สัจนิยมมหัศจรรย์
ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย
โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559
ปกอ่อน 250 บาท
ปกแข็ง 350 บาท
คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์
. . . ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์นั้น คือการที่โลกสองประเภท คือโลกแห่งความเป็นจริง และโลกแห่งความมหัศจรรย์ ดำรงอยู่คู่กันและดำเนินไปภายใต้ตรรกะชุดเดียวกัน จนในท้ายที่สุดเราไม่สามารถจำแนกได้ว่าอะไรคือ “ความเป็นจริง” และอะไรคือ “ความมหัศจรรย์” (น. 26)
ข้อความข้างต้นในหนังสือเล่มนี้ สรุปสาระอันเป็นหัวใจของสัจนิยมมหัศจรรย์ในฐานะแนวทางหนึ่งของงานวรรณกรรมไว้ได้อย่างกระชับ ชัดเจน และน่าสนใจ น่าสนใจในแง่ที่ว่า นอกจากจะเป็นการให้นิยามที่ดูเป็นเรื่องทางกลวิธีหรือทางเทคนิคแล้ว สิ่งที่กำกับมาด้วยกันกับคำอธิบายในทางกลวิธี คือนิยามในทางปรัชญาและ/หรืออุดมการณ์
หรือถ้าจะพูดให้ฟังดูแปร่งหูกว่านั้น ก็อาจเรียกมันว่านิยามในทางการเมือง
ทำไมหนังสือวิชาการวรรณกรรมจะต้องทำหน้าที่ถึงเพียงนั้น ดิฉันอยากจะเสนอว่า เรา – อันหมายถึงสังคมการอ่านของไทย ควรจะได้เริ่มทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังเสียทีว่า แนวทางหนึ่งๆในทางวรรณกรรมนั้น กำเนิดมาจากพื้นฐานทางอุดมการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ เพียงแต่ว่าเมื่อเรามักเป็นฝ่าย “รับ” มาจากโลกตะวันตก หรือภูมิภาคใดก็ตาม เรามักรับมาราวกับแฟชั่นเสื้อผ้าอาภรณ์ (ที่เอาเข้าจริงก็อาจมีอุดมการณ์กำกับอยู่เหมือนกันก็ได้) ที่มีการผลัดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเราก็เพียงแต่วิ่งตามให้ทันว่าอะไรคือแบบใหม่ล่าสุด แล้วพยายามจะสวมทับลงให้ได้ในสรีระแบบไทยๆ ของเรา
แท้จริงแล้วแต่ละแนวทางวรรณกรรมมี “กำพืด” ของมัน และในหลายกรณีนั้นก็เพื่อคัดง้างกับอุดมการณ์ของอีกกำพืดที่มาก่อนหน้า ฉะนั้นการที่เพียงแต่จะมาคาบคัมภีร์ง่ายๆว่าในทางเทคนิควิธีมีกฎเกณฑ์อย่างไร ราวกับท่องแผนผังฉันทลักษณ์บทร้อยกรองของไทย (ที่เอาเข้าจริงก็น่าจะมีการสำรวจเสียทีว่าที่กำหนดให้จำนวนคำเท่านี้ เสียงเอก เสียงโทตรงนั้น ครุ ลหุตรงนี้ กำหนดมาโดยผู้ที่ผ่านการหล่อหลอมขัดเกลาด้วยประสบการณ์และรสนิยมการอ่านแบบใด ในแถบถิ่นภูมิภาคและในท่ามกลางช่วงชั้นไหนของสังคม) จะไม่มีวันทำให้เราเข้าถึงหัวใจของมันได้
ไม่ว่าในฐานะผู้สร้างหรือผู้เสพ
ลองดูอีกย่อหน้าก็ได้
คำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” ก็บอกอยู่ในตัวว่าคือการหลอมรวมเข้าด้วยกันของวรรณกรรมสองประเภทที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือ คำว่า “realism” นั้นอ้างอิงถึงวรรณกรรมแนวสัจนิยมที่มุ่งถ่ายสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตและสังคมโดยยึดหลักความเหมือนจริงและความสมจริง . . . ที่เริ่มขึ้นในโลกตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 18-19 . . . จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผลตามแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในแนวปฏิฐานนิยม . . . ส่วนคำว่า “magic” นั้นอ้างอิงไปถึงวรรณกรรมแนวแฟนตาซีเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเหนือจริง ที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มักพบได้โดยทั่วไปในงานวรรณกรรมพื้นบ้านหรือตำนานท้องถิ่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง “สัจนิยม” มีนัยประหวัดไปถึงยุโรป ชนชั้นกลาง และหลักเหตุผลนิยม ขณะที่ “มหัศจรรย์” มีนัยประหวัดไปถึง “โลกที่สาม” ชาวบ้าน และความเชื่อที่ถูกมองว่างมงาย (น.20)
