บทความนี้เป็นฉบับย่อของบทความชื่อเดียวกันที่รวมอยู่ในหนังสือรวมบทความเนื่องในวาระครบ 60 ปี
อ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์ภายหลังในปีนี้ ขอขอบคุณอาจารย์ธนาพล ลิ่มอภิชาต ผู้เป็นบรรณาธิการ ที่กรุณาอนุญาตให้ อ่าน นำมาตีพิมพ์เป็นฉบับย่อ ซึ่งตัดตัวอย่างและประเด็นไปพอสมควร
แต่ยังเก็บสาระสำคัญและรักษาสีสันของบทความไว้ ผู้ที่สนใจกรุณาติดตามได้จากหนังสือเล่มดังกล่าว
นักประวัติศาสตร์รู้จักกิตติศัพท์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ เขาทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ ผลิตความรู้ (หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าวงวิชาการ) ในสองเรื่องใหญ่ๆ จนถูกหาว่าเป็นคนบ้า ฟั่นเฟือน ส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าเป็นการสั่งสอนเบาะๆ เสีย 7 วัน
*
ความผิดสองเรื่องใหญ่ของกุหลาบ ได้แก่
*
ประการแรก เขาถูกตัดสินว่าเขียนเรื่องประวัติศาสตร์อย่างจงใจผลิตเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมา ความผิดข้อนี้
กลายเป็นตราบาปต่อเกียรติประวัติของเขาต่อมาอีกแสนนาน เพราะทำให้เกิดคำว่า “กุ” (ซึ่งมาจากชื่อของเขา) ใน
ความหมายไม่ดีดังที่เราท่านใช้กันอยู่ทุกวันนี้
*
อีกประการหนึ่งคือ การลักลอบเอาหนังสือหอหลวงออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต แถมยัง “ลอก” โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วยเพื่อมาตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือและวารสารของตน
*
นอกจากนี้กุหลาบยังชอบคุยโวว่าตนมีหนังสือเก่าๆ วิเศษมากมายในครอบครอง แถมรอบรู้เรื่องราวเก่าๆ ธรรมเนียมโบราณ จนปัญญาชนชั้นสูงของสยามในเวลานั้นหลายคนเคารพนับถือเขาบางคนหมั่นไส้ดูแคลนเขา
*
ผู้เขียนสงสัยคาใจมานานหลายปีแล้วว่า เขากุ ลอบ ลอก จริงหรือ กุอย่างไร ลอบอย่างไร ลอกอย่างไร จึงกลายเป็นความผิด ในขณะที่อีกตั้งหลายคนแต่ง ลอบ ลอก แต่กลับไม่ถือเป็นความผิด แถมบางทีได้ดิบได้ดีด้วยซ้ำ
*
การกระทำความผิดใหญ่น้อยทั้งหลายไม่ว่าเรื่องอะไร ย่อมมีองค์ประกอบสำคัญง่ายๆ ได้แก่
*
1) การกระทำ 2) กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ หรือระบบคุณค่าบางอย่างที่นำมาใช้ตัดสินการกระทำดังกล่าว แต่เราเคยฉุกใจคิดหรือไม่ว่า กฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือระบบคุณค่าที่ใช้ตัดสินนั้นเปลี่ยนแปลงได้ และอาจเปลี่ยนในช่วงขณะที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ผลิตผลงาน แถมระบบคุณค่าดังกล่าวยังปรับใช้ (และไม่ใช้) แบบไทยๆ คือ ใช้และไม่ใช้ตามสถานะของผู้กระทำอีกด้วย นี่เป็นคำถามคาใจหลักๆ
*
ขออนุญาตขยายความคำถามคาใจต่ออีกสักหน่อย
*
ความแตกต่างระหว่างการ “กุ” กับ “แต่ง” อยู่ตรงไหน จารีตการประพันธ์ของไทยยกย่องการรจนามาแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่แค่โคลงฉันท์กาพย์กลอน แต่รวมถึงพระราชพงศาวดาร นิทาน ตำนานต่างๆ ผู้รจนาได้รับการยกย่องสรรเสริญกันมากมาย กุหลาบแต่งอย่างไร จึงกลายเป็นความผิดที่พึงถูกลงโทษ อะไรเป็นเส้นแบ่งระหว่างการแต่งแล้วผิด (“กุ”) กับแต่งแล้วได้รางวัล
*
ถ้าหากคำว่า “กุ” ซึ่งมีความหมายเชิงลบ มีที่มาจากชื่อ “กุหลาบ” อย่างที่เข้าใจกัน ถ้าเช่นนั้น ก่อนหน้านั้นเรียกพฤติกรรมแบบเดียวกันว่าอะไร หรือว่าไม่เคยมีใครกุหรือปั้นแต่งเรื่องเลยในวัฒนธรรมชาวสยาม (คำขวัญว่า “ไทยเป็นชาติพูดความจริง” คงน่าปลื้มพิลึก) คำที่ใช้เรียกพฤติกรรมเดียวกันแต่เป็นภาษาไทยยุค “ก่อน-กุ” (pre-กุ)
