ทำไมศิลปินไทยจึงอยากเป็นพระกันนัก?
ผู้เขียนเกิดคำถามนี้ขึ้นมา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเชิงพุทธปรัชญาหรือเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการทำงานศิลปะ อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่การก่อตั้งภาควิชาศิลปไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา การทำงานศิลปะที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ (ในที่นี้ไม่ได้หมายรวมถึงงานพุทธศิลป์ในยุคก่อนสมัยใหม่) ก็กลายเป็นรูปแบบหลักอีกประการหนึ่งในการทำงานของศิลปินไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวบอกอะไรกับเรามากไปกว่าการแสวงหาอัตลักษณ์บนเส้นทางศิลปะของศิลปินไทยในปี พ.ศ. 2519 หรือไม่ ? แล้วเราจะอธิบายศิลปะที่อ้างอิงพุทธปรัชญาที่ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมากภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่ราชประสงค์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 อย่างไร ?
สุธี คุณาวิชยานนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ในขณะที่กระแสชาตินิยมจัดและประเด็นเรื่องความเป็นไทย โดยเฉพาะการปลุกระดมให้คนไทยปกป้องชาติ ศาสนา (พุทธ) และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักของชาตินิยมไทย ได้กลายเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายขวามาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 การถือกำเนิดภาควิชาศิลปไทยในปีเดียวกัน โดยมีความมุ่งหวังที่จะผลิตศิลปินที่มีสำนึก “ไทย” และสามารถแสดงออกได้ผ่านงานทัศนศิลป์นั้น เป็นสิ่งที่มีนัยยะสำคัญ และน่าจะมีความเชื่อมโยงกับกระแสชาตินิยมจัดในยุคนั้นไม่มากก็น้อย
ในขณะที่ “ความเป็นไทย” ใน พ.ศ. 2519 คือเครื่องมือที่รัฐบาลฝ่ายขวาใช้ในการต่อต้านขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นญวน ไม่ใช่คนไทย อีก 30 ปีต่อมา ในบริบทของการเมืองร่วมสมัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหารล้มรัฐบาลเลือกตั้งของทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2549 “ความเป็นไทย” ก็ถูกนำกลับมาเป็นประเด็นเชื่อมโยงอีกครั้ง วาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรักชาติจำนวนมากถูกผลิตและเผยแพร่ออกสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ผ่านนักเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนนักวิชาการ ในขณะที่ “ความเป็นไทย” (ซึ่งในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหานิยามที่เป็นที่ยุติได้) ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการเมือง สิ่งที่น่าสังเกตคือ ความเป็นไทยดังกล่าวมักถูกแทนค่าด้วยพุทธศาสนา ความเป็นพุทธได้รับการขยายความและให้ความสำคัญอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความสัมพันธ์กับการเมืองการปกครอง การผุดขึ้นมาของวาทกรรมประเภท “ผู้ปกครองต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความคิดว่าด้วยการปกครองแบบไทยๆ ที่มีพุทธศาสนาเป็นฐานอำนาจในการปกครองมาแต่ไหนแต่ไร ในสภาพการณ์และเงื่อนไขทางสังคมเช่นนี้ ประชาธิปไตยก็ถูกทำให้กลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ “แปลกแยก” เป็น “ของต่างชาติ” ไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองของ “ไทย” และไม่สามารถเข้ากับสังคม “ไทย” ได้
พุทธศาสนาซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งในสามประการของชาตินิยมไทยแบบทางการ ถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในการเมืองปัจจุบัน และคงไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่ากระแสศีลธรรมจัด ชอบเทศนาสั่งสอน (จนประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐศาสนาอยู่รอมร่อ) นั้น แพร่กระจายไปทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ในปริมณฑลของศิลปะ ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าศิลปะจะเป็นเครื่องมือชั้นดีในการ visualize พุทธศาสนาให้ออกมาเป็นภาพที่รับรู้เข้าใจได้ง่าย อาการคลั่งไคล้ความเป็นไทย (เพราะกลัวความเป็นไทยเสื่อม) ดังกล่าวดูละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากกับการเกิดขึ้นของกระแสศิลปะไทยผ่านการก่อตั้งภาควิชาศิลปไทยในปี พ.ศ. 2519 ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม การเกิดขึ้นของกระแสพุทธในศิลปะไทยร่วมสมัยก็เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญมากกว่าการเป็นกระแสหนึ่งของการทำงานศิลปะ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในบริบทของสังคมการเมืองในระดับกว้าง และเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกแบบชาตินิยม-อนุรักษนิยม-อำนาจนิยม ที่ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองสองแบบ (เผด็จการอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย) ได้เร้าให้เกิดขึ้น