The Band’s Visit: ความเป็นชายอาหรับ/อียิปต์กับหญิงยิว

พวกอาหรับและยิวเป็นศัตรูกันมายาวนานในความรับรู้ของผู้คนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่ในอดีตทั้งสองฝ่ายก็พอจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบ  ภาพลักษณ์สงครามระหว่างยิวและอาหรับในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ตอกย้ำแต่การเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของสงครามหกวันที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้นำทางการทหาร Moshe Dayan โด่งดังขึ้นมาในปี ค.ศ. 1967  แม้ว่าจริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่โดดเด่นมากนักในสงคราม

แต่ความสามารถในการใช้สื่อและโฆษณาตนเองก็เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนหลงใหลคลั่งไคล้ในตัวเขาได้  เอาเข้าจริงแล้วสงครามจึงไม่ได้สร้างวีรบุรุษ สื่อต่างหากที่สร้างวีรบุรุษ จากนั้นประวัติศาสตร์ก็ยืนยันตามสื่อ  อย่างไรก็ดีเขาเองก็เกือบจะหมดรูปในช่วงต้นๆ ของสงคราม Yum Kippur ในปี ค.ศ. 1973 แต่ก็ยังโชคดีที่ในระยะต่อมาฝ่ายอิสราเอลสามารถตอบโต้ฝ่ายอาหรับได้

จะว่าไปแล้วก็มีผู้นำทางทหารหลายคนที่เป็นแบบนี้ ด้วยความหลงใหลในตนเองว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้อะไรต่ออะไรในการเมืองและการทหารก็ต้องตอบสนองให้กับ “ความใหญ่ที่คิดว่าตนเองเหนือมนุษย์ของตน”  ว่ากันว่าหนึ่งในนั้นก็คือ นายพลดักลาส แมคอาเธอร์  สำหรับประเทศไทยจะเป็นใครนั้นก็ต้องคอยให้นักประวัติศาสตร์มาแสดงความกล้าหาญเล่าให้ฟังต่อไปในอนาคต

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิวยังไม่จบสิ้น แต่สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอียิปต์และอิสราเอลในปี ค.ศ. 1979 ก็ทำให้สายสัมพันธ์ของสองประเทศอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็น “มิตร” กันได้ตามหลักการมิตรในทางการเมือง โดยต่างฝ่ายต่างมีตัวกลางหัวเรือใหญ่ผู้เป็นใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง

สายสัมพันธ์ของสองประเทศเป็นอย่างไร ? ผู้คนเดินทางข้ามแดนไปมา แต่ข้ามแดนมาแล้วเป็นอย่างไร ?  ภาพยนตร์เรื่อง The Band’s Visit เป็นภาพยนตร์สะท้อนอารมณ์ที่ตึงๆ แต่ก็ไม่เครียดของสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  อารมณ์ที่ดูคล้ายว่าจะไปด้วยกันได้ แต่ก็ไปด้วยกันไม่ได้  มีการเสียดสีเล็กๆ น้อยๆ พร้อมกันกับความชื่นชม แต่ก็ประชดประชันสายสัมพันธ์ของทั้งสองวัฒนธรรมไปพร้อมกัน  ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับชาวอิสราเอล Eran Kolirin ที่รักษาแนวทางตลกแบบยิวได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถเสียดสีพวกเดียวกันได้