อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก
ผู้เขียน ไชยันต์ รัชชกูล
ผู้แปล พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
บรรณาธิการแปล ไอดา อรุณวงศ์
คำนำเสนอ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
แปลจาก The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy
จัดพิมพ์โดย White Lotus, Bangkok 1994
ลิขสิทธิ์ฉบับภาษาอังกฤษ ©1994 Chaiyan Rajchagool
ลิขสิทธิ์บทแปลภาษาไทย © พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ และสำนักพิมพ์อ่าน 2560
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2560
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ISBN
ปกอ่อน 978-616-7158-70-9 ราคา 320 บาท
ปกแข็ง 978-616-7158-69-3 ราคา 420 บาท
หมายเหตุสำนักพิมพ์
แม้เป็นงานที่สำเร็จเป็นวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 1984 ตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 1994 แต่การทำต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกเหมือนต้องเรียนรู้และเผชิญความท้าทายอย่างใหม่ ในทางเนื้อหาที่เต็มไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์และความซับซ้อนทางทฤษฎีมาร์กซิสต์ อันเป็นความไม่จัดเจนของข้าพเจ้าก็เรื่องหนึ่ง ในทางการแปลที่รูปประโยคต้นทางอัดแน่นด้วยการกำกับทางมโนทัศน์นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ความซาบซึ้งที่ผู้เขียนวางใจให้สำนักพิมพ์อ่านดำเนินการ และให้เกียรติอย่างดียิ่งตลอดการทำงาน ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจไม่พยายามรับมือให้เสมอกันได้
ในความพยายามเบื้องนอกสุดนั้น อ. ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ช่วยตอบรับออกแบบปกให้สมและคมแก่เนื้อหา
โดยมึคุณมกรา จันหฤทัย ช่วยลงมือสร้างอย่างวิจิตร ส่วนเบื้องใน ความพยายามที่จะทำให้ฉบับภาษาไทยเที่ยงตรงเที่ยงธรรมต่อต้นฉบับ เริ่มจากบทแปลร่างแรกที่กระชับแม่นยำโดยคุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ที่ต่อมาผ่านการสอบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์โดย อ. สมิทธ์ ถนอมศาสนะ, ผ่านการทำให้สละสลวยและสม่ำเสมอในการอ้างอิงโดยคุณ
วริศา กิตติคุณเสรี กับคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ก่อนจะมาถึงข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ตรวจทานปรับแก้ทั้งหมด โดยได้รับ
คำปรึกษาในหลายด้านจาก อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ซึ่งข้าพเจ้าขอขอบคุณยิ่ง ณ ที่นี้
ข้าพเจ้ายังเล็งเห็นบางเจตจำนงของต้นฉบับ ที่ควรรองรับให้สมกัน กล่าวคือ ในเมื่อเนื้อหาของหนังสือนี้ว่าด้วยการก่อรูปรัฐไทยที่ขนานไปกับโลกอาณานิคม, ทุนนิยมรอบนอกที่ล้อไปกับทุนนิยมศูนย์กลาง ดังนั้นโครงเรื่องเล่าจึงควรใช้กรอบเวลาคริสต์ศักราชตามต้นฉบับ กำกับพุทธศักราชสัญชาติไทยไว้แต่เพียงในปีกกา ส่วนชื่อบุคคลต่างๆ ก็คงตามขนบกลางของภาษาต้นทาง ละวางฐานันดรแบบไทย อย่างไรก็ดี กติกานี้เป็นความตกลงของผู้เขียนกับข้าพเจ้าในฐานะบรรณาธิการแปล/บรรณาธิการสำนักพิมพ์เท่านั้น ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น
ท้ายที่สุด ขอบคุณน้ำใจจาก อ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ตอบรับเขียนคำนำเสนอให้แก่หนังสือว่าด้วยสมบูรณาญา
สิทธิราชย์เยี่ยงอาณานิคมเล่มนี้, ในพุทธศักราชนี้
ไอดา อรุณวงศ์
คำนำจากผู้เขียน
The one duty we owe to history is to rewrite it.
– Oscar Wilde
หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างยิ่งของเราต่อประวัติศาสตร์ คือการเขียนประวัติศาสตร์เสียใหม่
– ออสการ์ ไวลด์
งานศึกษาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ช่วงรัชสมัยที่ 5-7 นั้นมีอยู่อักโขทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งศึกษากันในต่างแง่ต่างมุม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่เรียกกันว่า “การปฏิรูปการปกครอง” บ้าง “การปกครองมณฑลเทศาภิบาล” บ้าง “การกำเนิดของรัฐ-ชาติ” บ้าง “ปัญญาและความสามารถของบุคคลสำคัญ” บ้าง ฯลฯ การศึกษานี้มั่งคั่งทั้งในเชิงข้อมูลและกรอบคิดทฤษฎี ในเชิงข้อมูลก็ได้รวบรวมกันไว้มากมายจากแหล่งเอกสารชั้นต้นจากกองจดหมายเหตุทั้งในไทยและเทศ ในเชิงการใช้แนวคิดทฤษฎี ก็มีอยู่หลากหลายแนวและได้อภิปรายกันขว้างขวาง จนถึงขั้นอาจเกิดคำถามขึ้นว่า “แล้วยังจะมีอะไรเหลือค้างให้น่าศึกษากันอีกหรือ?”
นอกเหนือจากคำตอบที่เป็นหลักการทั่วไปว่า ย่อมไม่มีงานศึกษาใดๆ เป็น “คำตอบสุดท้าย” แล้ว เหตุผลหลักสองประการที่หนังสือเล่มนี้ได้แปลออกมาสำหรับผู้อ่านภาษาไทย คงอยู่ที่ (ก) การเรียบเรียงข้อมูลด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ต่างออกไปจากงานอื่นๆ ก่อนหน้านี้ (ข) การเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนในทางการเมืองและเศรษฐกิจในสังคมไทยนับตั้งแต่ ‘14 ตุลาคม 2516’ จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าคงสืบต่อไปอีกหลายขวบปีในอนาคต ช่องทางหนึ่งในการทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ อยู่ที่การพิจารณาพลังความขัดแย้งที่สั่งสมสืบเนื่องมาในอดีต อันสามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วงสมัยดังกล่าว
สหายทางความคิดคนหนึ่งของผู้เขียน ไม่อ่าน The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เขามีเรื่องที่เผชิญหน้าอยู่ซึ่งย่อมสำคัญกว่าเรื่องที่ผ่านมาแล้ว
ผู้เขียนไม่ได้โต้ตอบความเห็นนี้แต่อย่างใด เพียงแต่นึกอยู่ในใจว่า เรามิได้เข้าใจประวัติศาสตร์เพียงจากเอกสารข้อมูลที่เป็นหลักฐานและบันทึกความเป็นไปในอดีตเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งก็คลี่คลายมาจากประวัติศาสตร์นั้น ยังเอื้อให้เราทำความเข้าใจอดีตในภาพใหม่จากความเข้าใจในปัจจุบัน อันเป็นประเด็นตามคำกล่าวของเบเนเด็ตโต โครเช (Benedetto Croce) นักปรัชญาผู้ประกาศว่า ประวัติศาสตร์ทั้งหลายล้วนเป็น ‘ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย’ (Contemporary History) โดยให้เราทำความเข้าใจอดีตจากปัจจุบัน และทำความเข้าใจปัจจุบันจากอดีต ซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้นำมาให้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดย อี. เอช. คาร์ (E.H. Carr เอตทัคคะแห่งประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซียและผู้สันทัดดอสโตยเยียฟสกี) ในบทบาทอรรถกถาจารย์ ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในอดีตก็อาจมีความหมายขึ้นใหม่ ซึ่งต่างหรือถึงขั้นพลิกไปจากเดิม
ก็ในเมื่อมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และในเชิงความคิดทฤษฎี (หรือ ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์’ ตามที่นิยมเรียกกันมากกว่าในวงการประวัติศาสตร์ แม้อาจจะไม่แทนกันได้ตรงๆ เสมอไป) ก็ไม่จีรัง มีเกิดขึ้นและดับไปอยู่เสมอ คำกล่าวของออสการ์ ไวลด์ ข้างต้นจึงเข้าเค้าสำหรับการเขียนงานประวัติศาสตรเ์สียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ หรือประวัติศาสตร์ไทยแลนด์
จุดกำเนิดของหนังสือเล่มนี้ย้อนกลับไปถึงปี 1984 ในรูปวิทยานิพนธ์เสนอเพื่อรับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และเมื่อได้รับการเสนอแนะ สนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา (Hamza Alavi) ร่วมกับหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยา (Professor Teodor Shanin) ให้พัฒนาเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ ผู้เขียนก็ถือเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวด ประกอบกับเมื่อได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอกจากมูลนิธิโฟล์คสวาเกน (VolkswagenStiftung) เพื่อพัฒนาวิชาการ ก็ได้เริ่มทำงานปรับแก้ด้วยการสนับสนุนของ Professor Hans-Dieter Evers แห่งมหาวิทยาลัยบีลเลเฟล (University of Bielefeld) ประเทศเยอรมันตะวันตกขณะนั้น จนเป็นร่างแรกสำหรับเสนอสำนักพิมพ์ ครั้นเสนอต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็ได้เรียนรู้ถึงปัญหาของผู้เขียนมือใหม่ แม้บางสำนักพิมพ์เห็นชอบในหลักการ แต่ก็ยังต้องปรับแก้อีกมาก
จนกระทั่งสำนักพิมพ์ White Lotus ยินดีรับพิมพ์ พร้อมทั้งได้ให้ร่วมทำงานปรับแก้กับบรรณาธิการจนกระทั่งได้ตีพิมพ์เป็นผลสำเร็จ นับเวลาจากจุดกำเนิดจนถึงเป็นหนังสือนั้นรวม 10 ปี ประวัติความเป็นมานี้คงจบลงแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะสำนักพิมพ์อ่านเห็นค่าว่าสมควรแปลเป็นภาษาไทย ความยุ่งยากในการแปลเป็นอย่างไร คงเป็นที่ประจักษ์กันอยู่โดยทั่วไป ประมาณขั้นตอนการแปลจากร่างแรกจนสำเร็จก็เป็นเวลานานราวสามปี เมื่อผู้เขียนย้อนกลับไปนับเวลาจากปีที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษจนมาเป็นภาคภาษาไทยก็รวม 23 ปี
ความเป็นมานี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องรำพึงรำพันบนถนนสายนี้เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือ ในระหว่างการปรับแก้นั้น เป็นโอกาสให้ได้ทบทวนความคิดและความหมายของข้อมูลกลับไปกลับมาหลายตลบ นอกจากภาษาที่ใช้จะไม่มีประโยคใดเหมือนเดิมแล้ว ยังตามมาด้วยความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ แต่เริ่มแรกนั้น งานนี้อยู่ในแนวการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการก่อตัวของสังคมกับของรัฐ ดังชื่อในภาษาอังกฤษว่า The Social and State Formation in Siam, 1855-1932 ซึ่งอาจจะพอเทียบเคียงไดกั้บแนวคิดเรื่อง ‘Deep State’ ในปัจจุบัน ครั้นเมื่อพิมพ์เป็นหนังสือ ก็เห็นว่าความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังชื่อในหนังสือภาคภาษาอังกฤษว่า The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy ต่อมา จากความเข้าใจกับการมองสังคมไทยอีกมุมหนึ่งที่เห็นว่า ลักษณะของรัฐนั้นอยู่บนฐานของการขยายอาณาบริเวณ ควบคู่ไปกับการรวบและการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ทั้งในเชิงพื้นที่และผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือภาคภาษาไทยว่า อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ไม่ว่าจะอย่างไร ความคิดทฤษฎีที่เอื้ออำนวยต่อการเรียบเรียงข้อมูลก็คงเดิม ซึ่งก็คือความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์ งานศึกษาต่างๆ นานาส่วนใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้ได้นำมาอ้างอิงและใช้ประโยชน์นั้น มิได้เป็นแนวมาร์กซ์ หลายต่อหลายงานเป็นแนวที่ไม่ลงรอย หรือถึงกับเชิดชูบางแนวที่พยายามลบล้างแนวมาร์กซ์ แต่ข้อมูลและข้อคิดเหล่านี้หาเป็นปัญหาไม่ ตรงกันข้ามกลับยังประโยชน์ในด้านที่เป็นการเปรียบเทียบกับงานศึกษาแนวอื่นๆ เช่นแนวการสร้างรัฐตามความคิดนวัตกรรมตะวันตก แนวอัจฉริยภาพของชนชั้นผู้ปกครอง ไปจนถึงแนวคิดทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ ซึ่งกล่าวและยอมรับกันกว้างขวางจนถือเสมือนเป็นสัจพจน์สำหรับการศึกษาสังคมไทย
