สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ไกลกะลา

250 ฿390 ฿

อัตชีวประวัติ โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
ผู้แปล ไอดา อรุณวงศ์

รายละเอียด

ไกลกะลา
อัตชีวประวัติ โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
ผู้แปล ไอดา อรุณวงศ์
แปลจาก A Life Beyond Boundaries
พิมพ์ครั้งแรก 2562

หนังสือขนาด 14.3×21 ซม.
จำนวนหน้า 248 หน้า
ปกอ่อน ราคา 300 บาท
ISBN 978-616-7158-94-5
ปกแข็งสันโค้งเย็บกี่หุ้มแจ๊คเก็ต ราคา 450 บาท
ISBN 978-616-7158-93-8

หมายเหตุผู้แปล ถึงผู้เขียนและผู้อ่าน

หนังสือเล่มนี้เลือกใช้ชื่อไทยว่า ‘ไกลกะลา’ เพื่อเป็นการถ่ายความกลับมาสู่ต้นธารของมัน  คือความรู้สึกจับใจของผู้เขียนต่อสํานวน ‘กบในกะลา’ อันเขาอธิบายแก่ผู้อ่านในโลกภาษาอังกฤษว่ามีใช้ในภาษาไทยและอินโดนีเซีย แต่ในเมื่อต้นร่างหนังสือของเขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อหนังสือจึงเป็นในเชิงอธิบายความว่า ‘A Life Beyond Boundaries’ คือชีวิตที่ไปพ้นจากกรอบจํากัดของความเป็นเขตแดนหรือพรมแดน อันหมายรวมได้ในหลายแง่ รวมถึงในแง่ของความเป็นชาติ ครั้นยามนี้เมื่อแปลเป็นฉบับพากย์ไทย จึงช่วยไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะแปลให้ชื่อนั้นย้อนกลับมาหาจินตภาพเดิมของผู้เขียนในโลกภาษาไทย อันเป็นจุดตั้งต้นที่กลายมาเป็นปลายทาง

สำนวนไทยว่า ‘กบในกะลา’ นั้น เป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่ามีความหมายถึงภาวะโลกแคบ คือไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือมีความรับรู้น้อย หรือไม่เปิดหูเปิดตา ยึดมั่นแต่โลกแคบๆ ของตนว่าคือโลกทั้งใบ ครั้นในยุคร่วมสมัย สํานวนนี้กลายมามีนัยถึงสังคมอันจําเพาะว่าคือไทย ที่มักถือว่าตนนั้นในทางหนึ่งสากลเสียยิ่งกว่าโลกทั้งใบ และในอีกทางก็เป็นโลกที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จนเกิดเป็นวิสามานยนามพันทางของชื่อประเทศขึ้นใหม่ว่า กะลาแลนด์ ในแง่นี้ กะลา จึงเพิ่มนัยต่อความเป็นชาตินิยมขึ้นมาได้เหมาะเจาะโดยปริยาย สอดคล้องกับเจตนาของผู้เขียนที่จะสนทนาในประเด็นชาตินิยมนี้ อันเป็นประเด็นที่วงวิชาการระดับโลกยกให้เขาเป็นนักคิดคนสําคัญผู้สร้างคําอธิบายเชิง ‘ทฤษฎี’ เกี่ยวกับมันขึ้นมา

ในฉบับแปลไทยนี้ ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าทุกข้อความไม่ว่าอยู่ในวงเล็บ ( ) หรือ [ ] ล้วนเป็นของผู้เขียน รวมทั้งเชิงอรรถที่เป็นดอกจันท้ายหน้า การขยายความใดๆของผู้แปลจึงเป็นเชิงอรรถตัวเลขซึ่งไปกองไว้ที่ท้ายเล่มทั้งหมดเพื่อมิให้สับสนกัน แต่แม้จะได้ขยายความไว้ให้บ้าง ก็ขอได้อย่าคาดหวังว่าข้าพเจ้าจะขยายความให้ถ้วนทั่วทุกจุดไป เนื่องจากข้าพเจ้าถือว่าในเมื่อสุดท้ายเรามีอันต้องมาแปลจากฉบับที่เขียนสําหรับผู้อ่านในโลกภาษาอังกฤษเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอเรียนว่าข้าพเจ้าจะไม่พยายามช่วยผู้อ่านมากไปกว่าที่ผู้เขียนไม่ได้พยายามไว้ให้ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจอยู่ว่ามันคือการลงทัณฑ์ (หากมิใช่การเอาคืน) อย่างสมน้ำหน้า ที่ข้าพเจ้าไม่ยอมตกลงใจร่วมทําต้นฉบับภาษาไทยสำหรับผู้อ่านไทยโดยตรงกับเขาตั้งแต่แรกที่เขาเคยมาพยายามหยอดไว้ ตอนที่เขานำฉบับภาษาญี่ปุ่นเล่มน่าเอ็นดูที่เขียนสำหรับผู้อ่านญี่ปุ่นเป็นการเฉพาะมาอวดข้าพเจ้าว่าเขาอยากเขียนในภาษาจำเพาะสำหรับผู้อ่านกลุ่มจำเพาะแบบนี้ มากกว่าภาษา ‘สากล’ ที่ทำให้เขาไม่นึกสนุก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองคุยอยู่กับใคร

