วรรณคดีขี้สงสัย
โดย ปรามินทร์ เครือทอง
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 280 บาท
ปกแข็ง ราคา 380 บาท
คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์
วรรณคดีขี้สงสัย เล่มนี้ เกิดจากการคัดบทความที่คุณปรามินทร์ เครือทอง เขียนประจำคอลัมน์ “อ่านย้อนเกร็ด” ในวารสาร อ่าน ตั้งแต่ปี 2553-2557 จำนวน 11 ชิ้น มาตีพิมพ์รวมเล่ม และยังได้เพิ่มอีกหนึ่งบทความที่เขียนขึ้นใหม่เป็นบรรณาการแด่ผู้อ่านโดยเฉพาะสำหรับการพิมพ์รวมเล่มนี้ เบ็ดเสร็จทั้งสิ้นจึงเป็น 12 บทความอันว่าด้วยคำถามที่ล้วนหยุมหยิมไร้สาระโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับบางประเด็น บางตัวละคร ในวรรณคดีไทยบางเรื่อง
ถ้าไม่นับการสื่อสารแบบต่อปากต่อคำไม่เว้นวายอยู่เป็นระยะในจดหมายปะหน้ายามส่งต้นฉบับ โดยเฉพาะเมื่อบรรณาธิการเริ่มแซวว่างานเขียนของเขาชักจะสัปดนหรือบางคราวก็เข้าข่ายวิชากามเหลือเกินแล้วนะคะ (ก่อนที่เขายืนยันกลับมาด้วยน้ำเสียงทะเล้นอย่างแน่นหนักขึ้นไปอีกถึงความเป็น “วิชาการ” ในงานของเขา) แล้ว บรรณาธิการอย่างดิฉันและผู้อ่านที่มีหัวใจสามัญคนใดเล่าจะปฏิเสธได้ว่า, ไม่ว่าใครจะถือว่าเป็น “วิชาการ” หรือไม่, นี่คืองานเขียนเกี่ยวกับวรรณคดีไทยที่ท้าทาย บุกเบิก ประเทืองอารมณ์และปัญญา อย่างหาได้ยาก หาได้ยากในความง่าย ในความสามัญ ในความเป็น “บ้านๆ” แต่เข้มข้นในความขบขันและความเอาจริงเอาจัง ที่ท้าทายสถานะอันขรึมขลังของวงวรรณคดีไทยได้อย่างถึงกึ๋น
จะว่าเป็นเพราะลีลาเฉพาะตัวในการเขียนของเขาก็คงใช่ แต่ที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ลำพังการทำให้วรรณคดีไทยเป็นสิ่งที่เข้าถึงและเสพรับได้อย่างที่มันควรจะเป็น ก็ถือเป็นการท้าทายทางวิชาการ/หลักการ ต่อวงการวรรณคดีไทยไปได้โสดใหญ่โสดหนึ่งแล้ว
การทำเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป และในกรณีนี้ ถือเป็นความง่ายอันสมแก่กาละเทศะและฐานานุรูปของความเป็นวรรณคดีไทยอย่างยิ่ง แค่ลำพังการลดทอนความยกตนอันรุงรังที่ฝังแน่นอยู่ในภาวะอันศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นไทย ที่นักวรรณคดีไทยส่วนใหญ่นำไปฝากฝังสักการะกันไว้ ก็ทำให้เราเหล่าสามัญชนช่วงชิงสมบัติอันเป็นสามัญ/สาธารณ์ (common) ของเรากลับคืนมาได้แล้ว
เพราะความสามัญ คือฐานะอันประหลาดที่วงวรรณคดีไทยไม่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกำพืดและกมลสันดาน
การ “สงสัย” ว่าพระนเรศวรใส่รองเท้าหรือไม่ วันทองขี่ม้าท่าไหน เจ้าฟ้ากุ้งนั่งเรือลำใด หรือพระอภัยมณีกับ
