วันที่ 5 เมษายน 2494 (1951) เอเธล โรเซนเบิร์ก (Ethel Rosenberg) ถูกตัดสินประหารชีวิตในความผิดฐานสมคบคิดจารกรรมและขายข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาให้แก่สหภาพโซเวียต วันที่ 28 สิงหาคม 2552 (2009) ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกตัดสินจำคุก 18 ปีโทษฐานที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เอเธล โรเซนเบิร์ก ปฏิเสธว่าเธอมิได้ก่ออาชญากรรมตามที่ถูกกล่าวหา และเอกสารที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยในภายหลังก็ชี้ว่ากระทั่งในระดับสูงสุดของหน่วยข่าวกรองก็รู้ว่าเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับจารกรรมนั้น ขณะที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ยอมรับว่าเป็นผู้กล่าวถ้อยคำตามที่ถูกกล่าวหา แต่ปฏิเสธว่าการกระทำนั้นมิใช่ความผิดในการหมิ่นสถาบันกษัตริย์
ชีวิตของหญิงทั้งสอง คดีความที่ฟ้องร้องต่อทั้งคู่ และโทษทัณฑ์ที่มาสู่พวกเธอ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีของเอเธล หรือที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะในกรณีของดารณี ทั้งหมดนี้แยกห่างกันคนละมหาสมุทร คนละห้วงเวลากว่าหกสิบปี และคนละระบบกฎหมาย แต่ผู้เขียนอยากจะเสนอว่า แม้จะมีความต่างเหล่านี้ แต่ทั้งสองกรณีนี้ล้วนเป็นอาการบ่งชี้ว่ารัฐใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการปราบปรามอย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งบ่งชี้ถึงเงื้อมเงาทะมึนของวิกฤตชาติ