อย่างไรก็ดี ในเมื่อข้าพเจ้ามิใช่เป็นแต่เพียงผู้แปล หากยังเป็นบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์เองด้วย มีหรือที่ข้าพเจ้าจะไม่ฉวยโอกาสนี้เอาคืนกับผู้เขียนอย่างเขาเช่นกัน ดังนั้นจึงขอให้ผู้อ่านทราบว่าดัชนีของหนังสือเล่มนี้ก็มาจากฐานของการที่ข้าพเจ้าเคยเถียงกับเขาผู้เขียนว่า ข้าพเจ้าแอบรําคาญขนบของการมีดัชนีให้นักวิชาการ นักศึกษา นักวิจัยได้ใช้งาน เพราะมันแปลว่าพวกเขาส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการไม่อ่านหนังสือเล่มน้ันๆเองจนจบ แต่อาศัยเปิดคําค้นเป็นทางลัดโกงน้ำใจคนเขียนหนังสืออยู่ร่ำไป รวมถึงตัวเขาเองด้วยที่พอเจอดัชนีที่ไม่ละเอียดแล้วก็บ่นกับข้าพเจ้าว่า ดูสิ คนทําดัชนีนี่ขี้เกียจเหลือใจ

ดัชนีของเล่มนี้จึงดัดหลังให้เป็นดัชนีสำหรับคนเขียนและคนอ่านที่อ่านจริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่ค้นคว้าวิจัย คำค้นต่างๆจึงมีเพื่อให้ข้อมูลในวงเล็บสำหรับผู้อ่านที่ได้อ่าน ว่าคำหรือชื่อภาษาต่างประเทศนั้นสะกดในต้นฉบับว่าอย่างไร บางคําในภาษาอินโดนีเซียนั้นไม่ได้บอกแค่ว่าต้นฉบับของผู้เขียนสะกดอย่างไร แต่แถมให้ว่าการสะกดแบบปัจจุบันสะกดแบบไหน การเก็บชื่อบุคคลก็เก็บอย่างบ้าจี้บนฐานว่าเก็บไปเสียทุกชื่อไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือไม่ ต่อให้มีแค่ชื่อต้นหรือถูกเอ่ยถึงเพียงผ่านๆก็จะเก็บไว้ เพราะมันจะเป็นดัชนีสําหรับผู้เขียน ที่เขียนหนังสือนี้ในฐานะบันทึกความทรงจํา ซึ่งหมุดหมายในการเล่าของเขานั้นข้าพเจ้าจับสังเกตว่ามันแวดล้อมอยู่กับชื่อและตัวบุคคลที่เขาจําได้ไม่ว่าลางเลือนแค่ไหน รวมถึงข้อเขียนสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ที่ข้าพเจ้าคงชื่อไว้ในภาษาต้นฉบับโดยไม่แปลหรือถ่ายเสียง แล้วทิ้งรายชื่อไว้ในดัชนีเป็นลิสต์ยาวอย่างที่สมัยเรียนเขาเคยจดลงสมุดบันทึกไว้ทุกรายการที่อ่านไม่ว่ามันจะเข้าท่าหรือไม่ เขาประทับใจกับลำพังแค่จำนวนของมัน

และในฐานะที่เขาเป็นนักวิเคราะห์การเมืองผู้ชอบใช้สายตาแบบประวัติศาสตร์ระยะยาวอย่างน่าหมั่นไส้เวลาถกเถียงกับข้าพเจ้าถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าอันสาธารณ์อย่างสถานการณ์การเมืองในชาติสยามไทย ข้าพเจ้าจึงเก็บดัชนีโดยประชดไว้ให้ถึงประดาชื่อสถานการณ์หรือวิกฤติใหญ่ๆในประวัติศาสตร์โลกที่เขาชอบใช้เป็นหมุดหมาย

