อานุภาพแห่งรัก / อาญาแห่งรัก

“…แต่มนุษย์จะบูชาเฉพาะแต่สิ่งที่ไม่มีอะไรให้โต้แย้งอีกแล้ว พวกเขาจึงจะตกลงยอมรับนับถือร่วมกัน… เพื่อเกียรติศักดิ์แห่งการนับถือร่วมกัน บางทีพวกเขาก็จับดาบเข้าฟาดฟันกันเอง พวกเขาสร้างพระเจ้าขึ้นมา แล้วร้องใส่กันว่า ‘เลิกนับถือพระเจ้าแกเสียเถิด หันมานอบน้อมต่อพระเจ้าของเรา ไม่อย่างนั้นทั้งแกและพระเจ้าของแกจะต้องตาย!’ มันจะเป็นอย่างนี้ไปจนวันสิ้นโลก แม้เมื่อพระเจ้าทั้งหลายสลายไปจนหมดโลกแล้ว พวกเขาก็จะยังคุกเข่าสยบอยู่ต่อหน้ารูปเคารพเหมือนเดิม…” – พี่น้องคารามาซอฟ, ภาคสอง บทที่ ๕ ตอนที่ ๕

ในฉากอันลือลั่นที่ว่าด้วยเรื่อง “ตุลาการศาลศาสนา” จากเรื่อง พี่น้องคารามาซอฟ อีวาน ฟีโอโดโรวิช ได้เล่าเรื่องในจินตนาการของตนให้ อเล็กเซ ฟีโอโดโรวิช หรืออโลชา น้องชายผู้เป็นนวกะหนุ่มฟัง อีวานผู้เป็นพี่ชายนี้มีความเก่งกล้าในสรรพศาสตร์(แบบสมัยใหม่ ในหลายแขนง) และเป็นคนที่ออกจะหยันโลก(ในสายตาของผู้มีจิตศรัทธา) ในฉากที่ว่านี้อีวานได้แสดงทัศนะวิพากษ์การฉ้อฉลในอำนาจและอาศัยหาประโยชน์จากความเชื่อความศรัทธาในศาสนา(คริสต์)อย่างตรงไปตรงมาให้น้องชายผู้มีจิตใจดีงามและเปี่ยมศรัทธาฟัง เป้าการโจมตีในนิทานเสียดสีเรื่องนี้ของอีวานคือบรรดาผู้นำทางศาสนาที่สถาปนาอำนาจบาตรใหญ่ผ่านตำแหน่งตุลาการศาลศาสนา ซึ่งตามท้องเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่ศาลศาสนาทรงอำนาจล้นฟ้า เมื่อเยซูได้กลับมาปรากฏตนอีกครั้งบนโลกมนุษย์และแสดงนานาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ท่ามกลางฝูงชนคนยากไร้ กระทั่งตุลาการศาลศาสนาชราผ่านมาเห็นจนเกิดความพรั่นพรึงและสั่งให้องครักษ์ของตนจับตัวเยซูไปกักขังเพื่อเตรียมลงฑัณฑ์ และนี่คือทัศนะของตุลาการศาลศาสนาต่อเยซู ในห้วงยามที่ “คนชั่วแยกศาสนาถูกเผา ร้อนเร่ากลางมหาเพลิงเริงแรง” เพราะศาสนจักรเชื่อว่า “ไฟลุกท่วมหลักประหารมนุษย์ทั่วแผ่นดิน” ที่ตนก่อให้เกิดขึ้นนี้ เป็นไป “เพื่อความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” :

…ภายในอาคารเก่าแก่ของศาลศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ถูกขังอยู่ในนั้น กลางวันผ่านไป ณ ค่ำคืนในเมืองเซวิลล์ที่อบอ้าวและมืดมิด ขณะบรรยากาศกรุ่นด้วยกลิ่นดอกลอเรลและดอกส้ม ประตูเหล็กของห้องขังถูกเปิดออก ตุลาการศาลศาสนาผู้ชราถือตะเกียง เดินเข้ามาอย่างช้าๆ… เอ่ยปากถาม “เจ้าใช่มั้ย เจ้าเองรึ” เมื่อไม่มีคำตอบท่านจึงพูดต่อ “ไม่ต้องตอบก็ได้ เฉยๆไว้ เจ้ายังมีอะไรจะพูดอีกเล่า ข้ารู้ดีว่าเจ้าจะพูดอะไรบ้าง อีกอย่างเจ้าก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดอะไรให้มันมากมายไปกว่าที่ได้พูดมาแล้ว มาขวางข้าทำไม เจ้ารู้ตัวดีนี่ว่ามาที่นี่เพื่อจะมาขัดขวางเรา แต่รู้มั้ยเล่าว่าพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้น ข้าไม่รู้หรอกว่าเจ้าเป็นใคร ไม่ต้องการจะรู้ด้วย ไม่ว่าเจ้าจะเป็นพระองค์ หรือแค่มีอะไรเหมือนๆ พระองค์ก็ตาม พรุ่งนี้เราจะตัดสินโทษ ให้เผาเจ้าที่หลักประหาร ฐานเป็นคนแยกศาสนาต่ำช้าที่สุด พรุ่งนี้ ทันทีที่ข้ายกมือให้สัญญาณ ไอ้คนทั้งหลายที่จูบตีนเจ้าวันนี้ก็จะรุมกันเอาถ่านหินไปวางไว้ที่หลักประหารเจ้า…” – พี่น้องคารามาซอฟ, ภาคสอง บทที่ ๕ ตอนที่ ๕

เรื่องที่อีวานเล่า ก่อความกระอักกระอ่วนใจให้แก่อโลชาไม่น้อย (เพราะอโลชาแก้ต่างว่าศาลศาสนาเป็น “กิจโสโครกต่ำช้า” เฉพาะของพวกสันตะปาปาโรมันคาทอลิก แต่กรีกออโธดอกซ์ไม่เป็นอย่างนั้น!) และหลังจากโต้เถียงกันไปพักหนึ่งถึงเรื่องความฉ้อฉลอันอาศัยความศรัทธาในพระเจ้าเป็นเครื่องมือ อโลชาก็หลุดปากอุทานใส่พี่ชายว่า “พี่ไม่เชื่อพระเจ้า.”

ศาลศาสนายุคกลางเป็นหน่วยองค์กรของศาสนจักร โรมันคาทอลิก ที่เริ่มตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อราวศตวรรษที่ 12 เพื่อทำการพิจารณาคดีและลงโทษ(–กระบวนการยุติธรรม!) พวกนอกรีต(heretics) อันเป็นศัตรูของศาสนา เป็นการเฉพาะ ศาลศาสนาลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายในยุโรปโดยเฉพาะในฝรั่งเศสและอิตาลี (หลังจากนั้น ในช่วงปลายยุคกลาง ยังมีอีกสามปรากฏการณ์คล้ายๆกัน คือศาลศาสนาสเปนที่เริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 13 และศาลศาสนาโปรตุเกสและโรมันที่เริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 16 ด้วย) พวกนอกรีตที่ศาลศาสนายุคกลางมุ่งปราบปรามก็คือขบวนการเคลื่อนไหวของนิกายใหม่ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนจักรคาทอลิก

ศาลศาสนามีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือและหวาดกลัวเนื่องจากความโหดร้ายของขั้นตอนการสอบสวนที่มีการทรมานเพื่อคาดคั้นให้ผู้ถูกต้องสงสัยว่าเป็นพวกนอกรีตยอมรับสารภาพ หนึ่งในวิธีการที่นิยมใช้กันคือ strappado ซึ่งคือการจับมือผู้ถูกสอบสวนไขว้หลัง ใช้เชือกมัดข้อมือ แล้วชักรอกขึ้นไปที่สูง จากนั้นจึงปล่อยลงมาอย่างรวดเร็ว และหากต้องการให้ผู้ต้องหาทรมานมากขึ้นก็จะถ่วงหินขนาดใหญ่ไว้ที่เท้าด้วย ส่วนในขั้นตอนการลงโทษ โทษที่หนักที่สุดคือการประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นและในบางกรณีการประหารชีวิตก็จะทำในที่สาธารณะด้วย ความผิดฐานเป็นคนนอกรีตในยุคนั้นยังถึงขั้นถูกนับเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรงที่สุดของผู้คนในยุคกลางอีกด้วย

นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาด้านนี้ให้ความเห็นว่าการดำเนินการของศาลศาสนาที่ขยายตัวออกไป ส่งผลให้เกิดความกลัวความสยดสยองแพร่กระจายไปทั่ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเส้นแบ่งระหว่างความเคร่งครัดกับความนอกลู่นอกรอยต่อหลักคำสอน ระหว่างศรัทธาและความนอกรีต ค่อนข้างจะจับต้องได้ยากและการจะตรวจจับว่าใครมีความเบี่ยงเบนออกจากศรัทธาไปบ้างก็ทำได้ง่ายดาย(จนเกินไป) โดยวัดจากเพียงแค่คำพูดไม่กี่คำหรือการกระทำที่แหวกขนบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์คณะของศาลศาสนาทำตัวเป็นหูเป็นตาอยู่ในแทบทุกที่ ออกเดินทางไปตามชนบท เพื่อคอยจับตาดูว่ามีใครที่มีทีท่าจะทำตัวเป็นพวกนอกรีตบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นหน้าที่ทางกฎหมายที่คนทุกคน รวมถึงคนรอบข้างอย่างสามีภรรยา ลูก และคนใช้ ที่จะต้องคอยรายงานความคิดที่น่าสงสัยต่อศาลศาสนา เพื่อให้ตนเองพ้นข่ายความน่าสงสัยจากการมีความคิดนอกรีตเสียเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินคดีของศาลศาสนาที่ปิดเป็นความลับยิ่งเน้นให้เห็นความหนักหนาสาหัสของกระบวนการทั้งหมดและจึงก่อให้เกิดความน่าเกรงขามแก่ผู้คนทั่วไป

สำหรับคริสต์จักรยุคกลาง การลงทัณฑ์และความหวาดกลัวที่ถูกใช้อย่างชอบธรรมผ่านกลไกอย่างศาลศาสนาจึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อควบคุมไม่ให้ชาวคริสต์ “หันเหออกจากศรัทธา” หรือเอาใจออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า(ในแบบที่กำหนดโดยศาสนจักรเท่านั้น) แม้การลงทัณฑ์จะพุ่งเป้าไปที่ผู้มีพฤติกรรมเป็น “พวกนอกรีต” แต่เป้าหมายสำคัญของการปราบปรามนี้ก็คือการสำแดงแก่ชาวคริสต์ทั่วๆไปเพื่อมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ดังจะเห็นจากในคู่มือสำหรับองค์คณะศาลศาสนา ปี 1578 ที่ระบุถึงจุดประสงค์ของการลงโทษโดยศาลศาสนาว่า “…การลงโทษไม่ได้ทำเพื่อการดัดแปลงหรือเพื่อคุณประโยชน์ของตัวผู้ที่ถูกลงโทษนั้นในตัวเอง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อให้บุคคลอื่นๆ เกรงกลัวและผันหนีจากความชั่วร้ายที่พวกเขาเองอาจจะก่อขึ้น” /…quoniam punitio non refertur primo & per se in correctionem & bonum eius qui punitur, sed in bonum publicum ut alij terreantur, & a malis committendis avocentur.

…ราวกับว่าศาสนจักรเองก็ตระหนักได้ว่า ตนไม่อาจดึงให้ผู้ที่ “หันเหออกจากศรัทธา” ไปแล้ว หันกลับมามีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าดุจดังเดิมได้อีก สิ่งที่จะทำได้จึงเหลือเพียงแค่การทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน” คอยปรามไม่ให้คริสต์ศาสนิกชนของตนที่เหลืออยู่หันไปเห็นดีเห็นงามและเข้าพวกกันกับขบวนการของ “พวกนอกรีต” ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และทั้งหมดนี้ ศาสนจักรก็กระทำไปโดยอาศัยความกลัวเป็นเครื่องมือ ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าทำไปในนามของพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อความรักและความศรัทธานั่นเอง.

