รวมบทความโดย ประชา สุวีรานนท์
312 หน้า (ภาพประกอบสี่สีทั้งเล่ม)/ราคา 380 บาท
คำนำสำนักพิมพ์
ดีไซน์+คัลเจอร์ 2 เป็นหนังสือรวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันของ ประชา สุวีรานนท์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึง มีนาคม 2552 และเป็นเสมือน “ภาคสอง” ของ ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่มแรกที่ ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 2551 และพิมพ์ซ้ำไปแล้วถึงสามครั้งภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว
ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่มแรก เป็นบทเกริ่นนำของการวิจารณ์วัฒนธรรมผ่านวัฒนธรรมการดีไซน์ จากสายตาของผู้อยู่ในแวดวงดีไซน์ แต่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงภายในแวดวงดีไซน์เท่านั้น ดีไซน์+คัลเจอร์ เป็นการอ่านหรือการถอดรหัสวัฒนธรรมและสังคมร่วมสมัยจากปมและปูม อันเป็นผลิตผลจากงานออกแบบที่แทรกซึมอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้งในการเสพรับข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร รวมถึงการใช้สอยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความเป็นกลาง หากยังเกี่ยวพันกับคุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ และอำนาจอีกด้วย
สำหรับ ดีไซน์+คัลเจอร์ 2 ก็ยังคงรักษาแนวทางการวิจารณ์แบบเดิมเอาไว้ ทั้งยังมีส่วนที่พยายามจะบอกกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผลิตผล (และวัฒนธรรม) ที่เกิดจากแวดวงดีไซน์ และการดีไซน์ทั้งในฐานะที่เป็นวิชาชีพและวิชาความรู้นั้น ไม่ได้มีความเป็นกลางและไม่ได้ดำรงอยู่ลอยๆ อย่างปราศจากรากเหง้าที่มาที่ไป หากแต่เป็นการสื่อสาร ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความหมาย” ซึ่งดำรงอยู่ในบริบทของกาละและเทศะที่มีความแปรเปลี่ยน ทั้งยังอาจสะท้อนให้เห็นหรืออยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นในด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองได้อีกด้วย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในการชี้ให้เห็นว่าการที่ดีไซน์แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงหน้าที่ใช้สอยหรือการส่งสาร ซึ่งต่างก็เป็นการสื่อสารทางความหมายและมีศักยภาพที่จะถูกพลิกผันทางความหมายด้วยกันทั้งสิ้นนั้น ดีไซน์+คัลเจอร์ ยังชี้ด้วยว่าแง่มุมทางอำนาจก็เป็นอีกด้านที่แยกไม่ออกจากกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน
ความลุ่มลึก รอบด้าน ที่สามารถกลั่นออกมาเป็นงานเขียนที่กระชับ ชัดเจน ของผู้เขียนซึ่งเป็นทั้งศิลปินผู้สร้างงานระดับอาจารย์และเป็นนักวิจารณ์ชั้นครู คือเสน่ห์อันปราศจากข้อกังขาของหนังสือเล่มนี้ แต่เราก็รู้กันอยู่ว่าลำพังปัจจัยที่ว่ามานั้น ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับสังคมไทยที่จะให้การตอบรับอย่างสมคุณค่าต่อหนังสือเล่มหนึ่งขนาดนี้ เงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างที่จะไม่กล่าวถึงเสียมิได้ก็คือ เพราะ “ดีไซน์” กำลังเป็นกระแสทั้งทางวิชาชีพและทางวิชาการที่กำลังมาแรงในสังคมวัฒนธรรมทันสมัย และรวมถึงสังคมทันสมัยแบบไทยๆ
ความท้าทายของ ดีไซน์+คัลเจอร์ จึงอยู่ที่การพูดถึงสิ่งที่กำลังเป็นกระแส เป็นแฟชั่น อย่างที่ไม่ยอมให้มันมีฐานะเป็นแค่แฟชั่น คือการสื่อสารกับคนทุกรุ่นและโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างที่ไม่ยอมประมาทความสามารถในความเข้าใจของพวกเขาว่าจะผูกติดอยู่กับความหวือหวาเพียงชั่วแล่นชั่วยามอีกต่อไป
และที่สำคัญ ดีไซน์+คัลเจอร์ คือการท้าทายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคงานดีไซน์ ในเกมงูกินหางที่ว่า วัฒนธรรม คือตัวดีไซน์วัฒนธรรมดีไซน์ หรือ วัฒนธรรมดีไซน์ คือตัวดีไซน์วัฒนธรรม