เมื่อคิดย้อนกลับไปก็ตระหนักถึงความพลิกไพล่ต่อการที่หนังสือเล่มนี้พึ่งพิงงานศึกษาเหล่านี้ กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่เพราะงานเหล่านี้ที่มีมาก่อนหน้า หนังสือเล่มนี้ก็คงเขียนขึ้นมาไม่ได้ กระนั้น การพึ่งพาก็ไม่ใช่ในลักษณะที่ได้ขอปีนขึ้นไปยืนบนบ่าของยักษ์เพื่อมองให้ได้ไกลขึ้น หรือใช้เป็นสะพานข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ในบรรดางานเหล่านี้ มีบางงานที่ถือกันว่าเป็น “มาตรฐาน” ในการวิเคราะห์สังคมและรัฐไทยในช่วงเวลาการศึกษานี้ แต่หนังสือเล่มนี้กลับถือเสมือนเป็นข้อพึงสังวรณ์ไม่ให้เดินซ้ำรอย การจะประเมินว่าแนวใดจะบรรลุถึงความสามารถในการอธิบายพลวัตของสังคมไทยได้หนักแน่นกว่ากัน ย่อมอยู่ในมณฑลการศึกษาและวิจารณ์ของผู้อ่าน
หนังสือเล่มนี้มิประสงค์จะซ่อนเร้นว่าทฤษฎีแนวมาร์กซ์คือแนวคิดที่ผู้เขียนอาศัยในการวิเคราะห์และเรียบเรียงข้อมูล ซึ่งถ้าความประสงค์เป็นเช่นนั้น การจะซ่อนสีทฤษฎีให้สนิทเสียก็สามารถกระทำได้ด้วยวิธีลีลาการเขียนที่อาจไม่เอ่ยหรืออ้างอิงถึงแหล่งที่มาจากนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ (ที่สุดในยุคสายสมัยใหม่ ในความรับรู้ของผู้เขียน ซึ่งเทิดทูน Capital Vol. I สูงกว่าเล่มใดๆ ในบรรดานักคิดทางสังคมศาสตร์) และผู้ดำเนินรอยตามทั้งหลาย หรือยิ่งไปกว่านั้นคือถึงขนาดเลียนกระทำประหนึ่งว่ารู้แจ้งขึ้นเอง (ซึ่งมีให้พบเห็นได้อยู่เสมอๆ ไม่ว่าในประเทศนี้ หรือประเทศอื่นๆ) ทั้งนี้มิใช่เพราะงานนี้เป็นมาเช่นนั้นตั้งแต่ครั้งเป็นวิทยานิพนธ์ แต่ที่สำคัญกว่าอย่างยิ่งก็คือ เพื่อต้องการเชิญชวนและแสดงแจ้งว่า ความคดิ ทฤษฎีแนวมาร์กซ์ที่ผู้เขียนสมาทานนั้น เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา และพลังบันดาลใจที่ล้ำค่า มิไยว่ามักจะถูกดูหมิ่นดูแคลน และถูกตัดทอนลดความสำคัญโดยวงวิชาการกระแสต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมวิชาการ และสื่อสารมวลชนระดับระหว่างประเทศอยู่เป็นเนืองนิตย์
อย่างไรก็ตาม สมควรเป็นความเข้าใจร่วมกันว่าความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์นั้น เป็นศัพท์ร่มใหญ่ที่รวมความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์กระแสต่างๆ ที่มีอยู่หลายกระแสเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการโต้แย้งถกเถียงกันอยู่เสมอมา ความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์จึงเป็นสำนักคิดในความหมายกว้าง เราจึงไม่อาจอ้างความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์ได้ว่าผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่แยกแยะความแตกต่างในบรรดาสกุลต่างๆ ที่อยู่ใต้ร่มใหญ่ซึ่งต่างก็ถือว่าสังกัดสำนักความคิดทฤษฎีแนวมาร์กซ์ สำหรับหนังสือเล่มนี้ ก็คงเป็นแนวมาร์กซ์สกุลหนึ่ง ซึ่งจำต้องถกเถียงทั้งกับความคิดทฤษฎีต่างๆ ทั้งนอกและในสำนักคิดเดียวกัน
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นงานแปล จึงพยายามให้คล้องตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ แม้ว่าผู้เขียนเองก็อยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกในหลายจุด หลายประโยค ตามข้อมูลที่รับรู้ใหม่ และข้อคิดใหม่บางข้อ แต่อย่างมากที่อยู่ในวิสัยพอทำได้ คือขอเติมเป็นภาคผนวก (“สยาม: ‘ถก แถ ถาม เถียง’”) พร้อมกับคำปลอบใจว่า ความคิดและหนังสือมีอายุขัยเช่นชีวิตอื่นๆ เมื่อกาละผ่านไป ถึงแม่น้ำสายหนึ่งจะยังคงชื่อเดิม แต่รูปพรรณสัณฐานก็ต่างไปจากสายน้ำเมื่อวันวาน
