“ถ้าหากประชาชนทั่วไปเห็นพ้องกับนโยบายของพรรคเรา และสนับสนุนให้พรรคเราได้ ขึ้นบริหารงานของประเทศชาติแล้ว เรา-ชาวคอมมิวนิสต์-เชื่อมั่นอยู่เสมอว่า เราสามารถที่จะแก้ไขความยุ่งยากลำบากของประเทศชาติและประชาชนให้ลุล่วงไปได้”
บทสัมภาษณ์โฆษกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เรื่อง “ทำไมเรายังเดือดร้อนอยู่” ใน มหาชน, 16 มีนาคม 2490, หน้า 6.
เมื่อปี 2556 ผู้เขียนได้เสนอบทความเรื่อง “มหาชน หนังสือพิมพ์ของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ กับการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2485-2493” ในวารสาร อ่าน ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม เล่าถึงกำเนิด ความเป็นมา และชะตากรรมของหนังสือพิมพ์ มหาชน ภายใต้ความผกผันทางการเมืองระหว่าง พ.ศ. 2485-2493 แต่นั่นก็เป็นเพียงการเล่าในลักษณะให้ “ภาพรวม” ด้านต่างๆของ มหาชน เท่านั้น ยังไม่ได้เจาะจงลงไปว่า หนังสือพิมพ์ มหาชน ของ พคท. ที่หลงเหลืออยู่ 70 กว่าฉบับ คือฉบับเดือนมกราคม 2490 ถึงฉบับเดือนธันวาคม 2491 นั้น มีจุดยืนทางการเมืองและเนื้อหาความคิดอย่างไรภายใต้ความผกผันและความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงต้นปี 2490 จนถึงปลายปี 2491 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงนับตั้งแต่การขึ้นมาบริหารประเทศของรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, การรัฐประหาร
8 พฤศจิกายน 2490, การขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงสั้นๆ ของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ไปจนถึงการหวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เท่าที่ผ่านมาได้มีผู้กล่าวถึงบทบาทและความคิดทางการเมืองของ มหาชน ในช่วงเวลานี้ไว้บ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “The Communist Movement in Thailand.” (1993), เกษียร เตชะพีระ ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958” (2001) และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในหนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขาเรื่อง แผนชิงชาติไทย (2550) แต่งานเขียนทั้งหมดนี้กล่าวถึงมหาชน แบบสั้นๆ กระชับ รวบรัด มุ่งนำเสนอเฉพาะประเด็นสำคัญๆ และให้รายละเอียดค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับจุดยืนและความคิดทางการเมืองที่ พคท. มีต่อความขัดแย้งในทางการเมืองในช่วงระหว่างปี 2490-2491 กรณีสมศักดิ์กล่าวถึงบทบาทโดยรวมของ พคท. (ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะบทบาทของ มหาชน) ในช่วงที่ปรีดี “เป็นใหญ่ทางการเมือง”, กรณีสุธาชัยพูดถึงบทบาทของ มหาชน โดยเฉพาะเจาะจงก็จริง แต่ในลักษณะเสนอภาพรวมแบบคร่าวๆ ขณะที่เกษียรกล่าวถึงจุดยืนและความคิดทางการเมืองของ มหาชน ที่มีต่อการเมืองช่วงปี 2490-2491 มากกว่าใคร แต่ก็เขียนอย่างกระชับ รวบรัด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจุดยืนและเนื้อหาความคิดทางการเมืองของ พคท. ที่มีต่อการเมืองไทยในช่วงระหว่างปี 2490-2491 ไว้ไม่มากนัก
บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและความผกผันทางการเมืองในช่วงสั้นๆระหว่างต้นปี 2490 จนถึงปลายปี 2491 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อันลือลั่น และเป็นช่วงที่ “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” ยังไม่ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงทว่ายังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่มากนั้น นอกเหนือไปจากกลุ่มการเมืองที่สำคัญอย่าง “กลุ่มปรีดี”, “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มจอมพล ป.” แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) คืออีกหนึ่งกลุ่มที่แสดงบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญด้วย แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ขณะที่หลายคนอาจทราบดีว่า พคท. ถือลัทธิมาร์กซ์เป็นทฤษฎีการเมืองของพรรค และถือการปฏิวัติโค่นล้มจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง เป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เมื่ออ่านเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ มหาชน ทีละฉบับโดยละเอียดจะพบว่า สำหรับการเมืองภายในแล้ว จุดยืนทางการเมืองของ พคท. คือ สนับสนุน
กลุ่มปรีดี ต่อต้านกลุ่มรอยัลลิสต์ และกลุ่มจอมพล ป. หรือกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ พคท. สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ต่อต้านระบอบเผด็จการ และต่อต้านฝ่ายกษัตริย์นิยม และท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างต้นปี 2490 ถึงปลายปี 2491 พคท. ได้เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรวม ทั้งประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าพรรคพร้อมเสมอที่จะ “ขึ้นบริหารงานของประเทศชาติ” และชูคำขวัญ “ทำลายเผด็จการ พิทักษ์ประชาธิปไตย” ต่อต้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม