รายละเอียด
บันทึกจากบรรณาธิการ/ไอดา อรุณวงศ์
ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
มุกหอม วงษ์เทศ.
อ่านผิด.–กรุงเทพฯ : อ่าน, 2552.
1. สังคมไทย. 2. ไทย – ภาวะสังคม — วิจารณ์. I. ชื่อเรื่อง
เมื่อสำนักหอสมุดแห่งชาติแจ้งรายละเอียดข้างต้นมาให้บันทึกเป็นข้อมูลการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ไว้ ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์บอกมุกหอมด้วยความครึ้มอกครึ้มใจ ว่าในที่สุดก็มีคำตอบอย่างเป็นทางการเสียทีว่างานเขียนชุดนี้จัดอยู่ในประเภทไหน (ฮ่าฮ่า) แต่เขาไม่ยักขำ และตอบกลับเพียงสั้นๆ อย่างงงงัน “อ้าว…เหรอ” และ “ว้า…”
ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ รวบรวมมาจากหลายแหล่งที่เคยตีพิมพ์ในครั้งแรก และจัดจำแนกแยกพวกมาต่างหากจากอีกชุดหนึ่งที่รวมพิมพ์เป็นอีกเล่มในชื่อ ในเขาวงกต เราอาจจะพอจับ “ลักษณะร่วมที่แตกต่าง” ของข้อเขียนสองเล่มที่ว่านี้ได้ แต่ถึงที่สุด เราก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกข้อเขียน (ที่ผู้เขียนยืนยันว่าไม่ใช่บทความ) เหล่านี้ว่าอย่างไร
ปัญหาการจัดประเภทงานเขียนของเขาเป็นเรื่องที่เถียงกัน (คำ) ไม่ตก (ฟาก) มาระยะหนึ่งแล้วในหมู่คนรอบตัวเขา มิตรน้ำหมึกช่างเสียดสีคนหนึ่งถึงกับเหลืออดในความกำกวม “นี่ใจคอจะไม่ลดตัวลงมาให้มันจัดประเภทได้หน่อย
เหรอ อย่างของผม ผมก็ยังยอมรับได้เลยว่า ไอ้ที่ผมเขียนๆ อยู่ทุกวันนี้มันก็เป็นแค่ ‘เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้อ่าน’ เท่านั้นแหละ” ช่างประชดประเทียดเสียดเย้ยตัวเองอะไรกันขนาดนี้
มุกหอมเคยถามข้าพเจ้าว่าพอใจจะจัดหนังสือของเขาขึ้นชั้นไหนหมวดไหน หากจะต้องวางขาย
“วรรณกรรมมั้ง”
ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าได้ยินเสียงเขายิ้ม
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจวางใจได้ว่าเขาจะเอาอย่างไรแน่ เพราะครั้งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้านำความไปแจ้งแก่เขาว่า มิตรผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกกับข้าพเจ้าหลังจากอ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งของเขา (ที่รวมพิมพ์อยู่ในเล่มนี้ด้วย) ว่า “เป็นวรรณคดีเลย ไม่รู้จะยกย่องอย่างไรให้มากไปกว่านี้ได้” เขาถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงกระไอแห่งความขวยอายของเขาที่แผ่ผ่านมาทางอีเมล
แต่ก็ยังไม่วาย เขาตอบความกลับมาด้วยประโยคคำถามไร้เดียงสาอย่างน่าหมั่นไส้
“‘วรรณคดี’ แปลว่าอะไรอ่ะ..อิอิ”
นางอิลลิเทอเหรตอย่างข้าพเจ้าจนใจจะหาคำตอบให้เสียแล้ว ดูเอาเถิด ในเมื่อเริ่มต้นเขาก็ตั้งเจตจำนงค์ที่จะ
“อ่านผิด” เสียแล้ว เรายังจะไปเอานิยมนิยายอะไรกับเขาได้
“Every reading is a misreading” ข้าพเจ้ารำพึงตามวาทะฝรั่งพอให้อุ่นใจ
อ่านๆ มันไปเหอะ ยังไงก็ผิดอยู่ดี