แลแน่นอนว่าเมื่อดัชนีเล่มนี้ไม่ใช่สำหรับคนขี้เกียจอ่าน ข้าพเจ้าจึงไม่ช่วยชี้เบาะแสคำที่เป็นแนวคิดสำเร็จรูปใดๆไว้ให้ แต่ข้าพเจ้าจงใจเก็บคำจำพวก ‘โชค’ และ ‘ความบังเอิญ’ ที่เขาบ่นว่าไม่เห็นมีคนให้ความสนใจ อันที่จริงข้าพเจ้ายังอยากเก็บอีกบางคำเป็นการดักทางเขา เช่น คําว่า ‘เปิดหูเปิดตา’ (revelation) ซึ่งข้าพเจ้าจับได้ว่าเขาใช้บ่อยจนดูจงใจ (น. 32, 37, 91, 97, 187 แถมคําว่า เบิกเนตร น. 82 ฮ่าฮ่า!)

ที่ข้าพเจ้าเล่นเรื่อยเปื่อยแบบนี้ได้ก็เพราะได้รับน้ําใจจากบุคคลจํานวนหนึ่ง ซึ่งจู่ๆ ข้าพเจ้าก็ติดต่อไปขอความช่วยเหลือจากพวกเขา บนฐานของความเกี่ยวพันในความทรงจําระหว่างข้าพเจ้ากับผู้เขียน โดยที่พวกเขาอาจไม่ทันรู้ตัวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าได้รับน้ำใจที่ล้นเหลือจาก อ.เพ็ญศรี พานิช ในการถอดเสียงและขยายความชื่อเฉพาะต่างๆในภาษาอินโดนีเซีย ข้อมูลในเชิงอรรถผู้แปลที่เกี่ยวกับอินโดนีเซีย ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าคือความอนุเคราะห์จากเธอ  ผู้ซึ่งข้าพเจ้าตัดสินใจไปปรึกษามิใช่เพียงเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอินโดนีเซีย แต่เพราะเธอคือผู้แปลนวนิยายของ เอกา กุรณียวัน นักเขียนชาวอินโดนีเซียคนที่เขาผู้เขียนเซ้าซี้ให้ข้าพเจ้าไปทําความรู้จักไว้ ทั้งข้าพเจ้ายังพลอยได้รับน้ำใจจากมิตรแปลกหน้าชาวอินโดนีเซีย นามว่า Elady’s Wiqhoyah Kusnadi ที่ช่วยอัดเสียงอ่านส่งมาให้ผ่านเธอด้วยเป็นอย่างดี

ส่วนภาษาญี่ปุ่นนั้นข้าพเจ้าได้รับน้ำใจจากมิตรรุ่นเยาว์อีกคน คือ อ.โช ฟุกุโตมิ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคยใช้เป็นข้ออ้างบ่ายเบี่ยงกับเขาผู้เขียนว่า ในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาทำอัตชีวประวัติภาษาไทยกับเขา เรามาทำเวอร์ชั่นไทยผ่านญี่ปุ่นโดยให้มิตรผู้นี้แปลให้ไหม ซึ่งเขาก็ไม่ยอมอยู่ดีแม้เขาจะสนใจนักว่ามิตรชาวญี่ปุ่นผู้นี้มาเชี่ยวชาญวรรณกรรมไทยได้อย่างไร

ส่วนข้อที่เป็นเรื่องจำเพาะของวงจรชีวิตโลกวิชาการมหาวิทยาลัยและอีกจิปาถะซึ่งข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าข้าพเจ้าเข้าใจได้ถูกต้องเสมอไปนั้น ข้าพเจ้าได้อาศัยน้ําใจในการให้คําปรึกษาเป็นอย่างดีจากมิตรอีกคนของเขาคือ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิชาการวรรณกรรมคนสำคัญที่เขาผู้เขียนแสดงความนับถือลับหลังไว้กับข้าพเจ้าอยู่บ่อยไป

และคนสุดท้าย ซึ่งได้ให้สติแก่ข้าพเจ้าในช่วงเวลายุ่งยากใจเมื่อแรกที่ต้องตัดสินใจว่าจะยอมแปลหนังสือเล่มนี้หรือไม่ คือ เม อาดาดล อิงคะวณิช มิตรรักของเขา ผู้ซึ่งในความเห็นข้าพเจ้า คือคนที่สามารถแปลงานของเขาโดยจับน้ำเสียงได้กลมกลืนและเหมาะสมที่สุดกว่าใคร

