อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย
ผู้เขียน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
ผู้แปล พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
บรรณาธิการแปล วริศา กิตติคุณเสรี, ไอดา อรุณวงศ์
คำนำ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 400 บาท
ปกแข็ง ราคา 500 บาท
คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์
ฤดูใบไม้ร่วง 2012 คือปีที่ดิฉันได้พบอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เป็นครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิธากา ฉากแรกนั้นเกิดขึ้นขณะดิฉันหลบมานั่งจิบชาเรียกขวัญอยู่ในห้องครัวเล็กๆ ชั้นล่างของตึกเคฮินก่อนเริ่มการเสวนาในเวิร์คช็อป The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan ซึ่งดิฉันเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอ อาจารย์ทักษ์ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ และเป็นผู้บริหารคนสำคัญของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล โผล่มาในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงยีนส์ และเสียงหัวเราะหึหึอันเป็นเอกลักษณ์ เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และกระทั่งเมื่ออาจารย์ตั้งคำถามมายังดิฉันในเวิร์คชอปนั้น ดิฉันก็ยังตอบไปอย่างเกร็งและประหม่าประสาเด็กแปลกถิ่นต่อผู้ใหญ่แปลกหน้า
แต่ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งวันและนับเนื่องจากนั้นจนถึงฤดูร้อนอีกสองปีต่อมา การณ์ก็ราวกับเราสามารถกระโดดข้ามกำแพงแห่งวัยและสถานะ อาจารย์ทักษ์กลายมาเป็นเพื่อนร่วมวิสาสะที่ไม่เพียงทำให้ดิฉันเลิกประหม่าและหายเกร็งกันไป แต่ยังมักทำให้ดิฉันประหลาดใจอยู่บ่อยครั้งด้วยลักษณะที่ดูจะสะท้อนถึงความขัดแย้งในตัวเองหลายประการ บางทีมันอาจมิใช่เป็นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาในตัวของอาจารย์ทักษ์เองมากเท่ากับที่เป็นความขัดแย้งที่ดิฉันผูกมันเองขึ้นมา ตามบริบททางสายตาของผู้ที่ยังเต็มกลืนอยู่กับฐานะราษฎรเต็มขั้นแห่งประเทศไทยแลนด์
ความขัดแย้งในตัวเองเหล่านั้นที่ดิฉันสัมผัสได้ มักเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารหรือบนรถปิคอัพขณะอาจารย์ขับพาแล่นออกนอกเมือง โดยผ่านการสนทนาโต้ตอบและผ่านการที่ดิฉันมักแอบสังเกตท่วงทีกิริยา (กระทั่งเสื้อผ้าการแต่งกาย!) และปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มิใช่ผ่านการอ่านงานเขียนหรือฟังบรรยายปาฐกถา จนเมื่อได้อ่านบทความเหล่านี้ที่ต่อมาดิฉันตกลงใจตีพิมพ์เป็นเล่ม ดิฉันก็พบความอัศจรรย์ของการยืนยันซึ่งกันและกันระหว่างตัวบุคคลกับตัวงาน สิ่งใดที่สัมผัสได้ผ่านบทสนทนาและมารยาทบนโต๊ะอาหาร สิ่งนั้นก็อยู่ในงานเขียนทางวิชาการด้วย
และดังนั้นเองดิฉันจึงหวังให้ผู้อ่านได้สัมผัสอย่างเดียวกัน ถึงเรื่องราวที่เสนอผ่านสายตาของอาจารย์ทักษ์ในฐานะกุลบุตรผู้มาจากพื้นเพครอบครัวและรากเหง้าทางสังคมที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยม แต่กลับมีทัศนะอย่างเสรีนิยมมากพอที่จะมองเห็นส่วนผสมที่ขัดแย้งในตัวเองของความเป็นไทย ดังสะท้อนออกมาอย่างเข้มข้นในบทความหลักสามบทความแรก คือ “ความไม่พยาบาท ของครูเหลี่ยม กับวิบากความทันสมัยของไทย”, “นางเนรมิตร ของครูเหลี่ยม กับแฟนตาซีของสยาม”, “เปิดพื้นที่อย่างใหม่ในทำเนียบวรรณกรรมไทย” และขมวดซ้ำอย่างแหลมคมขึ้นไปอีกเมื่อเชื่อมโยงไปถึงฐานะอันก้ำกึ่งนั้นที่สะท้อนอยู่ในชนชั้น “เจ้า” ของไทยในบทความ “ล้อหมุนเร็ว : การแข่งรถ วรรณกรรมการแข่งรถ และชาตินิยมไทย” อันว่าด้วยพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดชและพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับโลกของการแข่งรถสากลของพวกเขา
