในสังคมอเมริกันอย่างธรรมดาง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนให้ต้องตีความ ถ้าจะมีจุดร่วมในการเขียนถึงประวัติศาสตร์คนผิวดำ ก็คงได้แก่แรงบันดาลใจที่ได้มาจากอารมณ์ด้นสดๆ (spiritual improvisation) ของชีวิตคนดำทั้งหลายนั้นเอง