มีความหมายลบหรือไม่ มีใครเคยถูกกล่าวหาและลงโทษเพราะกระทำอย่างเดียวกับที่เรียกต่อมาภายหลังว่า “กุ”
หรือไม่
*
สมมติว่ากุหลาบเป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า ที่ปั้นแต่งเรื่องเกี่ยวกับอดีตหรือจงใจปลอมเอกสารประวัติศาสตร์ขึ้นมาแล้วถูกจับได้ เราจะใช้ชื่อของพระองค์ท่านเป็นคำกริยาในทางลบสำหรับพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ เช่น เราจะเรียกพฤติกรรมปั้นแต่งดังกล่าวว่า “ราม” หรือ “มง” หรือ “ดำ” หรือไม่ เราจะมีวิธีอธิบายให้การปลอมเอกสารประวัติศาสตร์กลายเป็นวีรกรรมกู้ชาติ (อย่างที่พิริยะ ไกรฤกษ์ จำต้องอธิบาย) หรือไม่
*
ถ้าหากการลอกเป็นความผิด กุหลาบลอกต่างจากอาลักษณ์หลายร้อยคนในอดีตก่อนหน้าเขาอย่างไรจึงกลายเป็นความผิด ในขณะที่อาลักษณ์เหล่านั้นได้ทั้งบุญและบำเหน็จความดีความชอบ หรือเพราะกุหลาบเกิดผิดยุค
การกระทำอย่างเดียวกันแต่ผิดยุคสมัยจึงเปลี่ยนจากคุณกลายเป็นโทษ ถ้าเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นกับยุคสมัยเล่า จึงได้ทำให้การลอกกลายเป็นบาป อาชญากรรม และถูกลงโทษ
*
ก.ศ.ร. กุหลาบ แอบทำจริงหรือ หรือเพราะเราท่านและนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังเชื่อตามคำบอกเล่าของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยมากเกินไป ท่านว่ากุหลาบแอบลักลอบ เราก็ว่าตามนั้น
*
หรือ… หรือ… หรือ… มีเหตุปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ทำให้ชายชราขี้โม้ถูกลงโทษข้อหา กุ ลอบ ลอกเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
*
เราจะเห็นต่อไปว่า กุหลาบเป็นคนที่ “ขวางพระเนตรพระกรรณ” ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และเจ้านาย
บางพระองค์มาหลายปีก่อนที่เขาจะถูกลงโทษ ทั้งๆ ที่กุหลาบไม่ได้รู้จักหรือเคยสนทนาวิสาสะกับพระเจ้าอยู่หัวหรือเจ้านายเหล่านั้นแต่อย่างใด แถมเขายังแสดงออกบ่อยครั้งเหลือเกินว่าเขาจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวมากมายเพียงใด แต่พฤติกรรมขวางพระเนตรพระกรรณจนสุดที่พระองค์จะทรงรักษาตบะทมะไว้ได้ คือ การที่เขาบังอาจวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว
*
การวิจารณ์อย่างไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงทุกประเภทเป็นทุกขลาภอย่างยิ่งในสังคมไทย ทุกขลาภสุดๆ คือการวิจารณ์เจ้า
ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์จึงเต็มไปด้วยขวากหนาม ตั้งแต่อย่างเบาะๆ จนถึงมาตรา 112 หรือถึงชีวิต
ถ้าเช่นนั้น การวิจารณ์คืออะไรในสังคมไทย วิจารณ์อย่างไรจึงจะไม่ถูกหาว่าบ้าฟั่นเฟือน ในเมื่อการวิจารณ์มีอันตรายขนาดนั้น เมื่อไรเราควรหลบหลีก เมื่อไรควรประจัญบานกับอันตรายที่มากับการวิจารณ์ วัฒนธรรมการวิจารณ์แบบนี้นี่เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จนคุณภาพตกต่ำน่าวิตก ใช่หรือไม่
*
ไม่น่าเชื่อว่ากรณี ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่เราท่านอาจจะไม่สนใจอีกแล้ว กลับมีประเด็นให้ขบคิดมากมายขนาดนี้ แถมยังเป็นประเด็นทันสมัยอีกด้วย เพราะเราจะเห็นกันต่อไปว่า ความผิดของกุหลาบและเกณฑ์ตัดสินความถูกผิดของการ
กุ ลอบ ลอก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญมากอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วัฒนธรรมทางปัญญาหรือวงวิชาการแบบอำมาตย์ (“อำมาตยาวิชาการ”)
*
กุหลาบเป็นไพร่ จึงผิดแหงๆ เพราะการกุ ลอบ ลอก ก็มีสองมาตรฐาน เหมือนอีกหลายเรื่องในสังคมชนชั้นแบบไทยๆ
****