ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา


ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา
ผู้เขียน วรเจตน์ ภาคีรัตน์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2561
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน
ปกอ่อน ISBN 978-616-7158-75-4 ราคา 490 บาท
ปกแข็ง ISBN 978-616-7158-76-1 ราคา 590 บาท
จำนวนหน้า 528 หน้า

คำนำ

นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาในชั้นปริญญาเอก และกลับมาสอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณสิบเจ็ดปี ในปีการศึกษา ๒๕๕๙ ผู้เขียนได้ขอลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ (sabbatical leave) เป็นเวลาหนึ่งปี ทำให้ในปีการศึกษา ๒๕๕๙ ระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผู้เขียนปลอดจากภาระการสอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีเวลาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้เป็นผลมาจากการลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ดังกล่าว

อันที่จริงแต่เดิมนั้นผู้เขียนตั้งใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิชานิติปรัชญาภายหลังจากที่ได้เขียนหนังสือซึ่งเป็นตำราหลักทางด้านกฎหมายมหาชนครบถ้วนแล้ว แต่โดยที่เกิดการทำรัฐประหารขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ อันเป็นรัฐประหารที่ผู้เขียนเห็นว่าต่อเนื่องมาจากรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และเป็นรัฐประหารที่ส่งผล
กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างของระบบการปกครองและกฎหมายอย่างร้ายแรงที่สุดในช่วงหลายทศวรรษมานี้ ประกอบกับความตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อของวงวิชาการนิติศาสตร์และการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้ง ผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนจะได้ใช้เวลาสักช่วงหนึ่งในชีวิตอันเป็นช่วงที่ปลอดจากภาระการสอน ครุ่นคิดตรึกตรองเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายในลักษณะทั่วไปและศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ตลอดจนศึกษาชีวิตของนักคิดคนสำคัญๆ ที่อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางกฎหมายให้ลึกซึ้งขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะการศึกษาเรื่องราวทางนิติปรัชญาจะเป็นเครื่องชโลมใจของผู้เขียนซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์คนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในห้วงยามแห่งความตกต่ำของวงการกฎหมายไทย และอยู่ในท่ามกลางเพื่อนร่วมวิชาชีพจำนวนไม่น้อยที่ดูเหมือนความเที่ยงธรรมและความละอายจะเหือดหายไปจากจิตใจของพวกเขาจนหมดสิ้นเท่านั้น แต่การศึกษาเรื่องราวทางนิติปรัชญาและการเขียนหนังสือเกี่ยวกับนิติปรัชญาในห้วงยามนี้อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นวงวิชาการกฎหมายไทยให้หันกลับมาตั้งคำถามต่อทัศนะทางนิติปรัชญาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้เขียนเสนอทัศนะที่อยู่ในใจของตนเองเป็นเวลานานพอสมควรแล้วในบางประเด็นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา เล่มนี้ ผู้เขียนตั้งใจสำรวจความคิดหลักเกี่ยวกับกฎหมาย การเมือง และรัฐ ของนักคิดคนสำคัญที่ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีประวัติศาสตร์ปรัชญาของโลก โดยเหตุที่ความคิดของมนุษย์คนหนึ่งไม่ได้ปรากฏขึ้นอย่างไร้สาเหตุ แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นผลจากบริบททางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนวัฒนธรรมในห้วงเวลาที่มนุษย์คนนั้นมีชีวิตอยู่ และในบางกรณีก็เป็นผลมาจากชีวิตส่วนตัวของมนุษย์ผู้นั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้นำเสนอเฉพาะความคิดของนักคิดแต่ละคนเท่านั้น แต่พยายามที่จะฉายภาพความเป็นไปแห่งชีวิตของนักคิดแต่ละคน เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมนักคิดแต่ละคนด้วย การสำรวจความคิดหลักในทางนิติปรัชญาของนักคิดแต่ละคนเปรียบเสมือนการเดินทางด้วยขบวนรถไฟสำรวจความคิดที่ผู้เขียนเริ่มออกเดินทางจากสถานีต้นทางในยุคกรีกโบราณสู่สถานีปลายทางในศตวรรษที่ ๒๐ ความคิดของนักคิดแต่ละคนเปรียบเสมือนสถานีที่ขบวนรถไฟสำรวจความคิดได้หยุดลงเพื่อให้ผู้เขียนได้มีโอกาสสำรวจสถานีทางความคิดเหล่านั้น แต่ละสถานีทางความคิดมีความน่าสนใจในตัวเองแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่จะต้องเดินทางไปให้ถึงศตวรรษที่ ๒๐ ให้ทันตามกำหนดเวลา ขบวนรถไฟสำรวจความคิดขบวนนี้จึงไม่สามารถหยุดทุกๆ สถานีได้ บางสถานีผู้เขียนต้องผ่านไปก่อน โดยหวังว่าเมื่อมีโอกาสเดินทางย้อนกลับไปจากศตวรรษที่ ๒๐ จะได้หยุดที่สถานีทางความคิดซึ่งจำต้องผ่านเลยไปในการพิมพ์ครั้งแรกนี้

