นายคำ / wordmasters
ตำนานนักเขียนโลก
ผู้เขียน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์อ่าน ตุลาคม 2560
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ISBN
ปกอ่อน 978-616-7158-72-3
ปกแข็ง 978-616-7158-73-0
จำนวนหน้า 224 หน้า
คำนำสำนักพิมพ์
บทความในหนังสือเล่มนี้เขียนช่วงปี 2534-2541 ถ้าจำไม่ผิด นั่นคือช่วงที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เพิ่งรับตำแหน่งอาจารย์วรรณคดีอังกฤษ-อเมริกันไม่นาน เราเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นที่จะริเริ่มงานเขียนซึ่งเป็นการเปิดประตูแก่โลกการอ่านสาธารณะ จริงอยู่ การเขียนแนะนำผลงาน/ชีวประวัตินักเขียนอาจเป็นการเริ่มต้นที่ง่าย แต่ความเหนือชั้นในงาน “แนะนำตัว” เหล่านี้ อยู่ที่การเลือกประเด็นและข้อมูลมาขมวดได้อย่างคมชัด ทั้งนี้เพราะชีวประวัติของคนหนึ่งคนย่อมมีมุมให้พูดถึงมากมาย การเลือกแก่นหัวใจมาบางด้านจึงต้องอาศัยทั้งความสามารถในการจับประเด็นและความคิดที่ชัดเจนต่อภาพที่มุ่งจะเสนอ
และขณะเดียวกัน เราในฐานะผู้อ่านก็อาจรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกเสนอภาพนั้น ที่เมื่อนำเงื่อนไขช่วงเวลามาประกอบกัน ก็ยิ่งได้อรรถรสขึ้นไปอีก เป็นอารมณ์ของ “ยุคสมัย” ทั้งในความหมายของบริบทสังคมไทย และในความหมายของ “เจเนอเรชั่น” ซึ่งบางทีผู้อ่านอาจสัมผัสได้อย่างเดียวกันโดยที่เราไม่ต้องขยายความแต่ต้นมือ
นอกเหนือจากนี้แล้วผู้อ่านอาจพบเช่นกันว่า มันช่างรื่นรมย์เสียนี่กระไร ที่ได้อ่านงานเขียนท่วงทำนองสบายๆ มีแง่มุมคมคายแจ่มชัดได้แม้ปราศจากอาภรณ์วิชาการอันรัดกุมบ้าง สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ อาจารย์วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ที่ช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ด้วยภาพวาดที่ “ออริจินัล” ในทุกความหมาย ขอบคุณคุณวริศา กิตติคุณเสรี ที่ช่วยเสริมงานบรรณาธิการอย่างดี ขอบคุณคุณสุวิภา เชษฐานนท์ ที่ช่วยงานพิสูจน์อักษร ขอบคุณคุณโตมร ศุขปรีชา ที่ช่วยค้นข้อมูลตีพิมพ์ในเทรนดีแมน
ท้ายที่สุด ขอบคุณอาจารย์ชูศักดิ์ที่อนุญาตให้เราพา “นายคำ” ในความสนใจและในตัวอาจารย์เอง มาพบกับผู้อ่าน, ในชุดลำลองเช่นนี้
คำนำผู้เขียน
หนังสือ นายคำ ตำนานนักเขียนโลก รวบรวมบทความเกี่ยวกับนักประพันธ์ต่างชาติที่ผมเขียนไว้ต่างวาระ และ
เผยแพร่กระจัดกระจายในนิตยสารสามเล่ม คือ สารคดี, มติชนสุดสัปดาห์ และ เทรนดีแมน (ยุติการพิมพ์ไปนาน
แล้ว) บทความเหล่านี้เป็นงานเขียนลาลองในรูปคอลัมน์นิตยสาร มิใช่บทความวิชาการที่เคร่งครัดในการอ้างอิง
ข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน โดยมุ่งจะแนะนำชีวิตและผลงาน หรือทัศนะต่อการประพันธ์ของนักเขียน
เหล่านี้ที่ผมคิดว่าน่าจะให้แง่คิดหรือสร้างแรงบันดาลใจแก่นักอ่านและนักเขียนบ้านเราให้ขวนขวายหางานของ
พวกเขามาอ่านตามอัธยาศัย เกณฑ์การเลือกนักเขียนเป็นไปตามความชอบ ความสนใจของผมเป็นหลัก หรือ
ไม่ก็อิงกับกระแสความเคลื่อนไหวในวงวรรณกรรมขณะที่เขียน แง่มุมเกี่ยวกับผลงานของนักเขียนเหล่านี้ก็เป็น
ทัศนะและอคติส่วนตัวของผมเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้อย่าได้ประหลาดใจ หากพบว่านักเขียนมีชื่อหลายคนที่ได้รับ
การยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์ชั้นเอกของโลกจะมิได้ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ และก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมนักเขียน
บางคนในเล่มนี้จึงไม่เป็นที่ยกย่องหรือเป็นนักประพันธ์เรืองนาม ทั้งหมดเป็นเรื่องความชอบไม่ชอบส่วนตัวของผม
สถานเดียว และขอสารภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า นักเขียนบางคนที่อยู่ในเล่มนี้ก็ไม่ใช่นักเขียนที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษแต่อย่างใด
ในยุคสมัยปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายดายเพียงนิ้วสัมผัส ทุกคนต่างกลายเป็นเอ็นไซโคลพีเดียเคลื่อนที่กันได้ชั่วพริบตา ข้อเขียนเชิงแนะนำประวัตินักเขียนจึงแทบไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะใครๆ ก็ค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยการเข้าไปดูในวิกิพีเดียหรือกูเกิล กระนั้นก็ตาม คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นกับผมว่า บทความชุดนี้ยังมีคุณค่าควรแก่การนำมารวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ แม้จะรู้สึกเกรงใจสำนักพิมพ์อ่านเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการลงทุนลงแรงที่สูญเปล่า แต่ด้วยความเคารพและเชื่อมั่นในวิจารณญาณของบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ผมขอขอบคุณทีมงานสำนักพิมพ์อ่านที่ร่วบรวมบทความเหล่านี้ รวมทั้งตรวจทานข้อมูลต่างๆ ทั้งช่วยขัดเกลาสำนวนภาษา ขอขอบคุณ อาจารย์วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ผู้เป็นปิยมิตรอันยาวนานของผม ที่นึกสนุกกับหนังสือ
เล่มนี้ และทุ่มเทฝีมือและสติปัญญาวาดภาพนักเขียนเหล่านี้ขึ้นใหม่ด้วยลีลาชั้นเชิงอันเหนือชั้น และขอขอบคุณ
นิตยสารต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้บทความเหล่านี้ในครั้งแรก
ท้ายสุด ขอคารวะคุณอัศนี พลจันทร เจ้าของนามปากกา “นายผี” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมนำมาตั้งชื่อหนังสือ
เล่มนี้ว่า “นายคำ” ในความหมายผู้เป็นนายของคำ
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
24 กันยายน 2560