แต่หนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นพันธกิจส่วนตัวระหว่างข้าพเจ้ากับเขาผู้เขียนไปได้ เพียงเพราะเขาได้อุตส่าห์สั่งเสียไว้ก่อนจะทิ้งข้าพเจ้าไปผจญภัยในโลกอื่นว่า จงให้ ‘อีดา’ (อันเป็นชื่อที่เขาเรียกข้าพเจ้าอย่างกวนๆลับหลัง) เป็นผู้แปล เมื่อแรกที่ได้รับทราบคําสั่งเสียอันกวนตีนอย่างศักดิ์สิทธิ์นี้จากคุณอนันต์ กรุดเพ็ชร์ และ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ข้าพเจ้ายังนึกกังขา เนื่องจากตลอดมาเขามีแต่บ่นให้ฟังว่า ไม่ต้องการและออกจะรำคาญที่ต้องมานั่งเขียนอัตชีวประวัติตัวเองเป็นฉบับภาษาอังกฤษ และข้าพเจ้าก็เออออไปกับเขาเสมอมา แล้วมันธุระอะไรที่จู่ๆจะมาให้ข้าพเจ้าทำเล่มนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาข้าพเจ้าก็พยายามเลี่ยงนักหนาที่จะให้ปรากฏชื่อเป็นผู้แปลหรือเป็นอะไรๆของเขาผู้มีชื่อเสียงใหญ่โตจนข้าพเจ้าคร้านจะไปโหนใส่ การถ่อมตัวปนถือดีตลอดมาของข้าพเจ้าคงน่ารำคาญแก่เขาเกินไป จึงต้องมาสั่งเสียไว้ในสภาพที่ไม่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าปฏิเสธเช่นนี้ (อันพลอยทําให้ข้าพเจ้าได้รับไมตรีที่ซึ้งใจยิ่ง จากคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่สละสิทธิ์ในสัญญาลิขสิทธิ์เล่มนี้ให้)

แต่เมื่อลงมือแปลไปแล้วข้าพเจ้าจึงได้เข้าใจ ว่าอันที่จริงหนังสือเล่มนี้คือบทสนทนาอันเป็นนิรันดร์ครั้งสุดท้ายที่เขาจงใจทิ้งไว้ให้ มิใช่เพียงสำหรับข้าพเจ้า หากสำหรับมิตรรุ่นเยาว์กว่าทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในโลกวิชาการอย่างเป็นทางการหรือไม่ มิใช่เป็นบทสนทนาจากนักวิชาการอาวุโสผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นบทสนทนาจากเพื่อนคนหนึ่งผู้เปี่ยมแรงบันดาลใจ ผู้พยายามสร้างและรักษาอุดมคติบางอย่างไว้ บนฐานของการกระโดดออกจากกะลาให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

ข้าพเจ้าหวังใจว่าผู้อ่านจะอ่านหนังสือเล่มนี้เสมือนการสนทนากับเขาวันหนึ่งในยามบ่าย นึกภาพในห้องครัวที่มีเขาเป็นกบตัวใหญ่ ทำอาหารอินโดฯอวดกบตัวจ้อยไปก็คุยไป พลางตลบหนวดปลาหมึกกลับเข้าไปในท้องของมันแล้วกลัดไม้กลัดด้วยมือสั่นๆ พลันที่ประตูห้องครัวถูกลมพัดเปิด แมลงวันฝูงมหึมาก็ฮือเข้ามาตามคาวปลาหมึกนั้น กบตัวเล็กตกใจทำอะไรไม่ถูก จนกบตัวใหญ่บอกให้ไปเฝ้าปลาหมึกเคี่ยวน้ำมะขามเปียกในกะทะบนเตาไว้ อย่าได้กังวลไป แล้วเขาก็ค่อยถอดรองเท้าอย่างงกเงิ่นแต่มุ่งมั่น ปีนขึ้นเก้าอี้แล้วใช้รองเท้านั้นไล่ตีแมลงวันแบนติดกระจกหน้าต่างที่ปิดไว้ไปทีละตัว ทีละบาน มือนั้นที่ยังสั่นแต่ดูเหมือนเขาจะลืมวัย ทั้งไม่อินังว่ามันจะเสียภาพของความเป็นกบตัวใหญ่ ด้วยรองเท้าในมือข้างหนึ่ง เขามุ่งหน้าทําภารกิจอันกล้าหาญและชวนขันนั้นอย่างยืนยันในความเป็นจริงของมันต่อไป

แล้วเขาก็เดินไปเปิดประตูใหม่ เปิดออกไปให้กว้างกว่าเดิม

ไอดา อรุณวงศ์

อื่นๆ

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน