นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 1

 

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 1
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 8 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2560
248 หน้า ราคา 250 บาท
ISBN 978-616-7158-66-2

มายเหตุสำนักพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เป็นงานของคุณอัศนี พลจันทร หรือ “นายผี” ในกลุ่มเรื่องสั้น/เรื่องแต่งที่ไม่ได้ใช้รูปแบบกาพย์กลอนในการนำเสนอ สำนักพิมพ์อ่านได้รวบรวมขึ้นมาจากงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
สยามนิกร, การเมืองรายสัปดาห์, มหาชนรายสัปดาห์, สยามสมัยรายสัปดาห์, ปิยมิตรวันจันทร์ และนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น ในระหว่าง พ.ศ. 2489-2503 โดยผู้เขียนใช้นามปากกาต่างๆ กัน คือ “กุลิศ อินทุศักดิ์”, “กุลิศ อินทุศักติ”, “อินทรายุธ”, “ศรี อินทรายุธ”, “อำแดงกล่อม” และ “หง เกลียวกาม” เท่าที่รวบรวมได้ล่าสุดมีงานรวมทั้งสิ้น 39 เรื่อง (ในจำนวนนี้มีเรื่องสั้นแปล 2 เรื่อง) จึงนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในลำดับที่ 8 และ 9 ในโครงการอ่านนายผี

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้รวบรวมจัดพิมพ์งานในกลุ่มเรื่องสั้นของคุณอัศนีมาแล้วในลักษณะคัดสรร เช่น พระเจ้าอยู่ที่ไหน รวมบทกวี เรื่องสั้น เรื่องแปลของนายผี (อัศนี พลจันทร) พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2519 โดยสำนักพิมพ์กระแสธาร และ คำตอบนั้นอยู่ที่ไหน? ซึ่งเป็นงานรวมเรื่องสั้น 11 เรื่องจาก สยามสมัย กับอีก 1 เรื่องจาก อักษรสาส์น คือ “สัมไป ฮาตี” พิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยชมรมโดมทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสำนักพิมพ์กำแพงได้จัดพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2533 ในชื่อเดียวกัน โดยคัดเลือกไว้เฉพาะเรื่องสั้นจาก สยามสมัย กับเพิ่มเรื่องสั้นอีก 4 เรื่อง รวมเป็น 15 เรื่องด้วยกัน หลังจากนั้นในปี 2541 สำนักพิมพ์สามัญชนได้จัดพิมพ์ รวมเรื่องสั้น “นายผี”: อัศนี พลจันทร โดยได้เพิ่มเติมเรื่องสั้นที่พบใหม่เข้าไป หนังสือจึงมีเรื่องสั้นรวมทั้งสิ้น 19 เรื่อง

ในการจัดพิมพ์ นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับต้นฉบับงานพิมพ์ดีด และสำเนางานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะงานในช่วง พ.ศ. 2489-2490 มาจากคุณวิมลมาลี พลจันทร
บุตรสาวของคุณอัศนี และคุณวิมล พลจันทร ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับและผลงานของคุณอัศนีไว้ นอกจากนั้น เรายังได้รับนิตยสาร อักษรสาส์น ฉบับปีที่ 1 (เม.ย 2492-มี.ค. 2493) จำนวน 12 เล่ม มาจากคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว อีกทั้งสำเนาไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ การเมือง ระหว่าง พ.ศ. 2489-2492 จำนวน 15 ฉบับจากคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ ซึ่งสืบค้นมาจากหอสมุด Australian National University และสำเนาไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ มหาชน ของปี 2490-2491 จำนวน 72 ฉบับ ซึ่งคุณไอดา อรุณวงศ์ สืบค้นมาจากหอสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนลในระหว่างเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” เมื่อปลายปี 2555 ส่วนที่นอกจากนี้ เราได้สืบค้นจากหอสมุดต่างๆ ภายในประเทศ ทำให้ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เรารวบรวมงานกลุ่มเรื่องสั้นของคุณอัศนีมาได้ถึง 39 เรื่องด้วยกัน