…ข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท… การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112… ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ทั้งสองพระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย… – “คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๗๒๖/๒๕๕๔”

การสร้างความหวาดกลัวและการใช้ความรุนแรงในนามของความรักเป็นปรากฏการณ์อันค่อนข้างเป็นสากล (พบได้ในหลายวัฒนธรรมและทุกยุคทุกสมัย) แม้แต่สังคมที่ชอบอ้างว่าตนเองมีความพิเศษยูนีคกว่าสังคมอื่นๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นจากวิธีคิดและหลักปฏิบัติเช่นนี้ สำหรับกระฎุมพีผู้เปี่ยมศีลธรรมและมีการศึกษาในสังคมไทยร่วมสมัย เห็นได้ชัดว่าพวกเขาก็ขานรับและให้การสนับสนุนการปราบปราม (ทั้งโดยกฎหมายและมาตรการกดดันทางสังคมในรูปลักษณ์ต่างๆ –อย่างไม่แยแสต่อความชอบธรรมตามกฎหมาย) บรรดาผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นพวก “นอกรีต” บ่อนทำลายความมั่นคงและศักดิ์สิทธิ์ของตัวแทนคุณธรรมความดีและศีลธรรมในสังคมที่ตนนับถือยกย่องราวกับพระผู้เป็นเจ้า –อย่างหน้าชื่นตาบาน

แม้จะไม่ถึงขั้นจับเผาทั้งเป็น (อาจมีแค่เผาหุ่น, เผาพริกเกลือสาปแช่ง, เสียบประจานและคุกคามผ่านโซเชียลมีเดีย, ทำหน้าที่ “พลเมืองดี” ด้วยการชี้หน้าด่าหยาบๆ คายๆ ในที่สาธารณะ, ทำร้ายร่างกายอย่างเบาะๆ เช่นต่อยหน้าเพื่อสั่งสอน, หรือขู่ว่าจะยิงให้คลานจนเหมือนสัตว์สี่เท้า, และไล่ออกนอกประเทศ!) แต่พวกเขาก็มีเครื่องมืออย่างกฎหมายอาญาบางมาตรา (ที่ตามหลักกฎหมายอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติอ้างถึงความรักและภักดี –ซึ่งกวีน่าจะขนานนามเสียว่าเป็น อาญาแห่งรัก) และกลไกทางกฎหมาย (กระบวนการ(อ)ยุติธรรมในพระปรมาภิไธย) ที่แทบจะอ้างอำนาจอาญาสิทธิ์ (หรืออาจถึงขั้นเทวสิทธิ์) เพื่อกำราบผู้ที่เอาใจออกห่างจาก(พระผู้เป็น)เจ้าของพวกเขาอย่างไม่จำเป็นต้องสนใจศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นมนุษย์ของ “ศัตรู” ของพวกเขา ทั้งหมดนี้พวกเขาอ้างว่าทำไปในนามของ ความ(จง)รัก(ภักดี)(ที่หลายครั้งก็ถึงขั้นล้นเกินจนเข้าข่ายคลั่งไคล้และบ้าคลั่ง) เพราะพวกเขารู้สึกว่า “ศัตรูนอกรีต” เหล่านี้ได้ทำการลบหลู่(พระผู้เป็น)เจ้าของพวกเขาและจึงเป็นการทำร้ายจิตใจของพวกเขาอย่างสาหัสอุกฉกรรจ์

แต่คำถามสำคัญที่ผู้ถือตนเป็น “วิญญูชน” อย่างพวกเขาพึงถามและตอบตัวเองอย่างไม่หลอกตัวเองคือ ความ(จง)รัก(ภักดี)ที่ได้มาจากการบังคับขืนใจและความกลัวนั้นจะเรียกได้ว่าเป็น “ความ(จง)รัก(ภักดี)” แน่ละหรือ ฤๅควรจะเรียกมันว่า ความลวง เสียมากกว่า?

ที่น่าเจ็บปวดคือ สำหรับผู้ทีี่ตอบคำถามนี้อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมหลายๆคน พวกเขาต้องประสบชะตากรรมอันน่าเจ็บปวด ที่ “Four cold walls against my will… Four cold walls without parole. Lord, have mercy on my soul…” (- “If It Hadn’t Been For Love,” The Steeldrivers)

…ภายใต้การปกครองและความเป็นใหญ่ของ ความรัก อันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่สูงส่งเยี่ยงนี้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่คริสต์ชนก็อาจจำต้องอ้อนวอนว่า “พระผู้เป็นเจ้า โปรดเมตตาดวงวิญญาณข้าด้วย”