ในการสำรวจความคิดและนำเสนอความคิดของนักคิดแต่ละคนนั้น ผู้เขียนพยายามที่จะนำเสนอให้เป็นภววิสัยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม โดยที่ผู้เขียนก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งเติบโตและใช้ชีวิตในกาละ เทศะ และบริบททางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนบริบทหนึ่ง การเสนอความคิดของนักคิดแต่ละคนจึงทำผ่านสายตาของผู้เขียนที่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ก็ย่อมคัดกรองสิ่งที่ต้องการเสนอและไม่ต้องการเสนอโดยปริยาย และถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว หนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา เล่มนี้จะมีลักษณะเป็นการนำเสนอแนวความคิดของนักคิดยิ่งกว่าจะมีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดทางนิติปรัชญาจากทัศนะของผู้เขียนเอง แต่ในกรณีที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็น ผู้เขียนก็จะได้แสดงทัศนะของตนเองไว้ ในการแสดงทัศนะของตนเองนั้น ผู้เขียนตระหนักว่าบางกรณีย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวิจารณ์ความเห็นที่ถือได้ว่าเป็นความเห็นกระแสหลักในวงการนิติปรัชญาของไทยด้วย ซึ่งหากจำเป็นต้องกระทำ ผู้เขียนก็จะกระทำอย่างตรงไปตรงมาเท่าที่จะกระทำได้ภายใต้สถานการณ์ที่เสรีภาพในทางวิชาการดูจะแห้งแล้งเต็มทนในเวลานี้

แม้ช่วงเวลาที่ผู้เขียนศึกษาค้นคว้าและเขียนหนังสือเล่มนี้จะเป็นช่วงปลอดการสอน แต่ก็หาได้หมายความว่าผู้เขียนสามารถปลีกตัวจากการข้องเกี่ยวกับกฎหมายในทางปฏิบัติเพื่อศึกษาค้นคว้าทางวิชาการโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นใดไม่ ตลอดระยะเวลาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนซึ่งอยู่ในระหว่างได้รับการประกันตัวต้องเดินทางไปศาลทหารเป็นระยะๆ ในฐานะจำเลยที่ถูกฟ้องร้องในคดีที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ในห้องพิจารณาคดีระหว่างที่ศาลทหารดำเนินกระบวนพิจารณานั้น บ่อยครั้งที่ความคิดของผู้เขียนได้ล่องลอยไปสู่โลกแห่งนิติปรัชญา ผู้เขียนตระหนักในห้วงเวลาดังกล่าวว่า ไม่มีครั้งใดที่เรื่องราวแห่งนิติปรัชญาซึ่งดูเหมือนโดยปกติในโลกแห่งกฎหมายทางปฏิบัติจะอยู่ห่างไกลออกไปมากนั้น จะอยู่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้วเท่านั้น แน่นอนว่ามีเรื่องราวจำนวนมากที่จะกลายเป็นเรื่องเล่าในอนาคตและวันหนึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้เล่ามันออกมาหลังจากเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในยามนี้ปิดฉากลง