เกี่ยวกับชื่อหนังสือชุด นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร นี้ สำนักพิมพ์อ่านมีเหตุผลสองประการในการนำ “นิทานการเมือง” มารวมไว้ในชื่อหนังสือชุดนี้ด้วย กล่าวคือ หนึ่ง ในระหว่างสืบค้นต้นฉบับ เราพบว่ามีงานที่ตีพิมพ์ภายใต้คอลัมน์ “นิทานการเมือง” สี่เรื่องด้วยกัน คือ “เด็กกับผู้ใหญ่” (การเมือง, 27 ธ.ค. 2490), “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” (มหาชน, 27 มิ.ย. 2491), “การปฏิวัติที่ห่าม” (การเมือง, 30 ต.ค. และ 13 พ.ย. 2491) และ “กาเซะห์ ซายังเซียม!” (การเมือง, 22 พ.ค. 2492) คอลัมน์ดังกล่าวพบเป็นครั้งคราวทั้งในหนังสือพิมพ์การเมือง โดยมีผู้เขียนหลายคนสลับกันเสนอความเห็นในเรื่องการเมืองด้วยรูปแบบของเรื่องเล่า เช่น เพทาย โชตินุชิต เขียน “รัฐธรรมนูญปลาด” (การเมือง, 20 ธ.ค. 2490), “คนธรรพ์” เขียน “จอมพลกับสังฆราช” (การเมือง, 15 ม.ค. 2492), ณัฐวุฒิ
สุทธิสงคราม เขียน “ทหาร:โจร” (การเมือง, 19 พ.ย. 2492) เป็นต้น คุณอัศนีเองก็เขียนเรื่องเล่าในคอลัมน์ “นิทานการเมือง” นี้ โดยหลังจากเรื่อง “เด็กกับผู้ใหญ่” ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพียงหนึ่งเดือน เขาก็ใช้ตัวละคร กุลิศ อินทุศักดิ์ ที่เคยสร้างไว้ในงานเรื่องสั้นในปี 2489 กับตัวละครฟาตีมะห์ที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นตัวเดินเรื่องในนิทานการเมืองเรื่อง “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” เพื่อวิจารณ์การเมืองไทยโดยเปรียบเทียบกับโลกมลายูภาคใต้ และตัวละครทั้งสองนี้ยังเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องสั้นอีก 7 เรื่อง ขณะที่แนวเรื่องจะขยายมาสู่แนวอิงประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย

สอง หากพิจารณาอายุของงานกลุ่มเรื่องสั้นนับตั้งแต่ชิ้นแรก คือ “ทิวาราตรีที่พระตะบอง” (สยามนิกร, ส.ค. 2489) จนถึงเรื่องสุดท้าย คือ “จางวางขุยตายเพราะใคร” (ปิยมิตรวันจันทร์, ก.ค. 2503) จะพบว่าเรื่องแรกที่สุดนั้นตีพิมพ์เมื่อ 71 ปีก่อน ส่วนเรื่องสุดท้ายก็มีอายุ 57 ปีแล้ว แต่เนื่องจากคุณอัศนีเขียนงานเหล่านี้ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2490 จนถึงหลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในปี 2501 เล็กน้อย ในแง่หนึ่งเราจึงอาจอ่านงานชุดนี้พร้อมกับดูว่าคุณอัศนีเขียนถึงสังคมและการเมืองในช่วงดังกล่าวไว้อย่างไรบ้างหรือไม่ หลังจากที่เราได้เห็นการทำงานของเขามาแล้วใน กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม การตั้งชื่อหนังสือ นิทานการเมืองและเรื่องสั้น
ของอัศนี พลจันทร ในที่นี้ จึงเป็นการยืนยันสปิริตการทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของคุณอัศนีนั่นเอง

การจัดพิมพ์ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้กลับไปใช้ต้นฉบับงานตีพิมพ์ครั้งแรก (เท่าที่สืบค้นได้) เป็นต้นร่างในการชำระต้นฉบับ เรื่องสั้นที่พบต้นฉบับหรือสำเนางานตีพิมพ์ครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์ต่างๆ เราพยายามรักษาการสะกดคำ รวมทั้งเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ไว้ตามต้นฉบับเดิม ส่วนงานที่ไม่สามารถสืบค้นต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก เราได้อาศัยงานที่มีผู้จัดพิมพ์ก่อนหน้านี้เป็นต้นร่างและเปรียบเทียบกับฉบับตีพิมพ์แต่ละครั้งเพิ่มเติม ดังนั้นคำบางคำจึงอาจสะกดแบบหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง แต่สะกดต่างไปในอีกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งรูปคำที่พบก็อาจแปลกตาและไม่ตรงตามพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน เช่น กะสุน, กะซิบ, กำพืช, ขอบเขตต์, ขะโมย, จิตต์ใจ, ชะวา, นิสสัย, นาฑี, บันทุก, ประสพ, ประชาธิปตัย, ปลาด, ปอร์ตุเกศ, ปฏิปักข์, พากพูม, ศีร์ษะ, สพาน, สอาด, อิศรภาพ, อิสสรภาพ, โอกาศ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเก็บร่องรอยรูปแบบภาษาที่ใช้กันตามยุคสมัยไว้ และเพื่อให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นเรื่องปกติและขึ้นอยู่กับผู้ใช้ภาษา คือคนส่วนใหญ่ของสังคม

