ตุลาการแห่งระบอบความจริง

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (2556) ของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งเพิ่งถูกยกเลิกการห้ามฉายเมื่อไม่นานมานี้ มีเนื้อหาจำนวนหนึ่งที่เป็นภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การแสดงความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง และการเสนอภาพความขัดแย้ง ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นว่าควรคัดค้านเนื่องจากไม่ใช่ความจริงที่ถูกต้อง เนื้อหาเหล่านี้มีทั้งที่เป็นเรื่องการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.​ 2553 และการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐ, ประเด็นการรู้เห็นเป็นใจของชาวกรุงเทพฯ ในการล้อมปราบผู้ชุมนุม, ทัศนคติดูหมิ่นถิ่นแคลนที่ชาวกรุงแสดงออกต่อคนชนบท และกรณีพิพาทที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้มีจุดร่วมกันตรงที่ล้วนไม่สามารถพิสูจน์ “ความจริง” ของเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างเป็นที่ยุติ การไม่สามารถพิสูจน์ได้นี้มิใช่เพราะขาดหลักฐานที่จะยืนยันข้อกล่าวอ้าง แต่เป็นเพราะตัวกระบวนการหาหลักฐานเพื่อยืนยันความจริงของข้อกล่าวอ้าง
เหล่านี้นี่เองต่างหากที่จะไปสร้างความระคายเคืองให้แก่สิ่งที่ อาดาดล อิงคะวณิช เรียกว่า “มโนทัศน์ว่าด้วย
ความจริงโดยฉันทามติ” (conception of consensual truth) ซึ่งเป็นรากฐานของการปกครองของไทยในแบบที่อาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวกลางตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 การรักษาภาพภายนอกของฉันทามติและความยินยอมพร้อมใจจากผู้ใต้ปกครอง ได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆสำหรับสถาบันตุลาการและสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องในกลไกรัฐไทย กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้มโนทัศน์ว่าด้วยความจริงมีอยู่ชุดเดียวและคงที่ตายตัวนั้น เห็นได้ชัดแจ้งในรูปของการตัดสินคดีอาญามาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เมื่ออ่านปรากฏการณ์นี้ผ่านการเร่งสถาปนาระบอบของความจริงที่ตายตัว เราจะพบว่าความกังวลที่คณะอนุกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แสดงให้เห็นนั้นมีความหมายอีกชั้น และชี้ให้เห็นถึงยุทธศาสตร์และการต่อกรที่เป็นไปได้ในการที่จะทำให้ความจริงนั้นมีความหลากหลายและไม่ยินยอมพร้อมใจ

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]