นางเงือก..เอ่อ..ยังงั้นกันยังไง คือการทำให้วรรณคดีไทยเหล่านี้ได้มีฐานะทัดเทียมวรรณคดีคลาสสิคของชาติอื่นๆ เขาเสียที ฐานะอย่างที่งานเขียนของเชคสเปียร์, โฟล์คเนอร์, วูล์ฟ, จอยซ์ ฯลฯ เขามีกันตลอดมา นั่นคือฐานะของงานศิลปะที่มีชีวิต เลือดเนื้อ – อย่างสามัญ
ในบริบทของสัญชาติอื่น การนำมุมมองใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ มารื้อ มาสับ มาทึ้ง มาตั้งคำถามอันลึกซึ้งต่องานเขียนคลาสสิคได้ ถือเป็นความท้าทายอันก้าวหน้า แต่ในบริบทของสัญชาติไทย การทดลองเหล่านั้นหากยังคงดำเนินไปภายใต้กรอบของการบูชาอย่าง “ไทยๆ” คนอ่านสามัญอย่างดิฉันคนหนึ่งนี่ล่ะ ที่ไม่อาจจะถือว่ามันเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใดเลย
ในฐานะบรรณาธิการวารสาร อ่าน และสำนักพิมพ์อ่าน ดิฉันขอขอบคุณ คุณปรามินทร์ เครือทอง ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาในการพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้อันหลากหลายทางวิชาการในครั้งนี้ และขอขอบคุณ อ. วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ที่ช่วยสร้างสรรค์ภาพประกอบไว้ในสปิริตเดียวกันของการสร้างและเสพงานศิลปะ – ฐานะอันสูงศักดิ์แห่งความเป็นสามัญ – ฐานะของวรรณคดี
คำนำผู้เขียน / ปรามินทร์ เครือทอง
“ผิวหิ้ง”
…
ศัพท์คำนี้ใช้ในวงการพระเครื่อง เป็นความหมายในแง่ดี หมายถึงพระเครื่องที่ไม่ผ่านการใช้ และถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เนื้อหามวลสารของพระเครื่องไม่เสียหาย เพียงแต่ถูกฝุ่นจับบนผิวพระเท่านั้น แต่มีค่ามากกว่าพระเครื่องที่ถูกใช้งานจนผิวสึก
สงสัย?
ฟังดูมันเป็น positioning ของวรรณคดีไทยด้วยหรือเปล่า ไม่มีคนอ่าน ถูกเก็บรักษาไว้อย่างของศักดิ์สิทธิ์บนหิ้ง มีคนกำลังทำให้มันเป็นอยู่แบบนี้หรือเปล่า หรือมีใครกำลังพอใจที่มันเป็นอยู่แบบนี้หรือเปล่า ที่สำคัญมันอยากจะอยู่บนหิ้งแบบนั้นรึเปล่า ผู้ประพันธ์กำลังพอใจที่งานเขียนของตัวเอง “ผิวหิ้ง” อยู่รึเปล่า
ด้วยความไม่แน่ใจ และสติปัญญาน้อยเกินกว่าจะหาคำตอบนี้ได้ “อ่านย้อนเกร็ด” ในวารสาร อ่าน จึงตกอยู่ในภาวะทำตัวไม่ถูก ไม่มั่นใจว่าควรจะอ่านวรรณคดีไทยอย่างไร ระหว่าง “ของศักดิ์สิทธิ์” ในฐานะ “อลังการศาสตร์” (rhetoric) หรือแบบ “เครื่องบำเรอแก่กิเลส” ที่เป็น “อวิทฺยา” (ignorance) ดี
อันที่จริงผู้ “อ่าน” ย่อมมีเสรีที่จะอ่านวรรณคดีในฐานะอะไร เพื่ออะไร เพราะอะไร แต่ด้วยฝันร้ายในโรงเรียนมัธยมที่ทุกคนประสบมา วิชาวรรณคดีได้กลายเป็นคนหน้าบึ้ง ทึนทึก พูดจาไม่รู้เรื่อง เอาแต่ใจตัวเอง จนหมดสนุก
ทั้งๆที่บทเรียนบทแรกๆในวิชาวรรณคดี ว่าด้วยวัตถุประสงค์ของการอ่านวรรณคดีนั้น ค่อนข้างจะเซ็กซี่ คือเพื่อให้เพลิดเพลินอารมณ์ ให้ “รู้รส” พลังอำนาจของภาษา แต่ความสนุกเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเราไม่ได้เพลิดเพลินอารมณ์กับวรรณคดีอย่าง “เครื่องบำเรอแก่กิเลส” แต่วิชาวรรณคดีมักจะขู่เสียงดังๆว่าเรากำลัง
“แตะต้อง” ผลงานอันยิ่งใหญ่อันเป็นสมบัติของชาติอยู่ ดังนั้นพวกเจ้าจงอ่านตามหลักวิชาดังนี้เท่านั้น โดยไม่กลับไปดูวัตถุประสงค์ของผู้แต่งแม้แต่น้อยว่าแต่งมาเพื่อเป็น “ผิวหิ้ง” หรือเป็น “เครื่องบำเรอแก่กิเลส” กันแน่
ดังนั้นการจะหาคนทั่วๆไปที่รักการอ่านวรรณคดีซักคนในยุคนี้ จึงยากพอๆกับการหาเหล้าสักขวดในอีเบย์
“อ่านย้อนเกร็ด” จึงเป็นบทความประเภทอ่านวรรณคดี ในยุคที่ทอดตาทั่วแผ่นดินจะหาคนชอบอ่านวรรณคดีซักคนก็แสนยาก แถมยังมีอคติว่าวรรณคดีเป็นเรื่องยาก ทึนทึก การปลุกวรรณคดีให้ตื่นขึ้นมาครั้งนี้จึงต้องใช้อาคม “ชุบบพิตรด้วยวิทยา” อันเป็นเคล็ดลับที่ไม่มีในอีเบย์เช่นกัน จึงจะเกิดผล
ในเมื่อวรรณคดีต้องปรากฏตัวอยู่ในคอลัมน์ “อ่านย้อนเกร็ด” ของตักศิลาสำนัก “อ่าน” ที่อุดมไปด้วยพาหุสัจจะ (great learning) ทางรอดทางเดียวในหนังสือเล่มนี้คือ Stay hungry, stay foolish. แผลงเป็น “วรรณคดีขี้สงสัย” แบบเนียนๆ
“วรรณคดีขี้สงสัย” ย่อมเห็นอวิทฺยาเป็นทางสว่าง แล้ว positioning ตัวเองเป็นสาวน้อยโบราณ วัยแรกแย้ม แทรกตัวน้อยๆ นั่งหน้ามึน ท่ามกลางเหล่าบัณฑิตที่ถกเถียงเรียงความกันอย่างเคร่งเครียด
“อ่านย้อนเกร็ด” ในชุด “วรรณคดีขี้สงสัย” เริ่ม “มึน” ตั้งแต่ต้นขึ้นมาในปี ๒๕๕๓ ในเรื่อง “อ่านพระลอ : สงสัยปู่เจ้าสมิงพรายเป็นใคร?” จากนั้นก็ “สงสัย” เรื่อยมาอีก ๑๐ เรื่อง ในระยะเวลา ๔ ปี
ความ “สงสัย” ไม่ได้เกิดขึ้นโดยขาดหลักวิชาการ แต่ย่อมไม่ใช่หลักวิชาทางด้านวรรณคดีวิจักษ์ เพราะเสี่ยงที่จะทึนทึกซ้ำซ้อน “วรรณคดีขี้สงสัย” เป็นไปตามหลักวิชาของผู้ไม่มีความรู้เรื่องวรรณคดีเลยคือ เชอร์ล็อก โฮล์มส์
นั่นคือวิชาอนุมานสืบจากเล็กไปหาภาพใหญ่ จากเบาไปหาหนัก แล้วกระชับพื้นที่เพื่อสรุปคำตอบ
ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า “การอ่าน” วรรณคดีสามารถเริ่มจากอวิทฺยา (หรืออวิชฺชาในภาษาบาลี) เพื่อใช้เป็น “เครื่องบำเรอแก่กิเลส” ก่อนก็ได้ แล้วจะแอ๊ดวานซ์ไปสู่อลังการศาสตร์ (อลงฺการ : ตำราภาษาสันสกฤต ว่าด้วยวิธีแต่งและ
ติชมวรรณคดี) ทีหลังจะเป็นไร
เพราะสุดท้ายเราก็อาจจะค้นพบได้ว่า มี “บางอย่าง” สำคัญกว่าความรู้
ในที่สุด กไลโกฏฤๅษีก็บังเกิดความสว่างแห่งปัญญา “มันเป็นเช่นนี้เอง”
และรู้แท้ในปรัชญา Women are more important than knowledge. ตัดสินใจสละอาศรมตามนางผู้นั้นไป(บางตอนจาก “อ่าน พระอภัยมณี : สงสัยพระอภัยกับนางเงือก ‘นั่น’ กันอย่างไร?”)