เสือเผือก : ไม่ฆ่านาย ไม่หายจน

น้ำเปล่าหรือน้ำยาของกามูส์

If I am not for myself who will be for me? If not this way, how? If not now, when?
Song of the Partisan

อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) หมิ่นเชิงชาย (และหญิง) กันเกินไปหรือเปล่า เมื่อเขาให้นิยามความหมาย “สังคม” ประเภทหนึ่งไว้ในบทแรกของหนังสือ The Rebel ทำนองว่า

.. สังคมที่ไม่ได้สำนึก และไร้ความสามารถจะประเมินตน สังคมที่ไม่ตั้งคำถามใดๆ เพราะพิธีกรรมและเรื่องปรัมปรามายาคติได้ให้คำตอบไว้หมดแล้ว สังคมที่ไม่เคยได้รู้ถึง “การลุกขึ้นสู้”

สังคมใดบ้างที่คล้องกับคำจำกัดความของกามูส์ ? สำหรับ วี. เอส. ไนพอล (V.S. Naipaul) แล้ว สังคมอินเดียนั้นเข้าข่ายอย่างยิ่ง เราอาจจะพอเดาใจกามูส์ได้ว่าก็คงจะเห็นด้วยกับเขา กามูส์ได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างสุดขั้วในระบบวรรณะแบบฮินดูว่ามันสาหัสสากรรจ์เสียจนขาดเงื่อนไข “การลุกขึ้นสู้” ความคิดของนักเขียนรางวัลโนเบลทั้งสองนายนี้คล้องจองกันราวกับร้องรับเป็นลูกคู่ คนหนึ่งขึ้นเสียงไว้เป็นหลักทั่วไปตามหลักการให้นิยาม ส่วนอีกคนหนึ่งเอื้อนตามด้วยกรณีเฉพาะ
**
สังคมอินเดียที่ลือเลื่องไปทั่วว่า ผู้คนอดอยากยากไร้ ไม่มีช้อน ไม่มีชาม ไม่มีน้ำ ไม่มีส้วม ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีดาวเทียม มีอาวุธนิวเคลียร์ มีมหาบุรุษที่สมอ้างสรรพคุณ มีมหาเศรษฐีเดินกรายชายส่าหรีในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ที่ลอนดอน มีเมืองคอมพิวเตอร์ซึ่งต่อให้รวมพันธุ์ทิพย์พลาซ่ามากกว่า 100 แห่งก็ยังชิดซ้าย มีโบราณสถานซึ่งเมื่อนำมาเปรียบกันแล้ว อยุธยาคงเป็นได้เพียงมุมแอบหลับของคนเฝ้าสวน ฯลฯ
**
ความแตกต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับฝ่ามือเช่นนี้ ทำไมคนอินเดียที่สุดแสนจะยาจกและอกตรม ถึงยอมเป็นธุลีศีรษะก้มโงศิโรราบกราบพระศิวะกันอยู่ได้ ? ทำไมถึงไม่ลุกฮือขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แล้วเมื่อไรฟ้าถึงจะสีทองผ่องอำไพในอินเดีย ?
**
คนอินเดียเก่งแต่จะตีกันเองในถนน หรือรบรากันในบรรดาคนรากหญ้าที่ต่างศาสนากันเท่านั้นหรือ ? ไม่มีคนอินเดียลุกขึ้นมาชูธงประจัญบานกับอธรรมของอำนาจเลยหรือ ? หรือถึงมี ก็มีแต่วิธีอหิงสาแบบคานธี ซึ่งก็เหมือนก้มหัวให้ทหารเลวอังกฤษตีเอาตีเอาจนหมดแรงไปเองเท่านั้นหรือ ? ผู้ท่องมนต์สันติวิธีคงเห็นว่าวิธีของบุรุษใส่เตี่ยวเที่ยวท่องไปด้วยไม้เท้า นั่งปั่นด้ายเอาไว้ทอผ้าใช้เองนี้แหละคือคำตอบสุดท้าย กระนั้นหรือ ?
**
ถ้าเช่นนั้น ตัวอย่างซึ่งพอเป็นที่รู้จักกันนอกอินเดีย คือการต่อสู้ของขบวนการนักซัลไลท์ (Naxalite Movement) และการขัดขืนของทหารอินเดียใต้การบังคับบัญชาของอังกฤษ ไม่เป็น “ตัวช่วย” ให้สังคมอินเดียพ้นจากสังคมประเภทที่กามูส์และไนพอลปรามาสไว้หรือ ?
**
นิยายเรื่อง เสือเผือก (The White Tiger) ของ อราวินท์ อดิกา (Aravind Adiga) นี้ คืองานที่จะยกอินเดียออกจากประเภทสังคมก้มกรานตามคำจำกัดความของกามูส์ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์เข้ากับสังคมอินเดีย ก็เป็นสังคมที่โรงเรียนฝังหัวเด็กว่าเย็นศิระเพราะพระศิวะ ส่วนพระวิษณุก็กำราบบรรดาปัจจามิตรไปทั่วทุกทิศ ได้ปกปักรักษาบ้านเมืองมาจนปัจจุบันกาลสมัย ทั้งภัยพิบัตินานาจะไม่มาแผ้วพาลเพราะฤทธิ์พระพิฆเนศ สังคมนี้เป็นสุขศานติ์ด้วยพระบารมี และมีกะลาเป็นภูมิปัญญาภารตะ ฉะนั้นสังคมต้องหมอบคลานกราบไหว้พระบิดรอัครมหามนุษย์ที่เป็นเอตทัคคะในศิลปวิทยาการทั้งหก (คือ ดุริยศิลป์ หนึ่ง จิตรกรรม หนึ่ง [โอ]วาทศิลป์ หนึ่ง วรรณศิลป์ หนึ่ง วิศวกรรมทำนบน้ำ หนึ่ง แลการเนรมิตลมฝน อีกหนึ่ง)
**
สังคมที่มีเกณฑ์กดผู้คนส่วนใหญ่ให้ต่ำต้อยดุจผงอยู่ใต้เท้า และยกบางคนกับวงศาคณาญาติให้เลิศเลอเหนือมนุษย์นั้น กามูส์อาจจะใช้วลีแสนสุภาพว่าเป็น “สังคมปัญญาปิด” แต่อดิกาคงจะไม่ยั้งที่ใช้วลีอื่นๆ เป็นต้นว่า “สังคมบัวใต้น้ำ” ไปจนถึง “สังคมดักดาน” แต่ไม่ว่าจะใช้คำให้เสนาะโสตมากน้อยเพียงไรก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทุกคำต่างก็พ้องกันในประเด็นชี้ขาดในส่วนท้ายของคำนิยาม นั่นคือ ไร้สิ้นซึ่งวิญญาณ “การลุกขึ้นสู้” ลุกขึ้นมาเป็นขบถต่ออธรรม
******