เช่นกันกับที่ดิฉันอยากให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงเรื่องราวที่เสนอผ่านสายตาของความเป็นนายทักษ์ บุรุษผู้รักจะใช้ชีวิตทำกิจกรรมกลางแจ้งในภาพแบบฉบับอย่าง “ชายๆ” ไม่ว่าแข่งรถ แล่นเรือ ตกปลา ฯลฯ ที่มองมายังโลกของการดิ้นรนของหญิงไทยราวกับด้วยความรู้สึกทึ่งและต้องการหยั่งถึงความยุ่งเหยิงซับซ้อนที่พวกเธอต้องรับมิือด้วย ไม่ว่าในแง่ทัศนะต่อเรื่องทางเพศอย่างในบทวิเคราะห์ นางเนรมิตร, ทางการสำแดงบทบาทเพศสถานะอย่างในกรณีบทความ “กุลสตรี ถอยไป : ห้วงรักเหวลึก และหลวงวิจิตรวาทการ” และความเป็นผู้หญิงที่ผูกโยงกับปัญหาทางชนชั้น อัน
ซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชนชั้น “เจ้า” ในกรณีบทความปริทัศน์ “ผู้หญิงศิวิไลซ์: ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศตวรรษที่ 20 ของไทย”
และสุดท้ายคือเรื่องราวที่เสนอจากสายตาของศาสตราจารย์ทักษ์ นักวิชาการในฐานันดรสูงสุดของโลกหอคอยงาช้าง ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจโครงสร้างของเรื่องราวและโลกทัศน์อันมีพลวัตท่ามกลางการขยับเคลื่อนทางฐานันดรในโลกวิชาชีพที่สาธารณ์กว่าของบรรดาจีนเจ๊กแต่ละเจเนอเรชั่น รวมทั้งพ่อค้านักธุรกิจ นักการเมือง ดารา นักร้อง นักแสดงตลก ในบทความ “เราใช่เขา?: ภาพเสนอของคนจีนในวรรณกรรมไทยศตวรรษที่ 20” และ “อัตชีวประวัติของคนรวย คนสวย และตลก: แบบอย่างความสำเร็จในสังคมไทยร่วมสมัย”
การที่สำนักพิมพ์อ่านตัดสินใจนำบทความเหล่านี้มาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ก็เพราะดิฉันอยากให้ผู้อ่านชาวไทยได้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองของสังคมไทยที่สะท้อนผ่านสายตาของผู้มีความซับซ้อนขัดแย้งในตัวเองของ
ผู้เขียน ที่เอาเข้าจริงแล้วเราผู้อ่านชาวไทยก็ควรจะสามารถสัมผัสได้ไม่ต่างจากเขาสักเท่าไหร่ เพราะความขัดแย้งในตัวเองนั้นก็ดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วยเช่นกัน หากว่าเราเพียงแต่จะลองสำรวจและครุ่นคิดกับมันโดยรู้จักถอยระยะออกมา ไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงอิธากา เพียงให้ห่างออกจากระบบชุดคุณค่าอันสถาปนา ที่บดบังสายตาของเราไว้
ที่พิเศษไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือบทสัมภาษณ์และข้อเขียนในภาคผนวก (และอันที่จริงก็รวมถึง “คำนำจากผู้เขียน” ด้วย) ที่จะทำให้เราเห็นภาพว่า สายตาเช่นนี้ของผู้เขียน มาจากมุมมองทางเจเนอเรชั่นหรือมุมมองของคน “รุ่น” ไหน ในแง่ความเป็นปัญญาชนของสังคมไทยและของโลกวิชาการสากล
และสุดท้าย โดยฉันทาคติอันไม่อาจปิดบังได้ ดิฉันออกจะรู้สึกมีกำลังใจ ที่ได้เห็นว่าโจทย์ของความขัดแย้งในโลกของชุดคำใหญ่ๆ เหล่านี้ กลั่นมาจากนักรัฐศาสตร์ที่อ่านวรรณกรรมทั้งอย่างออกรสและอย่างจริงจัง อย่างพ้นไปจากฐานะคู่ตรงข้ามของ “ความบันเทิงไร้สาระ” กับความ “มีประโยชน์” ดังที่โลกวิชาการในสังคมไทยมักจัดวางตำแหน่งให้
ราวกับจะบอกว่า การ “อ่าน” ทุกประเภทล้วนมีความหมาย ขอเพียงให้ “อ่านจนแตก” ดังที่อาจารย์ทักษ์ตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ เท่านั้นเอง