นั่นเป็นเพียงขั้นแรกที่จะแหวกทางเพื่อเปิดพื้นที่ เพราะอีกสิบสี่หน้าผ่านไป ก็ชี้ว่า
วรรณกรรมแนวนี้กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคลางแคลงใจกับ “ความจริง” สำเร็จรูปที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม ทั้งนี้มิใช่เพราะวรรณกรรมแนวนี้ไม่เชื่อในความจริง (ดังที่คนบางคนเข้าใจอย่างผิดๆ) แต่เพราะในโลกยุคหลังสมัยใหม่ ความจริงนั้นสลับซับซ้อนและยอกย้อนเกินกว่าที่เราจะด่วนสรุปโดยไม่สงสัยไต่ถาม . . . ในท้ายที่สุด วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ คือการวิพากษ์อุดมการณ์แบบกระฎุมพีที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมสัจนิยม และปฏิเสธโลกทรรศน์แบบฝันเฟื่องที่มากับตำนานพื้นบ้าน (น.34)
หนังสือเล่มนี้ยังสาธิตอีกว่า เมื่อแนวทางนี้ถูกนำไปใช้ในแต่ละพื้นที่ที่มีโจทย์เฉพาะของตน ก็ปรับแปลงขั้นต่อไปเพื่อให้ตอบสนองอุดมการณ์เฉพาะตนเพื่อต่อสู้กับปัญหาเฉพาะตนอย่างไร ไม่ว่าจะในโลกแบบไพร่ๆ (หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว) หรือโลกแบบทาสๆ (Beloved) จนมาถึงโลกแบบไทยๆ ที่ดูจะก้ำกึ่งระหว่างทั้งสองอย่างนั้น
เมื่อได้อ่านจนครบทุกย่อหน้าในเล่มนี้ ดิฉันหวังใจว่าเราจะไม่ไพล่ไปเข้าใจว่านี่คือทางออกที่สถาปนาแล้วสำหรับวรรณกรรมไทย ตรงกันข้าม มันควรทำให้เราได้ตระหนักว่าวรรณกรรมแนวทางอื่นๆ ก็มีอุดมการณ์และพลวัตของมันเช่นกัน มันเป็นเรื่องทางอุดมการณ์ล้วนๆว่าแนวทางไหนจะตอบโจทย์ใดได้อย่างมีพลัง ถ้าเราจับหัวใจของมันได้
วรรณกรรมศึกษาจะมีความหมายก็ตรงนี้ และหนังสือเล่มนี้ก็ได้สาธิตให้เห็นอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว
—————–
หมายเหตุจากผู้เขียน / ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของผมสามารถสืบย้อนกลับไปตั้งแต่ได้อ่านนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นครั้งแรกในสมัยที่เรียนวิชาวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก สอนโดยอาจารย์วิภาศรี สมิทธิพงศ์ ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมยังจดจำได้ถึงความตื่นตาตื่นใจที่ได้ค้นพบโลกอันน่ามหัศจรรย์ชวนพิศวงสนเท่ห์ของเมืองมาคอนโด เป็นความรู้สึกที่ฝังใจยาก
ลืมเลือน จนเป็นเหตุให้ต้องการค้นคว้าศึกษาถึงที่มาที่ไปและนัยยะของวรรณกรรมแนวนี้
ผมขอขอบคุณสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนให้ผมได้เข้าร่วมอบรมโครงการ Study of the US Institute (SUSI) ในหัวข้อ Contemporary American Literature ที่มหาวิทยาลัยหลุยส์วิล รัฐเคนตักกี ในปี 2542 ที่เปิดโอกาสให้ผมได้สัมผัสกับงานของโทนี มอร์ริสัน และได้ไปเยือนสถานที่อันเป็นฉากหลังของนวนิยาย Beloved
