อุตรกุรุทวีป : สังคมอุดมคติเชิงนิเวศแบบพุทธ

แลมหานทีกุนนที แม่น้ำน้อยใหญ่ในอุตตรกุรุทวีปนั้น ล้วนมีน้ำอันใสบริสุทธิ์สะอ้านสะอาด ปราศจาก
เปือกแลตม…มีท่าอันระรื่นน่าชื่นน่าชม น่าอาบน่ากิน…หาดทรายตามลำเนาแนวกระแสสินธุ์สองฟากฝั่งนทีธารทั้งปวงนั้นไม่ร้อนนัก ไม่เย็นนัก มีสัมผัสเป็นสุข ดาษไปด้วยดอกไม้น้ำทั้งหลายหอมฟุ้งขจรตลบจับใจ กระแสน้ำที่หลั่งไหลไปตามลำน้ำทั้งปวงนั้น ฟุ้งไปด้วยกลิ่นบุปผาชาติ ต้นไม้แลเครือลดาที่ดาดาษด้วยหนามนั้น จะได้มีในอุตตรกุรุทวีปนั้นหาบ่มิได้ (ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา, หน้า 513)

“อุตรกุรุทวีป” เป็นสถานที่ที่ได้รับการกล่าวถึงใน ไตรภูมิกถา ในฐานะหนึ่งในสี่ของทวีปในจักรวาลวิทยาแบบพุทธ อันประกอบด้วย ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป บุรพวิเทหทวีป และอุตรกุรุทวีป อุตรกุรุทวีปได้รับการกล่าวถึงในฐานะพื้นที่พิเศษที่เป็นพื้นที่ในอุดมคติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอยู่จริง แต่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่จริงในสังคม นักวิชาการหลายท่านมอง “อุตรกุรุทวีป” ว่าเป็นสังคมในอุดมคติ หรือสังคมแบบยูโทเปีย (utopia) อันเป็นคำที่แต่เดิมใช้เพื่ออธิบายความหวังและความใฝ่ฝันอันสูงสุดของมนุษย์ ซึ่งดูเหมือนเป็นความเพ้อฝันต่อดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง ยูโทเปียเป็นแนวคิดทางปรัชญาการเมืองที่มีมาแต่สมัยของเพลโต กล่าวถึงรูปแบบของสังคมใหม่ที่ปราศจากความบกพร่องและการเอารัดเอาเปรียบ มีความหมายตามตัวอักษรว่า สถานที่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (nowhere land) สังคมที่สมบูรณ์แบบในสถานที่อื่น (a perfect society in ‘another space’) เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าสาระ ที่ซึ่งความเศร้า ความเจ็บปวดและความรุนแรงเป็นสิ่งต้องห้าม
*
ผู้เขียนยอมรับข้อเสนอที่พิจารณาอุตรกุรุทวีปว่าเป็น “พื้นที่/สังคมในอุดมคติ” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการ
“ต่อยอด” ประเด็นศึกษาเกี่ยวกับ “อุตรกุรุทวีป” ในวรรณคดีไตรภูมิ ตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาบางเล่ม เช่น คัมภีร์โลกบัญญัติ อันเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยโลกและจักรวาลตามคติพุทธ ให้กว้างไกลออกไปว่า “อุตรกุรุทวีป” ไม่เพียงเป็นพื้นที่ในอุดมคติ หรือ “ยูโทเปีย” เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาโดยฐานคิดของทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์เชิงนิเวศ (ecocriticism) ซึ่งให้ความสนใจแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวรรณคดี ผนวกกับแนวคิดเรื่องสังคมอุดมคติเชิงนิเวศ (ecotopia) แล้ว กล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องอุตรกุรุทวีปในวรรณคดีไตรภูมินั้น มีความเป็น “สังคมอุดมคติเชิงนิเวศ” หรือ ecotopia อย่างน่าสนใจยิ่ง
****