ผู้เขียน ปืนลั่นแสกหน้า
คำนำโดย คำ ผกา
208 หน้า (ภาพประกอบสี่สี)/ ราคา 250 บาท
คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์
จำไม่ได้ชัดว่าข้อเขียนหรือกระทู้ใดของ “ปืนลั่นแสกหน้า” ในเว็บบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน” ที่ทำให้สะดุดใจและจดจำ
ล็อกอินนี้ของคนเขียนได้เป็นครั้งแรก แต่จำได้ว่าภาษาที่ดูจะดิบและเป็นต่อนๆ ตามประสาภาษาเว็บบอร์ดนั้น
กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เข้มข้นในทางความรู้สึกนึกคิดที่ระบายออกอย่างตรงไปตรงมา มีข้อเท็จจริงมาเสนอโดยไม่ต้องอวดโอ่ และมีข้อโต้แย้งมาถกเถียงโดยไม่ต้องอวดอ้าง อันที่จริงก็คงมีเพียงไม่กี่กระทู้ที่ทันได้เห็นว่า
เป็นเช่นนั้น แต่บังเอิญว่ามันเป็นบางกระทู้ในบางสถานการณ์ที่ตีบตัน อัดอั้น แล้วชื่อ “ปืนลั่นฯ” ก็อยู่ในความทรงจำ
แต่นั้นมา
ดังนั้นเอง เมื่อมีความคิดว่าอยากจะทำหนังสือที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของประชาชนจากความทรงจำของประชาชนแม้เพียงสักไม่กี่คนเท่าที่จะพอทำได้ จึงสนใจที่จะลองเสี่ยงชวนให้มาเขียนทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
คุณปืนลั่นฯ ได้ตอบตกลง และทยอยเขียนส่งมาให้ตั้งแต่ต้นปี 2554
แม้จะประเมินไว้ว่าน่าจะได้อย่างใจ แต่ต้นฉบับที่ได้รับมานั้นเกินความคาดหมาย ตั้งแต่ในแง่ที่เขาได้เข้าร่วมใน
การเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มาแต่แรก ทว่ามิใช่ในฐานะปัญญาชนแอคทิวิสต์
แต่ในฐานะประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางทั่วไป และคงเพราะเหตุนี้นี่เองที่ทำให้เมื่ออ่านข้อเขียนของเขาแล้ว
ไม่รู้สึกถึงน้ำเสียงที่ยกตนแต่อย่างใด เขาชัดเจนว่าตำแหน่งแห่งที่ของเขาอยู่ตรงไหน
ผมจะไม่ออกตัวว่ารู้ดีกว่าใคร ไม่เคยอ้างบทความทฤษฎีไหน แต่จะใช้เหตุผลและมุมมองของผู้เคลื่อนไหวคนหนึ่ง ใช้ความชัดเจนในจุดยืนที่ว่า ถ้าจะมีคนโปรทักษิณแล้วยังไง มันผิดตรงไหน แล้วสมมติว่าผม
โปรทักษิณ ผมเป็นหนึ่งใน “พิมพ์ความคิด” ของเขาไหมว่าคนโปรทักษิณต้องโง่และถูกหลอกใช้ “รากหญ้า” โง่จริงหรือ การต่อสู้เคลื่อนไหวโดย “รากหญ้า” แบบไม่ต้องมีนักวิชาการหรือปัญญาชนชี้นำเป็นไปได้ไหม ฯลฯ
และที่เกินความคาดหมายยิ่งขึ้นไปอีก คือวิธีเล่าเรื่องด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยรายละเอียดอย่างชนิดเห็นภาพ ทักษะในการถ่ายทอดแบบนี้มิใช่เพราะเขาเป็นนักเขียน แต่น่าจะเพราะเขาไม่ใช่ “นักเขียน” นั่นเอง
เราจึงได้เห็นความพยายามในการเรียบเรียงความทรงจำออกมาอย่างสามัญที่สุด โดยไม่ต้องถูกกลบด้วยความ
ทะเยอทะยานในทางกลวิธีแต่อย่างใด และสิ่งที่ถ่ายทอดนั้นก็แจ่มชัดจนเหลือเชื่อ ครั้งหนึ่งในการสนทนาเพียง
น้อยครั้งระหว่างกัน เคยถามเขาว่าทำไมจำได้ละเอียดขนาดนี้ เขียนบันทึกประจำวันหรืออย่างไร เขาตอบว่า
เป็นเพราะภาพที่เขาถ่ายไว้ เมื่อหยิบมาดู ความทรงจำก็ผุดขึ้นมาได้เป็นฉากๆ — “photographic memory” ทั้งในความหมายตามตัวอักษรและในทางอุปมา
ผมยังจำวันที่เจอ “เจ๊ดา” ครั้งแรกได้แม่นยำ ด้วยลีลาการกัดฟันพูด เค้นเสียงผ่านร่องฟันประหนึ่งมีความ
คับแค้นสุมอก ผมตัดสั้นทรงผู้ชาย ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวพับขึ้นสองสามทบให้ทะมัดทะแมง สอดชายเสื้อ
เข้าไปในกางเกงผ้าคาดเข็มขัด มือหนึ่งถือโทรโข่งซึ่งต่อสายเข้ากับไมโครโฟนสี่เหลี่ยมที่อีกมือจับไว้แน่น
จนข้อนิ้วเป็นสีขาว
แต่บางทีมันคงมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าแค่การมีกล้องถ่ายรูป เพราะความทรงจำที่ผุดขึ้นมาหลังเห็นภาพถ่าย
คือความทรงจำต่อสิ่งที่มิใช่บันทึกไว้ด้วยกล้อง แต่ด้วยสายตาที่ใส่ใจและพยายามจะทำความเข้าใจ การจะจดจำ
รายละเอียดนั้นได้ ก็เพราะต้องเห็น และต้องมีสายตาที่รู้จักมองเห็น และการจะเข้าใจมันได้ ก็เพราะเอาหัวใจตัวเองไปไว้ตรงนั้น ตรงที่เดียวกันกับคนเหล่านั้นที่เราต้องการจะเข้าใจ
อีกประการที่เกินความคาดหมาย คือการถ่ายทอดถึงความกดดันที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง นั่นคือการที่เขาซึ่งเป็น
คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เลือกที่จะเป็นเสื้อแดง มิใช่แค่ “ลงพื้นที่” ไม่ใช่ “กรณีศึกษา” ไม่ใช่ “สังเกตการณ์”
แต่ “เป็น” เสื้อแดง และดูเหมือนเขาจะต้องการพลิกปมนั้นให้กลายเป็นปัจจัยในการต่อสู้ทางความคิด
เราต้องทำให้สังคมชนชั้นกลางที่มองเสื้อแดงอย่างเหยียดหยาม เกิดความสงสัยให้ได้ว่าทำไมเราถึง
เป็นเสื้อแดง ถ้าเขาคิดว่าเสื้อแดงต้องโง่ ต้องจน ต้องเชื่อคนง่าย ต้องเห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ต้องป่าเถื่อน แล้วทำไม “คนอย่างเรา” ถึงคิดแบบเสื้อแดง ทำแบบนั้นได้ก็ถือว่าสร้างปมให้สังคมได้ขบคิด
มันเป็นแต่เพียงการท้าทายจาก “คนอย่างเรา” ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นอย่างเดียวกับ “คนอย่างคนเสื้อแดง” ที่เขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ผ่านความเจ็บปวดและความเป็นความตายมาด้วยกัน มันใกล้เกินกว่าที่ใครจะมา
กล่าวหาว่าโรแมนติค (และนั่นก็ทำให้การมีระยะห่างไม่จำเป็นจะต้องแปลว่าเรียลลิสติคเสมอไป) และเมื่อลงไปอยู่
ในสนามเสียแล้ว จะถูกผิดอย่างไรก็รับไปโดยไม่ต้องออกตัว ไม่ต้องกลัวแปดเปื้อน ไม่ต้องกังวลกระทั่งว่าจะแพ้
…คู่ต่อสู้คือแชมป์ที่ครองเข็มขัดแห่งอำนาจไว้อย่างยาวนาน เราเป็นผู้ท้าชิงก็ย่อมแพ้ได้ และแพ้กี่ครั้งก็ได้ ตราบใดที่เรายังสู้อยู่ เราก็จะท้าชิงมันร่ำไป แต่เจ้าของแชมป์นี่สิ แพ้ได้ครั้งดียวเท่านั้น
ในปี 53 ผมจึงออกไปเพื่อแพ้ แต่ต้องทำให้แชมป์บอบช้ำมากที่สุด
มีแต่คนที่มีสำนึกและหัวใจอย่างประชาชนสามัญเท่านั้น ที่จะคิดอะไรแบบนี้ได้
และก้าวออกไป “เขียน” ประวัติศาสตร์ของพวกเขา