หนังสือเล่มนี้เป็นการนำงานวิจัยสองชิ้นมาปรับปรุงแก้ไขและรวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สนใจวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ทั้งของไทยและเทศ ผมขอขอบคุณภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ที่อนุญาตให้ลาปลอดการสอนเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และโทนี มอร์ริสัน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การขยายผลไปสู่โครงการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ และทำความเข้าใจวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ไทย ผมขอขอบคุณคณะศิลปศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนทุนโครงการวิจัย “สัจนิยมมหัศจรรย์ไทย : วรรณกรรมทางเลือกและทางเลือกวรรณกรรม” ทั้งยังผ่อนปรนให้ส่งผลงานล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ เนื่องมาจากมหาอุทกภัยในประเทศไทยช่วงปี 2554 ที่ทำให้ผมได้สัมผัสความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์แบบไทยๆอย่างใกล้ชิดและถึงตัว นอกจากนี้ขอขอบคุณข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาอ่านงานวิจัยชิ้นนี้
บางส่วนของหนังสือเล่มนี้เคยตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารและนิตยสารต่างๆ กล่าวคือ “กาเบรียล การ์เซีย
มาร์เกซ กับการสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมอเมริกัน” ใน มติชนสุดสัปดาห์ (12 ตอน) ฉบับวันที่ 13 ม.ค.–30 มี.ค. 2555; “สัจนิยมมหัศจรรย์ไทยในคาถาภูมิปัญญาท้องถิ่น” ใน อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (เม.ย.– มิ.ย. 2555); “สัจนิยมมหัศจรรย์ สุนทรียศาสตร์ของการต่อต้านและการเมืองของเรื่องอัตลักษณ์” ใน รัฐศาสตร์สาร ฉบับครบรอบ 30 ปี (เล่ม 2) (ธ.ค.2555); “การแปรอุปมาให้เป็นความมหัศจรรย์และการแปรความมหัศจรรย์ให้เป็นอุปมา: กรณีศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ไทยและละตินอเมริกัน” ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (พ.ค.–ส.ค.2556) และ “โทนี มอร์ริสัน สัจนิยมมหัศจรรย์กับอัตลักษณ์แอฟริกันอเมริกัน” ใน มติชนสุดสัปดาห์ (10 ตอน) ฉบับวันที่ 14 ก.พ.-18 เม.ย.2557
หนังสือเล่มนี้สำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยอาศัยความช่วยเหลืออย่างแข็งขันของผู้ช่วยวิจัยสองท่าน คือ คุณทิวมาส
วุฒิธนากรกุล และ คุณสมิทธ์ ถนอมศาสนะ คอยเป็นธุระช่วยค้นคว้าเอกสารข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของสัจนิยมมหัศจรรย์ไทย และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ คณะบรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่าน คือ คุณไอดา
อรุณวงศ์ และคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ที่ช่วยตั้งข้อสังเกต ให้ข้อเสนอแนะอันมีค่า ทั้งยังช่วยตรวจทานต้นฉบับและปรับแก้ภาษาอย่างพิถีพิถัน
และที่จะขาดเสียมิได้ก็คือรองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศสผู้ล่วงลับ
ผู้ซึ่งได้ช่วยกรุณาบัญญัติคำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” ให้ผมเมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่ผมเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับวรรณกรรมแนวนี้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ จนกระทั่งศัพท์บัญญัตินี้เป็นคำที่ได้รับการยอมรับและใช้กันโดยทั่วไปในวงการวรรณกรรมศึกษา
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
11 กุมภาพันธ์ 2559