รายละเอียด
บางส่วนจากคำนำฉบับแปลภาษาไทย โดย ธงชัย วินิจจะกูล
หนังสือเล่มหนึ่งเมื่อพ้นมือคนเขียนไปแล้วมักจะมีโชคชะตาไม่ตรงกับที่คนเขียนคาดหวัง คนเขียนทุ่มเทความคิด จินตนาการ และส่วนหนึ่งของชีวิต ลงไปในตัวบท แต่บ่อยครั้งคนอ่านมองไม่เห็นสิ่งที่คนเขียนต้องการจะบอก ทว่าบ่อยครั้งคนอ่านกลับเห็นในสิ่งที่คนเขียนเองก็นึกไม่ถึง
Siam Mapped (ต่อจากนี้จะเรียกว่า SM) อ่านได้หลายแบบ ทั้งโดยเจตนาของผู้เขียนที่พยายามออกแบบให้เป็นเช่นนั้น และด้วยการค้นพบของผู้อ่านซึ่งผู้เขียนเพิ่งมาเข้าใจภายหลัง
SM ศึกษาความเปลี่ยนแปลงความรู้ความคิดทางภูมิศาสตร์ที่ให้กำเนิดสยามประเทศ หวังว่าอย่างน้อยๆ ผู้อ่านจะได้อิ่มเอมกับประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นถือเป็นของกำนัลซึ่งขอฝากไว้ให้ตามแต่ผู้อ่านจะค้นพบหรือสร้างความหมายมากน้อยขึ้นมา
ความปรารถนามูลฐานของผู้เขียนมีอยู่เพียงว่าอยากเล่าเรื่องดีๆ (to tell a good story) สักเรื่องหนึ่ง นี่เป็นความอยากของนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไป ความปรารถนาข้อนี้ฟังดูง่ายดีแต่ทำได้ยากชะมัด และไม่ใช่ว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนจะประสบความสำเร็จ เพราะ “การเล่าเรื่องดีๆ” มีความหมายหลากหลายตามแต่คนอ่านคาดหวัง และตามแต่ความปรารถนา จินตนาการในการเข้าใจอดีต และประสบการณ์ชีวิตของคนเขียน
SM เขียนขึ้นหลัง 6 ตุลา 2519 และหลังขบวนการสังคมนิยมไทยล่มสลาย ในขณะนั้นคำถามและการวิเคราะห์ร่วมสมัยของปัญญาชนกำลังเป็นอดีตไปแล้ว แต่จิตวิญญาณกบฏและความท้าทายต่อโลกที่เป็นอยู่ กลับยังคงโลดแล่นผ่านกรอบความคิดใหม่ๆ หลายกระแสเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ นับแต่เช้าวันพุธเดือนตุลาปีนั้น ผ่านการณ์ผันแปรทั้งหลายหลังจากนั้น ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า “ประวัติศาสตร์โหดร้าย” (ในทุกๆ ความหมายของวลีนี้) SM จึงเป็นการโรมรันพันตูกับความรู้ประวัติศาสตร์ไทยเต็มตัว ตั้งแต่ชื่อ ประเด็นใจกลาง วิธีการศึกษา แนวคิดวิเคราะห์หลักและรอง หลายเรื่องหลายประเด็น ตลอดจนถึงนัยและความหมายโดยอ้อม