น้ำป่า : บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียน
สุขุม เลาหพูนรังษี คำนำ
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คำตาม
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 500 บาท
ปกแข็ง ราคา 580 บาท
หมายเหตุจากสำนักพิมพ์
เนื่องจากงานเขียนนี้ ผู้เขียนต้องการคงฐานะของวรรณกรรมที่มาจากบันทึกความทรงจำ โดยรักษารูปความทรงจำนั้นไว้ ดังนั้นหากมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนจากความรับรู้ในปัจจุบันอย่างไร ก็จะใช้วิธีหมายเหตุเป็นเชิงอรรถไว้ เช่นกันกับที่จะไม่มีการแก้ไขเนื้อเพลงต่างๆ ที่มีการยกมากล่าวถึงในเนื้อเรื่องเล่า ทั้งนี้ มิใช่เพียงด้วยเหตุผลว่าบทเพลงส่วนหนึ่งนั้นอาจไม่สามารถหาแหล่งอ้่างอิงที่แน่นอนตายตัวได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือการจงใจปล่อยไว้ให้เป็นเสียงร้องในความทรงจำของผู้เขียน อาจถูก-ผิดจากต้นฉบับบทประพันธ์ดั้งเดิมอย่างไร แต่ขอให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่ามันถูกต้องตรงตามที่บันทึกไว้ในความทรงจำของเขา – ผู้เขียนความทรงจำครั้งนั้น และเขียนหนังสือเล่มนี้ ที่สำนักพิมพ์อ่านมีความยินดีที่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์
ต้นฉบับงานเขียนชิ้นนี้ มาถึงสำนักพิมพ์อ่านโดยที่ผู้เขียนได้ดำเนินการพร้อมสำหรับการจัดพิมพ์มาขั้นหนึ่งแล้ว คือมีการตรวจทานเนื้อหา ภาษา มีคำนำเสนออย่างดีโดยคุณสุขุม เลาหพูนรังษี และมีภาพประกอบในเนื้อเรื่อง ซึ่งวาดโดย “คุณประทีป รีบตามพรรค” และ “น้องญาดา” ดิฉันเพียงอาศัยคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ร่วมเป็นคณะบรรณาธิการต่ออีกขั้น และอาศัยทีมศิลปกรรมที่ร่วมงานกันมานาน คือคุณวิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ และ zerotwostudio มาช่วยกันทำให้พลังความหมายของตัวอักษรหลายร้อยหน้าแปรมาเป็นพลังลายเส้นนามธรรมบนปก
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังเสนอไว้ว่า ขอให้คุณชูศักด์ิ ภัทรกุลวณิชย์ เขียนคำนำด้วย แต่ครั้นเมื่อได้อ่านร่างที่คุณชูศักดิ์เขียนเสร็จ ดิฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็น “คำตาม” มากกว่า เพราะเป็นความครุ่นคำนึงอันชวนให้รู้สึกอึ้ง ที่เกิดขึ้นตาม (และที่เกิดขึ้นเสมอมากับดิฉันซึ่งถูกจัดให้เป็นคนรุ่น “ตาม”) หลังจากที่ได้ “อ่าน” ความทรงจำของเขาผู้นี้ที่เป็นผู้หนึ่งในผู้คนรุ่นนั้น ความทรงจำอันเกิดขึ้นจากการอ่านความทรงจำร่วมห้าร้อยหน้า ดิฉันไม่เห็นว่า
ตัวเองจะต้องเขียนคำนำสำนักพิมพ์ (ซึ่งปกติจะเขียนหลังสุด)เพิ่มมาอีกต่อไป ครั้นจะให้เป็น “คำนำตาม” ก็กระไร
จึงเพียงแต่หมายเหตุไว้เท่านี้
ไอดา อรุณวงศ์
คำนำผู้เขียน
ความจริงแล้วงานเขียนเรื่อง น้ำป่า นี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนถึงปลาย พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นการบันทึกประสบการณ์ของนักศึกษาคนหนึ่ง นามว่า สมพร จันทรชัย ที่ได้เดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาจนถึงวันนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วถึง 38 ปี เรื่องเล่าเชิงบันทึกเล่มนี้ มุ่งที่จะสะท้อนถึงความคิด ชีวิต อุดมการณ์และการต่อสู้ของนักศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว โดยถือว่า สมพร จันทรชัย คือตัวแทนของนักศึกษาหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย ที่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างสังคมใหม่อันดีงามให้เกิดขึ้นในประเทศไทย การเข้าร่วมการปฏิวัติและผ่านประสบการณ์ที่เป็นจริงในขบวนการ แม้อาจจะไม่ได้สวยงามตามที่วาดหวังไว้ แต่กระนั้น สมพรก็ต้องการจบเรื่องเล่าด้วยความหวังถึงสังคมใหม่ที่ยังคงอยู่อยู่ในใจ
ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 แต่เสร็จเพียงครึ่งเรื่อง แล้วทิ้งค้างไว้เพราะหน้าที่การงาน แต่ก็ยังคงทำบันทึกย่อเก็บไว้ จนถึง พ.ศ. 2538 ในปีนั้น ผู้เขียนไปอยู่ที่เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ คุณโคม บี 5 ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ได้เดินทางไปกรุงลอนดอน และได้ติดต่อกัน แต่ไม่มีโอกาสพบกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อคุณโคมกลับมาประเทศไทยก็ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้นปี พ.ศ. 2539 ผู้เขียนเดินทางไปประจำที่ประเทศโปรตุเกส และทราบข่าว ขณะนั้นมีเวลาว่างพอสมควร จึงได้ใช้เวลาเขียนเรื่องนี้จนเสร็จ แต่ก็เก็บไว้มิได้ตีพิมพ์ จนหลังจากคุณภูมิ บี 3 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2554 และคุณศรัทธา บี 3 ได้ขอต้นฉบับให้สำนักพิมพ์อ่านพิจารณา ผู้เขียนจึง
ตัดสินใจดำเนินการให้มีการตีพิมพ์บันทึกฉบับนี้
เนื่องจากเหตุการณ์ในเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นช่วงปลาย พ.ศ. 2519 จนถึง พ.ศ. 2520 การบรรยายฉากและบรรยากาศของเรื่อง จึงพยายามให้เป็นไปตามกรอบเงื่อนไขของสถานการณ์เมื่อ พ.ศ. 2520 ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก เพราะในขณะนั้นยังเป็นช่วงสงครามเย็น โลกคอมมิวนิสต์ยังไม่ได้ล่มสลาย และผู้คนในสมัยนั้นไม่มีทางรู้ล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ยังมีบทบาทและเกียรติภูมิสูงมาก เพราะเป็นความหวังแห่งการปฏิวัติไทย เหตุการณ์ในเรื่อง ได้เล่าถึงความขัดแย้งที่ไม่ได้คาดหมายกันมาก่อน คือเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับชาวนา และขยายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสหายนักศึกษากับฝ่ายนำ เหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะที่สหายสมพรผู้เขียนอายุได้ 21 ปี ยังมีความอ่อนหัดและความจำกัดอยู่หลายเรื่อง และนักศึกษาทั้งหลายก็แสดงบทบาทภายใต้ความอ่อนเยาว์เช่นนั้น จึงมีลักษณะของการประท้วง เฉื่อยงาน และประชด จนถึงขั้นความพยายามจะกินยาตาย ซึ่งทำให้ปัญหาลุกลามออกไป แต่ขณะเดียวกัน ในด้านของสหายฝ่ายนำที่เป็นชาวนาก็มีข้อจำกัดในทางโลกทัศน์ทางชนชั้นเช่นกัน ความพยายามในการแก้ไขปัญหาจึงดูอ่อนด้อย เช่น การจูงใจนักศึกษาโดยการจัดพิธีแต่งงาน เป็นต้น แต่ที่ฝ่ายสหายนักศึกษาและสหายชาวนาไม่ทราบคือ ความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระดับสากลและระดับประเทศ ที่จะนำมาสู่การล่มสลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยและขบวนการสังคมนิยมโลกในเวลาต่อมา
ดังนั้นเหตุการณ์ที่ดำเนินในเนื้อเรื่องจึงเป็นไปตามกรอบของยุคสมัย แม้ว่าต่อมาเมื่อมองเหตุการณ์ย้อนหลัง สหายสมพรก็ไม่ได้ประเมินคุณวุฒิ คุณประวัติ (สหายนำ) และสหายชาวนา เช่นในบันทึกนี้แล้ว แต่ในงานเขียนนี้ก็ตั้งใจจะคงความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นไว้
ในบันทึกเล่มนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณสหายร่วมอุดมการณ์ทุกคน ที่เป็นที่มาของตัวละครในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ คุณชาลี คุณวี คุณวัน คุณเย็นจิต คุณแก้ว คุณสมหวัง และคุณมิ่ง ที่ช่วยให้งานหนังสือเล่มนี้ปรากฏและลุล่วงไปด้วยดี ขอบคุณคุณประทีป ผู้วาดรูปประกอบ และขอบคุณ บาหยัน อิ่มสำราญ ที่ช่วยอ่านตรวจต้นฉบับ ขอบคุณย้อนไปถึงสหายชาวนาที่มีมิตรจิตรอันดี ขอบพระคุณพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลายเป็นฉากของเหตุการณ์ และขอบพระคุณประชาชนปฏิวัติจำนวนมากที่เสียสละชีวิตเพื่อปูทางสร้างสังคมใหม่ แม้ว่าเมื่อถึงวันนี้ อุดมการณ์อันดีงามจะยังไม่บรรลุ แต่ก็ได้ช่วยปูทางให้สังคมก้าวหน้าไปในทางที่ดีมากขึ้น ก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชนไทย
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ราษฎรบัณฑิต