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากสำนักพิมพ์อ่าน ในการพูดคุยกันเพื่อจัดทำหนังสือเล่มนี้นั้น สำนักพิมพ์อ่านและผู้เขียนเห็นร่วมกันว่าควรจัดพิมพ์ในนามของสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย เนื่องจากโดยภาพที่ปรากฏทั่วไป หนังสือที่ตีพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์อ่านมักจะเป็นเรื่องวรรณกรรม ถึงแม้ว่างานเขียนเรื่องนี้จะไม่ได้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมายในลักษณะของวิชานิติศาสตร์โดยแท้ที่ “อ่านกฎหมาย” ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานชี้ถูกชี้ผิด แต่กฎหมายในงานเขียนเรื่องนี้ก็ถูก “อ่าน” ในลักษณะทั่วไปโดยมุมมองจากนิติปรัชญาและนิติทฤษฎี จึงถือว่าเหมาะสมที่จะได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในนามของสำนักพิมพ์อ่านกฎหมายเป็นประเดิม สำนักพิมพ์อ่านกฎหมายได้วางมาตรฐานทางรูปแบบสำหรับการพิมพ์ครั้งนี้ใหม่ ทั้งรูปแบบการอ้างอิงและการจัดทำดัชนีค้นคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำดัชนีค้นคำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านที่ต้องการค้นหาชื่อนักคิดต่างๆ ที่อ้างอิงไว้ในหนังสือเล่มนี้สามารถเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สำหรับการถอดเสียงชื่อนักคิดแต่ละคนนั้น โดยทั่วไปแล้วจะถอดเสียงตามภาษาเดิมของนักคิดคนนั้นหรือถอดเสียงตามภาษาอังกฤษ แต่ถ้าชื่อนักคิดคนใดใช้กันแพร่หลายตามสมควรแล้ว โดยหลักผู้เขียนก็จะใช้ไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วการถอดเสียงของชื่อนักคิดแต่ละคนคงเป็นไปตามที่ผู้เขียนเห็นว่าสมควร โดยคำนึงทั้งรูปและเสียงในภาษาไทยเป็นสำคัญ สำหรับการใส่คำภาษาต่างประเทศทั้งภาษากรีก ละติน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ในเครื่องหมายนขลิขิตหรือวงเล็บกำกับคำในภาษาไทย ผู้เขียนจะใส่ไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าของผู้อ่าน และเพื่อที่ผู้อ่านจะได้ทราบว่าผู้เขียนแปลถ้อยคำเหล่านั้นเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ทั้งนี้โดยไม่ได้ระบุชื่อของภาษาไว้ เนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีในปัจจุบันน่าจะทำให้ผู้อ่านที่สนใจศึกษาค้นคว้าต่อสามารถสืบค้นผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว

งานเขียนเรื่องหนึ่งไม่อาจสำเร็จลงและปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนได้โดยลำพังแต่ผู้เขียนเพียงคนเดียว มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญาเล่มนี้โดยที่บุคคลเหล่านั้นอาจไม่ทราบเลย ลูกศิษย์หลายรุ่นของผู้เขียนซึ่งได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้ช่วยผู้เขียนในการหาซื้อตำราใหม่ๆ ที่ผู้เขียนต้องการนำมาใช้ประกอบการเขียนหนังสือเล่มนี้ ลูกศิษย์อีกจำนวนหนึ่งเมื่อทราบข่าวว่าผู้เขียนลา
ปลอดการสอนเพื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับนิติปรัชญาก็สอบถามผู้เขียนถึงความก้าวหน้าของงานเขียนเป็นระยะๆ และแสดงความสนใจอยากอ่านงานเรื่องนี้ ความช่วยเหลือและความปรารถนาดีของลูกศิษย์ลูกหาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นกำลังใจให้แก่ผู้เขียนเสมอมา นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับสามัญชนจำนวนมากซึ่งถามคำถามเกี่ยวกับกฎหมาย การใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ทำให้ผู้เขียนต้องค้นคว้าและใคร่ครวญวัตถุแห่งการศึกษาในวิชานิติศาสตร์ซึ่งก็คือ “กฎหมาย” อย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้น

ถึงแม้ว่าโดยหลักแล้วผู้เขียนมุ่งหวังให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านประกอบการบรรยายวิชานิติปรัชญาของผู้เขียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หากหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาวิชานิติศาสตร์ วิชาปรัชญา หรือวิชาการทางสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไปที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับปรัชญาและกฎหมาย ผู้เขียนจะรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง หวังว่าหนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา เล่มนี้จะช่วยทำให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจเห็นความหลากหลายในทางความคิดเกี่ยวกับการตอบคำถามที่เป็นปัญหารากฐานของกฎหมายมากขึ้น มีความรอบรู้ มีโลกทัศน์และมีจิตใจที่กว้างขวางขึ้น และหวังว่างานเขียนเรื่องนี้จะช่วยสร้างเสริมเติมแต่งสิ่งที่ยังขาดอยู่ในวงวิชาการทางนิติปรัชญาในประเทศไทยแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยเหตุที่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยผู้ที่เป็นนักนิติศาสตร์ ไม่ใช่นักปรัชญา และโดยที่การทำความเข้าใจความคิดของนักปรัชญาและนักนิติศาสตร์คนสำคัญของโลกนั้นต้องใช้ความรู้ด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางซึ่งผู้เขียนมีข้อจำกัดอยู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่หนังสือเล่มนี้อาจมีความบกพร่อง ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะได้พยายามให้มีความบกพร่องน้อยที่สุดแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ข้อวิจารณ์ที่จะช่วยทำให้งานเขียนเรื่องนี้ปราศจากข้อบกพร่องและดีงามมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนปรารถนา มิพักต้องกล่าวถึงข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อแลกเปลี่ยนในอันที่จะทำให้ความรู้ทางนิติปรัชญาในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะสร้างความสุขใจให้แก่ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้สอนกฎหมายเสมอ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ต้นเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

สารบัญ

คำนำ 
บทนำ

บทที่ ๑ การอุบัติขึ้นของนิติปรัชญาและนิติปรัชญาในยุคเริ่มต้น

ความคิดเกี่ยวกับกฎหมายในตำนานของโฮเมอร์ 23; ระเบียบโลกสองระบบตามความคิดของเฮสิออด 26; โซลอนกับความคิดว่าด้วยกำลังอำนาจ กฎหมาย และการปกครอง 31; ความคิดทางปรัชญาในระยะก่อตัว 37; ความขัดแย้งระหว่างกฎหมายของเทพเจ้ากับกฎหมายมนุษย์ในบทละครของโซโฟคลีส 46

บทที่ ๒ นิติปรัชญาโสฟิสต์

โพรทากอรัส 56; กอร์เจียส, คัลลิคลีส และทราซีมาคัส 62; ฮิปปิอัส, แอนติฟอน, ไลโคฟรอน และอัลซิดามัส 64

บทที่ ๓ กฎหมายและความยุติธรรม : ว่าด้วยปรัชญาของโสคราตีส เพลโต และอาริสโตเติล

โสคราตีส ความเป็นไปแห่งชีวิต 67; ความคิดพื้นฐานทางปรัชญา 69; คำสอนเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรม 72; ปัญหาทางนิติปรัชญาในคดีโสคราตีส 74; เพลโต ความเป็นไปแห่งชีวิต 78; ทฤษฎีความรู้และคำสอนว่าด้วยแบบ 80; คำสอนว่าด้วยรัฐและกฎหมาย 84; อาริสโตเติล ความเป็นไปแห่งชีวิต 90; รากฐานความคิดทางปรัชญา 91; ความคิดในทางจริยศาสตร์ 93; คำสอนว่าด้วยรัฐ 96; คำสอนว่าด้วยกฎหมายและความยุติธรรม 97; ปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย 100

บทที่ ๔ นิติปรัชญาสโตอิกและนิติศาสตร์โรมัน

แนวความคิดพื้นฐานของปรัชญาสำนักสโตอิก 103; ซิเซโร ความเป็นไปแห่งชีวิต 106; คำสอนเกี่ยวกับกฎหมายนิรันดรและกฎหมายธรรมชาติ 107; คำสอนว่าด้วยมนุษย์และรัฐ 116; ซิเซโรกับบทบาททางกฎหมายในอาณาจักรโรมัน 117; ความสำคัญของซิเซโร 118; วิชานิติศาสตร์โรมันกับกฎหมายธรรมชาติ 119

บทที่ ๕ นิติปรัชญาสมัยกลาง

นักบุญออกัสติน ความเป็นไปแห่งชีวิต 131; ข้อพิจารณาทั่วไปเกี่ยวกับความคิดทางปรัชญา 132; คำสอนว่าด้วยกฎหมาย 134; คำสอนว่าด้วยรัฐ 139; อิทธิพลของคำสอนกับการเกิดขึ้นและพัฒนาการของทฤษฎีดาบสองเล่ม 142; อิบนฺ รุชด์ หรือ อแวร์โรอีส ชีวประวัติสังเขป 147; ลักษณะสำคัญของกฎหมายอิสลาม 148; ทัศนะเกี่ยวกับกฎหมายและการปกครอง 150; ความสำคัญของอแวร์โรอีส 152; นักบุญโทมัส อไควนัส ความเป็นไปแห่งชีวิต 152; ข้อพิจารณาเกี่ยวกับฐานความคิดทางปรัชญา 156; คำสอนว่าด้วยรัฐและรูปแบบของรัฐ 158; ทฤษฎีกฎหมายและลำดับชั้นของกฎหมาย 162; คำสอนว่าด้วยความยุติธรรม 171; ความสำคัญของโทมัส อไควนัส 174; จอห์น ดันส์ สโกตัส ความเป็นไปของชีวิต 174; คำสอนว่าด้วยเจตจำนงของพระเจ้า 175; legislator aeternus และประเภทของกฎหมาย 176; อำนาจในการตรากฎหมายและการตระเตรียมแนวความคิดให้สำนักกฎหมายบ้านเมือง 178; วิลเลียมแห่งออคคัม ความเป็นไปแห่งชีวิต 180; ทัศนะพื้นฐานทางปรัชญาและเทววิทยา 182; คำสอนว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติ 184; มาร์ซิลิอุสแห่งปาดัว ความเป็นไปแห่งชีวิต 190; ความหมายของกฎหมายในบริบทของการแยกอำนาจศาสนจักรออกจากอำนาจอาณาจักร 191; ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายพระเจ้ากับกฎหมายมนุษย์ 194

บทที่ ๖ นิติปรัชญาช่วงรอยต่อระหว่างสมัยกลางและสมัยใหม่

มาร์ติน ลูเทอร์ ความเป็นไปแห่งชีวิต 198; ความคิดพื้นฐานทางปรัชญาและเทววิทยา 202; คำสอนเกี่ยวกับกฎหมาย 204; นิกโกเลาะ มาเคียแวลลี ความเป็นไปแห่งชีวิต 207; ทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์และวัฏจักรการปกครอง 209; คุณลักษณะของผู้ปกครอง 213; ข้อพิจารณาคำสอนในทางนิติปรัชญา 216

บทที่ ๗ นิติปรัชญาสมัยใหม่ (ช่วงแรก)

ฌอง โบแดง ความเป็นไปแห่งชีวิต 219; ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตย 222; ข้อจำกัดของอำนาจในการตรากฎหมายขององค์อธิปัตย์ 224; อิทธิพลทางความคิด 227; ฮูโก โกรเชียส ความเป็นไปแห่งชีวิต 229; ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ 233; ความสัมพันธ์ของกฎหมายประเภทต่างๆ และวิธีการสืบสาวกฎหมายธรรมชาติ 238; สิทธิปฏิเสธกฎหมายและอำนาจรัฐ 240; กฎหมายธรรมชาติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 242; โทมัส ฮอบส์ ความเป็นไปแห่งชีวิต 243; รากฐานความคิดทางปรัชญาและวิธีการ 248; สภาวะธรรมชาติ สิทธิตามธรรมชาติ และกฎหมายธรรมชาติ 250; สัญญาประชาคมในฐานะที่เป็นสัญญาสวามิภักดิ์ 254; ความสัมพันธ์ระหว่างรัฏฐาธิปัตย์กับพลเมือง 255; อิทธิพลทางความคิด 258; ซามูเอล พูเฟนดอร์ฟ ความเป็นไปแห่งชีวิต 259; ความคิดพื้นฐานว่าด้วยโลกทางกายภาพและโลกทางศีลธรรม 261; คำสอนว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติและทฤษฎีกฎหมาย 264; คำสอนว่าด้วยรัฐ 267; อิทธิพลของพูเฟนดอร์ฟ 270

บทที่ ๘ นิติปรัชญาสมัยใหม่ (ช่วงหลัง)

จอห์น ล็อค ความเป็นไปแห่งชีวิต 273; สภาวะธรรมชาติและสัญญาประชาคม 276; หลักการพื้นฐานในการปกครองและการแบ่งแยกอำนาจ 281; สิทธิมนุษยชนและสิทธิปฏิวัติ 286; อิทธิพลทางความคิด 289; มงเตสกิเออ ความเป็นไปแห่งชีวิต 291; ทัศนะต่อกฎหมาย 294; คำสอนเกี่ยวกับรูปแบบของการปกครอง 298; หลักการแบ่งแยกอำนาจ 299; คริสเตียน โทมาซิอุส ความเป็นไปแห่งชีวิต 305; คำสอนว่าด้วยลักษณะของกฎหมาย 307; คริสเตียน โวลฟ์ ความเป็นไปแห่งชีวิต 312; เนื้อหาของกฎหมายธรรมชาติและการสืบสาวหลักกฎหมายจากกฎหมายธรรมชาติ 316; โวลฟ์กับคลื่นความคิดในการทำประมวลกฎหมาย 320; ฌอง-ฌากส์ รูสโซ ความเป็นไปแห่งชีวิต 321; แนวความคิดเกี่ยวกับสภาวะธรรมชาติ 323; ทัศนะเกี่ยวกับรัฐ กฎหมายธรรมชาติ และกฎหมายบ้านเมือง 326; ทัศนะเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม 331

บทที่ ๙ นิติปรัชญาปลายศตวรรษที่ ๑๘ และนิติปรัชญาในศตวรรษที่ ๑๙

อิมมานูเอล ค้านท์ ความเป็นไปแห่งชีวิต 334; แนวความคิดพื้นฐาน 339; ความเป็นและความควรจะต้องเป็น 343; กฎศีลธรรมของค้านท์ 346; การแยกกฎหมายออกจากศีลธรรม 352; กฎหมายบ้านเมืองกับกฎหมายแห่งเหตุผล 355; คำสอนว่าด้วยรัฐ 356; ค้านท์กับพัฒนาการในทางนิติปรัชญา กฎหมายและรัฐ 357; เกออร์ก วิลเฮล์ม ฟรีดริค เฮเกิล ความเป็นไปแห่งชีวิต 359; ความคิดพื้นฐาน 362; แนวความคิดทางนิติปรัชญาและรัฐปรัชญา 367; ฟรีดริค คาร์ล ฟอน ซาวิญญี่ ความเป็นไปแห่งชีวิต 372; แนวความคิดพื้นฐานของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ 375; แนวความคิดว่าด้วยจิตวิญญาณประชาชาติในฐานะที่เป็นบ่อเกิดของกฎหมาย 377; อิทธิพลของซาวิญญี่ 383; เจอเรมี เบนแธม และจอห์น ออสติน 384; เจอเรมี เบนแธม กับแนวความคิดอรรถประโยชน์นิยม 384; ทฤษฎีคำสั่งของจอห์น ออสติน 390; ชีวิตและงาน 390; ประเภทของกฎและสารัตถะของกฎหมาย 392; ความสำคัญของทฤษฎี
คำสั่งและข้อวิจารณ์ 395; อิทธิพลทางความคิดของทฤษฎีคำสั่ง และข้อวิจารณ์ในประเทศไทย 398; คาร์ล มาร์กซ์ ความเป็นไปแห่งชีวิต 405; รากฐานความคิดทางปรัชญา 411; พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมและการทำลายสังคมทุนนิยม 414; วัตถุนิยมประวัติศาสตร์กับกฎหมาย 418; แนวความคิดของมาร์กซ์และผลในทางปฏิบัติ 421

บทที่ ๑๐ นิติปรัชญาในศตวรรษที่ ๒๐

กุสตาฟ ร้าดบรุค ความเป็นไปแห่งชีวิต 428; แนวความคิดพื้นฐาน: กฎหมายในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม 434; ความขัดแย้งของคุณค่าอันเป็นมโนคติแห่งกฎหมายและสูตรของร้าดบรุค 440; การนำสูตรของ
ร้าดบรุคมาใช้ในทางปฏิบัติ 446; ข้อวิจารณ์สูตรของร้าดบรุค 454; ฮันส์ เคลเซ่น ความเป็นไปแห่งชีวิต 457; ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ 464; การแยก “นิติศาสตร์” ออกจาก “นิตินโยบาย” 467; การแยก “นิติศาสตร์” ออกจาก “วิทยาศาสตร์” 469; การแยก “กฎหมาย” ออกจาก “ศีลธรรม” 471; การแยก “กฎหมายบ้านเมือง” ออกจาก “กฎหมายธรรมชาติ” 473; คำสอนว่าด้วยบรรทัดฐานขั้นมูลฐาน 475; ข้อวิจารณ์ทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ 482; เอช. แอล. เอ. ฮาร์ท ความเป็นไปแห่งชีวิต 485; แนวความคิดและคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย 487; กฎหมายกับคำสั่งที่เป็นการข่มขู่และการข้ามพ้นทฤษฎีคำสั่ง 489; กฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิ 494; ข้อวิจารณ์ต่อทฤษฎีว่าด้วยกฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิ 502; ข้อวิจารณ์แนวความคิดของฮาร์ทโดยโรนัลด์
ดวอร์กิ้น 504

บรรณานุกรม
ดัชนี