สำหรับงานแปลงานนี้ ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษา Hamza Alavi สามารถรับรู้ด้วยญาณวิถีใด และเมื่ออาจารย์หัวหน้าภาควิชาผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้ได้เรียนและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในช่วงแรก Teodor Shanin จะได้มาเห็นหนังสือเล่มนี้ คงดีใจมากที่นักเรียนไทยผู้หนึ่งซึ่งล้มลุกคลุกคลาน ทั้งไร้แววจะเดินได้ถึงเส้นชัย กลับรอดภัยพิบัติของการเรียนและการเขียนวิทยานิพนธ์ไปได้ ไม่หลบลี้หนีหน้าไปไหน ซ้ำการยังได้ว่ายข้ามแม่น้ำต่อมาจนถึงฝั่งนั้น มาจากบุญคุณของครูทั้งสองที่ผู้เขียนมิรู้ลืม
เมื่อย้อนกลับไปรำลึกถึงสมัยเป็นนักเรียนที่ตรากตรำจำทนต่อปัญหานานา ลำพังเพียงเขียนงานให้จบปริญญาเพื่อให้ทางบ้านระทึกใจและได้เป็นไทแก่ตัวเอง ก็ถือเป็นสถานีชีวิตอันไกลโพ้นอยู่แล้ว อย่าแต่จะหวังว่างานที่ได้เริ่มทำไว้ จะมีฉบับแปลเป็นภาษาไทย บนเส้นทางนี้มีทั้งบุคคล ครอบครัว หน่วยงาน ฯลฯ มากมายที่ทำให้ความฝันเกือบสุดเอื้อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้เขียนได้จารึกความซาบซึ้งใจไว้ในงานแต่ละลักษณะแล้ว ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว เสมอหนึ่งมาช่วยเติมจานด้านความดีใจบนตาชั่งชีวิตของความดีใจกับความเสียใจ ซึ่งมันเอียงหนักไปทางจานด้านความเศร้าหมองอยู่เป็นปกติวิสัย
ผู้เขียนขอขอบคุณสำนักพิมพ์อ่าน คือ คุณไอดา อรุณวงศ์ และคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ กับทีมงานเฉพาะกิจของสำนักพิมพ์ คือคุณวริศา กิตติคุณเสรี และคุณสมิทธ์ ถนอมศาสนะ ที่ทำงานด้วยความอุตสาหะ ทั้งงานบรรณาธิการ ตรวจตราปรับแก้ข้อมูลและการอ้างอิงที่คลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์อยู่หลายแห่งหลายตอนอย่างพิถีพิถัน ส่วนความงามของคำนำทั้งในเนื้อหาสาระและในฐานะเครื่องประดับ ต้องขอขอบคุณอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งนิติราษฎร์ ที่ผู้เขียนขอคารวะในน้ำใจที่ใฝ่ธรรม แม้เจ้าตัวจะเกรงไปเองว่าเป็น “คนนอก” สาขาวิชา ทั้งๆ ที่เจตจำนงของงานนี้อยู่ที่ผู้อ่านสามัญชนคนเดินดิน และแม้ว่างานนี้ไม่ได้มุ่งตอบโต้ประวัติศาสตร์ในแบบ ‘นิยายประโลมโลกของชาติ’ เป็นหลักก็ตาม อีกทั้งถึงจะตั้งใจถกเถียงกับงานประวัติศาสตร์แบบวิชาการ ก็หวังว่ากลุ่มผู้อ่านเป้าหมายจะมิได้จำกัดอยู่ในวงผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์บางสาขาเท่านั้น
อนึ่ง ต้นฉบับภาษาอังกฤษของงานแปลหนังสือเล่มนี้ อยู่ในวงผู้อ่านค่อนข้างจำกัด เมื่อตัดสินจากจำนวนที่ขายได้ในช่วงเวลานานนับหลายปีและการอ้างอิงถึงในวงวิชาการ จึงหวังและเชื่อว่า ฉบับภาษาไทยนี้จะแพร่หลายในบรรดาผู้อ่านที่กว้างขึ้น และเชื่อว่าหนังสือภาคภาษาไทยนี้ควรถือได้ว่าเป็นการปรับปรุงจากเล่มภาคภาษาอังกฤษ ทั้งภาพแผนที่ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ และคุณมกรา จันหฤทัย ได้ช่วยแก้ไขจากต้นฉบับที่มีข้อบกพร่องอยู่บางแห่ง และแบบปกโดยอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ และคุณมกรา จันหฤทัย อีกเช่นกัน ที่พลิกโฉมดุจทำศัลยกรรมใบหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากความเชยของการออกแบบปกเดิมในเล่มภาษาอังกฤษ ที่ผู้เขียนฟุ้งซ่านไปเองว่า การเปลี่ยนแปลงธงจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์นั้นสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐด้วย ความไม่ประสีประสานี้เป็นบทเรียนราคาแพง ทั้งทำให้ผู้เขียนไม่เชื่อว่า สาธารณชนจะเชื่อภาษิต “Don’t judge a book by its cover.”
เหล่ามิตรสหายเคยติดตามถามไถ่ว่าไฉนผู้เขียนถึงไม่แปลงานนี้เองก่อนหน้านี้ ข้อจำกัดทางเวลาและความสามารถคงไม่ใช่ข้ออ้างที่ดี ผลงานแปลนี้ต่างหากคือคำตอบ เมื่อผู้เขียนได้ตรวจต้นฉบับแปล ก็รู้สึกว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้แปลตัดต่อหรือระบายสีตีไข่ไปตามอำเภอใจ ตรงกันข้าม ไม่มีส่วนใดเลยที่ทำให้ผู้เขียนสะดุดใจว่ามีความเข้าใจที่ต่างออกไป ผู้แปลซื่อสัตย์ต่อความหมายตามต้นฉบับอย่างไม่เบี่ยงเบน แต่แรกก็ชวนให้น่าสนเท่ห์อย่างยิ่งว่า ไฉนจึงรู้สึกถึงความใหม่เสมือนไม่เคยได้ผ่านความเรียงเช่นนี้มาก่อน ทั้งความหมายตรงและความหมายนัยยะ รวมไปถึงการลำดับ เรียงร้อย จนกระทั่งได้มารับความเข้าใจว่า การแปลมิใช่เพียงเป็นกิจกรรมการแปลงศัพท์ที่อยู่ในกรอบไวยากรณ์จากภาษาต้นทางมาเรียบเรียงด้วยศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาปลายทาง แต่การแปลคือการสร้างการอ่านแบบประสบการณ์เฉพาะตน (phenomenological reading) ซึ่งเป็นการอ่านตามชีวทัศน์ของผู้แปล จึงต่างไปจากการอ่านต้นฉบับที่สร้างขึ้นตามชีวทัศน์ของผู้เขียน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การแปลคือการสร้างสะพานการอ่านตามชีวทัศน์ของผู้แปลมาสู่การอ่านตามชีวทัศน์ของผู้อ่าน ความเข้าใจนี้ (จาก Clive Scott, Literary Translation and the Rediscovery of Reading, CUP, 2012) ชวนให้ใจผู้เขียนประหวัดถึงความแตกต่างระหว่างการอ่าน The Merchant of Venice กับ การอ่าน เวนิสวาณิช ผู้เขียนขอเชื้อเชิญให้ลองเทียบงานแปลนี้กับต้นฉบับ บรรทัดต่อบรรทัด และอ่านแต่ละฉบับแยกจากกัน ก็คงจะรู้สึกได้ว่า ประสบการณ์การอ่านฉบับภาษาอังกฤษของเชคสเปียร์ แตกต่างเพียงไรไปจากประสบการณ์การอ่านฉบับแปลเป็นไทยของล้นเกล้า ร. 6 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎของงานแปล
เมื่อผู้เขียนได้อ่านต้นฉบับแปลก็แสนปลื้ม ถึงขั้นรู้สึกจนปัญญาจะทดแทนหนี้นี้ได้อย่างสมค่า มีแต่เพียงคำอ้อมแอ้มแก้เกี้ยว ที่ขอให้ถือเสียว่ามาช่วยลงแรงกันเขียนประวัติศาสตร์ และถ้าประวัติศาสตร์อยู่ข้างเดียวกันกับเราจริง ก็ชะเง้อแลหาคำตอบในสายลมว่า เราอาจมีส่วนช่วยเขียนอนาคตร่วมกัน ร่วมกับมหาราษฎรที่ไม่มีโอกาสจะเขียนประวัติศาสตร์ แต่สร้างประวัติศาสตร์ให้เราได้ช่วยกันเขียน
ไชยันต์ รัชชกูล
19-29 กรกฎาคม 2560
แม่กา พะเยา