นอกจากนั้น เรื่องสั้นบางเรื่องซึ่งในระหว่างสืบค้นต้นฉบับพบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เราก็ได้ทำหมายเหตุท้ายเรื่องไว้ คือ “เจ้าขุนทอง”, “สัมไป ฮาตี” และ “บริการบ้านเช่า”

การเรียงลำดับเรื่อง เราได้จัดเรียงไปตามเวลาการตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2489-2503 แต่เพื่อให้แนวเรื่องอยู่เป็นหมวดหมู่และมีความต่อเนื่องในการอ่าน จึงได้นำเรื่องเกี่ยวกับโลกมลายูที่มีกุลิศ อินทุศักดิ์ กับฟาตีมะห์เป็นตัวละครมารวมไว้ในเล่มแรก แล้วปิดท้ายด้วยงานแปลเรื่องสั้นของราษิท ชาหัน ส่วนเล่มที่สองนั้นเป็นงานเขียนในยุค สยามสมัย และ ปิยมิตรวันจันทร์ ทั้งหมด

อนึ่ง เนื่องจากสำเนาไมโครฟิล์มงานตีพิมพ์บางเรื่องอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถอ่านข้อความในบางจุดได้ ในหนังสือเล่มนี้จึงใช้เครื่องหมาย […] เพื่อแสดงว่าเป็นข้อความที่ตกหล่นในต้นฉบับซึ่งไม่สามารถอ่านได้ ส่วนการระบุวันเดือนปีที่ตีพิมพ์นั้น มีอยู่ท้ายเรื่องแต่ละเรื่องและได้ทำเป็นรายการต่างหากไว้ที่ท้ายเล่มอีกด้วย กรณีงาน
ตีพิมพ์ใน สยามสมัย นั้น เป็นที่น่าเสียดายว่าไมโครฟิล์มงานส่วนนี้ในหอสมุดแห่งชาติชำรุดจนไม่อาจเรียกดูได้อีก จึงได้แต่อาศัยงานตีพิมพ์รวมเล่มดังที่กล่าวแล้วข้างต้นมาเป็นต้นร่างและอ้างอิงวันเดือนปีที่ตีพิมพ์ (จากการสอบถามข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ เราได้ทราบว่าไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์เก่าในหอสมุดแห่งชาติจำนวนหนึ่งชำรุดจนไม่สามารถอ่านได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศซึ่งจำเป็นสำหรับการเก็บรักษาโสตทัศนวัสดุต่างๆ นี่นับเป็นตลกร้ายอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถถังและเรือ
ดำน้ำได้อย่างมหาศาล) ส่วนกรณีงานตีพิมพ์ในปิยมิตรวันจันทร์ ปี 2501 นั้น ยิ่งเป็นที่น่าเสียดายและน่าเศร้าใจ เนื่องจากต้นฉบับเย็บรวมเล่มในหอสมุดแห่งชาติไม่มีหน้าปกหนังสือรวมอยู่ด้วย ทำให้ไม่สามารถระบุวันเดือนปี
ตีพิมพ์ครั้งแรกได้ เราจึงระบุแต่เพียงปีที่ตีพิมพ์ และได้เพิ่มเติมชื่อภาพปกที่ปรากฏอยู่ในปกรองไว้ เช่น “บริการบ้านเช่า” โดย “อินทรายุธ” ใน ปิยมิตรวันจันทร์ 2501 ปก “เลือกตั้งเสรีนิยม” เป็นต้น

สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว, คุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ, คุณวริศา กิตติคุณเสรี, คุณนุชจรี ใจเก่ง,
คุณบูฆอรี ยีหมะ และคุณสะรอนี ดือเระ ที่ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำในด้านต่างๆ ทำให้การจัดพิมพ์หนังสือชุดนิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี