ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์
แปลจาก History: A Very Short Introduction
ผู้เขียน จอห์น เอช. อาร์โนลด์
ผู้แปล ไชยันต์ รัชชกูล
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ISBN 978-616-7158-71-6
พิมพ์ครั้งแรก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมษายน 2549
พิมพ์ครั้งที่สอง (ปรับปรุงใหม่) สำนักพิมพ์อ่าน ตุลาคม 2560
จำนวนหน้า 192 หน้า
ราคา 200 บาท
คำนำผู้แปลในการพิมพ์ครั้งที่สอง
ผู้แปลรู้สึกปลื้ม เมื่อได้วิสาสะกับผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้จากการพิมพ์ครั้งก่อน แม้ว่าผู้อ่านหลายคนจะให้ความเห็นไปในเชิงบวก แต่ผู้แปลก็ตระหนักอยู่ว่าควรปรับแก้สำนวนแปล ครั้นเมื่อมีเวลาต่อเนื่องจึงได้ลงมือทำ ระหว่างการทบทวนปรับแก้ต้นฉบับ (เกือบจะไม่มีย่อหน้าไหนไร้หมึกแดงเลย) ก็ยิ่งรู้สึกทั้งปลื้มและปลงกับการทำงานแปล ส่วนการทำเชิงอรรถเพิ่มเติมนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความใคร่รู้ของผู้แปลเอง แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยไป ผู้อ่านก็อยู่ในฐานะที่จะเลือกดูหรือข้ามไปตามอัธยาศัย
ควบคู่กับความปลื้มใจ คือความตกใจที่ได้พบว่า การแปลบางแห่งนั้นคลาดเคลื่อน และกระทั่งผิดไปก็มี ต้องถือโอกาสนี้ขอโทษผู้อ่านในการพิมพ์ครั้งก่อนที่ไม่รอบคอบเพียงพอ ผู้แปลหวังว่า งานแปลฉบับปรับปรุงครั้งนี้ ยกเว้นศัพท์เฉพาะ คงจะไม่มีที่ผิดอีก (หรือถ้ายังมี ก็คงอยู่ในระดับลหุโทษ) ทั้งอ่านได้อย่างลื่นไหลขึ้นและได้รับอรรถรสเพิ่มขึ้น แต่ความหวังของผู้แปลกับความรู้สึกของผู้อ่านอาจจะลักลั่นกันอยู่ ความเห็นผู้อ่านคือคำวินิจฉัยของคณะลูกขุนและคำพิพากษาศาลฎีกาของผู้แปล
อีกความหวังหนึ่งก็คือ คำว่า “ประวัติศาสตร์” จะไม่เป็นสโมสรเฉพาะสมาชิก ในฐานะที่ประวัติศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวกับทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ดังนั้นประวัติศาสตร์นิพนธ์เล่มนี้น่าจะสามารถเป็นหนังสือ
เทียบเชิญให้สาขาเพื่อนๆ ได้มาชมทั้งสิ่งที่ดูแปลกๆ พร้อมๆ ไปกับสิ่งที่ดูคุ้นๆ ทำนองเดียวกับสถานะของหนังสือ What is History? ของ E. H. Carr ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหนังสือที่อ่านกันทั่วไปไม่ว่าสาขาใด เพราะแท้จริงแล้ว การศึกษามนุษย์และสังคมนั้นเป็นกิจกรรมชุมนุมของญาติในระบบครอบครัวขยาย ใครมีอะไรดีก็สมควรนำมาอวดกัน
ในช่วงปีที่พิมพ์ครั้งก่อน กลิ่นอายของกระแสเชิดชู ‘ภูมิปัญญาไทย’ ยังคงค้างอยู่ในบรรยากาศ แต่ในปัจจุบัน คำว่า “กะลาแลนด์” แพร่กระจายในสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง จึงคิดและหวังว่า เสียงจากป้อมค่ายตีกลองรบ “คิด
แบบฝรั่ง” (ของนักวิชาการบางกลุ่ม เอ็นจีโอบางสาย ผู้ทรงธรรมบางสำนัก) เมื่อเพลาลง ความคิดต่างๆ กระแสจะได้เปล่งเสียงบ้าง
ผู้แปลได้เคยทดลองฝึกหัดแปลมาบ้าง ก่อนจะได้พบกับอาจารย์นพพร ประชากุล แต่ก็คงเข้าลีลามวยวัด และแม้ไม่จำเป็นจะต้องออกตัวว่าฝีมือการแปลยังห่างจากความเป็นมืออาชีพ (คือทำงานแปลให้อ่านได้เสมือนหนึ่งไม่ใช่งานแปล) อีกหลายขุม บุคคลที่ควรรับชอบต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้คืออาจารย์นพพร ซึ่งแม้อินทรีย์ของเราจะอยู่กันคนละภพ ผู้แปลก็ชอบที่จะขอ ‘คำปรึกษา’ โดยไม่ได้จุดธูปอยู่เนืองๆ
ในระหว่างแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับ ผู้แปลอาจสร้างความรำคาญแก่หลายท่านที่ขอให้ช่วยเลือกคำและสำนวน ใคร่ขอขอบคุณไว้ในใจ ส่วนที่ต้องบันทึกความขอบคุณเป็นพิเศษ คือ ชัยพงษ์ สำเนียง ที่ช่วยทักท้วง แนะนำ และ
เสนอคำ สำนวนทางเลือก ฯลฯ
ถ้าไม่เป็นเพราะแรงนำของปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และแรงหนุนของไอดา อรุณวงศ์ ผู้แปลอาจแม้กระทั่งจะไม่ได้มาอ่าน (อย่าว่าแต่จะมาแปลเลย) หนังสือของจอห์น เอช. อาร์โนลด์ เล่มนี้อีกหลายรอบ ระหว่างการแปล
และการแก้ไข ในด้านหนึ่ง ก็อัดอั้นหวั่นเกรงว่าไม่สามารถถ่ายทอดน้ำเสียงและสำนวนของอาร์โนลด์ ที่ชอบแฝงความหมายหยอกล้อ และกล่าวเป็นคำให้น้อยหรือต่างไปจากความหมายจริงๆ ที่ต้องการจะสื่อ (understatement) อันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่อาจารย์ในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ออกจะติดอาการ ‘ผู้มีการศึกษา’ เช่นนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ส่วนอีกด้านหนึ่ง ผู้แปลได้เรียนรู้และได้ข้อคิดใหม่ๆ จนถึงขั้นเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบเป็นระยะๆ อันเป็นรางวัลที่ได้จากการทำงานแปลนี้ ผู้แปลจึงรู้สึกกระตือรือร้นอยากเสนอให้ผู้อ่านได้ร่วมความหฤหรรษ์ในความปิติจากความรู้อันไพศาลและลึกซึ้งของผู้เขียนต้นฉบับนี้ด้วยกัน
ไชยันต์ รัชชกูล
แล้งน้ำ ปี 2559
บ้านกองทราย สารภี เชียงใหม่