สุดสายรุ้งของลูกนายเสื่อม: ช่างมันฉันไม่แคร์, Wonderful Town

For no one who wholeheartedly shares in a given sensibility can analyze it; he can only, whatever his intention, exhibit it. To name a sensibility, to draw its contours and to recount its history, requires a deep sympathy modified by revulsion.
Susan Sontag

ทันทีที่พอจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่างว่าบ้านเมืองของมึงกำลังกระโจนแผล็วข้ามกองศพหวนกลับไปสู่ยุคโพสต์ลงแดงซ้ำสอง ก็เกิดอารมณ์ประหลาดเพ้อพกถึงหนังเก่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าในบรรดาหนังไทยที่ตั้งใจจะ ‘แตะ’ หกตุลา แต่ส่วนใหญ่ทำได้แต่เพียงสะกิดเบาๆ นั้น มีหนังแนวตลาดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงอยู่ในกลุ่มประเภทของหนังประโลมโลกย์ทำขายคนดูที่เป็นผู้หญิงเป็นหลัก แต่กลับหาทางเอ่ยอ้างถึงอดีตหลอกหลอนคนเดือนตุลาได้อย่างแยบยลเหนือชั้นเกินคาด หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า ช่างมันฉันไม่แคร์ เข้าฉายในปี 2529 โดยปีเปิดตัวของหนังก็น่าจะส่อถึงความตั้งใจของผู้กำกับที่คงอยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการ(แอบ)รำลึกโอกาสครบรอบสิบปีหกตุลา นายทุนผู้ผลิตคือค่ายพูนทรัพย์ฟิล์ม ซึ่งเคยครองตำแหน่งเจ้าพ่อแห่งหนังชีวิตระหว่างช่วงทศวรรษ 2520 ไปจนถึง 2530 หนังกำกับโดย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งคลุกคลีในแวดวงละครเวทีของพวกนักศึกษาหัวก้าวหน้าช่วงทศวรรษ 2510 ก่อนจะผันตัวไปกำกับหนังชีวิตในทศวรรษต่อมา ช่างมันฉันไม่แคร์ นำแสดงโดยดาราหญิงที่ขึ้นชื่อว่าหน้าตาท่าทางสุดแสนจะปราดเปรียวทันสมัย เป็นไอคอนแห่งความโมเดิร์นของยุคเศรษฐกิจเสือตัวที่ห้า คือ สินจัย หงษ์ไทย โดยแสดงคู่กับ ลิขิต เอกมงคล นักแสดงนายแบบหน้าตาหล่อเหลาเอาการที่ขึ้นปกนิตยสารแทบทุกฉบับในยุคนั้น
*
พอไปคุ้ยผลงานกำกับเรื่องที่สองของพันธุ์เทวนพมาดูอีกทีตอนนี้ – ในนาทีที่ together we (heart) can กำลังปลุกซากเดนมนตราที่อัดตัวอยู่ตามภาพท้องนาเขียวชอุ่มอันมีอยู่แต่ในหนังตัวอย่างก่อนโปรแกรมฉายจริงเท่านั้น แล้วลากมันออกมาประเคนพวกคุณๆ ทั้งหลาย (as farce) – ก็รู้สึกพิลึกพิกลราวกับบังเอิญขุดเจอเศษเสี้ยวโบราณวัตถุชิ้นหนึ่ง จุดเริ่มต้นของบทวิจารณ์ชิ้นนี้คือความรู้สึกตะหงิดๆ ว่าแฟนตาซีสีเขียวนาข้าวที่เคยหล่อเลี้ยง ช่างมันฉันไม่แคร์ นั้น บัดนี้มันได้เตลิดผ่านสถานีร่วมจริตที่เราคุ้นเคยกันมาราวยี่สิบปีเห็นจะได้นามว่าปรากฏการณ์โหยหาอดีต (nostalgia) แล้วเข้ารกเข้าพงไปเป็นกรรมสิทธิ์ของป่าช้านามว่าความเสื่อม (decadence) อย่างกู่ไม่กลับแล้ว แฟนตาซีที่ว่านี้ปรากฏตัวชัดแจ้งที่สุดจากเพลงเด่นประกอบหนังเรื่องนี้ ซึ่งดัดแปลงมาอีกทีจาก Somewhere Over the Rainbow เพลงดังของหนังคลาสสิค The Wizard of Oz (Victor Fleming, 1939) Judy Garland ดาราดังแห่งยุคหนังเพลงฮอลลีวู้ด รับบทเป็นเด็กหญิงโดโรธีแห่งเมืองภูธร รัฐแคนซัส ยืนพิงกองฟางร้องเพลงเปล่งเสียงโหยละห้อย เรียกหาการผจญภัยไกลบ้าน (นอก) พาเธอจากไปไกลจากดินแดนสีหม่นน่าหดหู่แห่งแคนซัส เด็กหญิงโดโรธีผู้ไว้หางเปีย กับนางสาวพิมภรณีใน ช่างมันฉันไม่แคร์ ไดเร็กเตอร์แห่งเอเยนซี่โฆษณาชื่อดังในกรุงเทพฯ ผู้มีมาดเฉี่ยว เกล้าผมตึง และมีอดีตเป็นนักศึกษาที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุอัปยศหกตุลา ต่างก็โหยหาดินแดนที่ตั้งอยู่สุดสายรุ้ง อันเป็นดินแดนแห่งอิสรภาพที่เธอทั้งสองใฝ่ฝันจะโบยบินหลีกหนีไปหา
*
ในบทวิจารณ์นี้ ข้าพเจ้าจะอุปมาให้หนังของสองยุคสองสมัยโคจรมาพบกัน นั่นคือ จับ ช่างมันฉันไม่แคร์ มาเทียบเคียงหนังอิสระร่วมสมัยเรื่องหนึ่ง คือ Wonderful Town (อาทิตย์ อัสสรัตน์, 2550) โดยความตั้งใจในการสร้างโครงสมมุติดังกล่าว คือพยายามจะชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของหนังไทยที่สร้างโดยกระฎุมพี ประเภทที่มีทั้งศักยภาพและความตั้งใจที่จะเป็นหนัง ‘ปัญญาชนกระฎุมพี’ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อดั่งที่สองเรื่องนี้เป็น นั่นคือสามารถทำตัวเป็นกระจกเงาเปล่งเค้ารูปลักษณ์แฟนตาซี สะท้อนอัตวิสัย หรือความเป็นไปได้ในการตระหนักรับรู้ที่ทางแห่งตนของผู้คนระดับอีลีตของชนชั้นนี้ได้
*
บทความนี้จะวิจารณ์เปรียบเทียบการดำรงอยู่ของแฟนตาซีที่โบยบินไปตามเส้นโค้งสายรุ้งลาจากเมืองฟ้าอมรไปไกลของ ช่างมันฉันไม่แคร์ อันเป็นความฝันที่รับภารกิจทดแทนส่วนขาดหายให้กับปัญญาชนผู้เจ็บปวดจากหกตุลา กับเศษเดนตายซากของฝันดังกล่าวที่ Wonderful Town สอดใส่ลงไปอย่างเย็นเยียบ เงียบเชียบ รู้ตัว ภายใต้พื้นผิวของหนังที่เสไปว่ากล่าวถึงการฟื้นคืนตัวหลังมหันตภัยสึนามิ โดยทำเป็นยึดสไตล์ธรรมชาตินิยมเป็นหลัก
****