รายละเอียด
บทบันทึก ประดับ “ความ” ของ “เพียงคำ”
เมื่อกวีร่วมสมัยคนหนึ่ง ประกาศว่า
พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี
พระเจ้าองค์นี้มีชื่อว่า “ประชาชน”
จึงสอดรับอย่างยิ่งกับยุคซึ่ง “ตื่น” จากหลับใหลแล้วทุกหัวระแหง
ตื่นขึ้นในความมืดมิด เพื่อรอชื่นชมแสงแห่งเสรีภาพ
ทรราชย์อำนาจเก่า รำพึงบนหอคอยอย่างโศกเศร้าว่า “ประชาชนตื่นแล้วจริง ๆ…”
กวีคนหนึ่ง กับ “พระเจ้า” ของเธอ แท้แล้วร่วมจิตวิญญาณและเจตจำนงเดียวกัน
กินข้าวกินน้ำลำบากตรากตรำด้วยกัน
ตีนย่ำไปบนหนทางระอุคุแดดด้วยกัน
ผลักดันและฟันฝ่าขวากหนามนานัปการ
“ลูก” กับ “ผู้ให้กำเนิด” , “สาวก” กับ “ศาสดา” คือเพื่อนร่วมตายในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม
จิตร ภูมิศักดิ์ อาจมาก่อนกาล ในแง่ที่ – แม้อุดมคติจะปรากฏรูปลักษณ์อันเพริศแพร้ว ทว่า ประชาชนยังมิได้ตื่นขึ้นทั่วทั้งแผ่นดินเช่นวันนี้
เพียงคำ ประดับความ คือกวียุคสมัยปัจจุบันซึ่ง “หลอมละลาย” ตนเองในกระแสแห่งมวลมหาประชาชน
ดังความเปรียบในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง : เท “หยดน้ำ” ลงสู่ “ทะเล”
ประชาชนซึ่งเป็นเพียงคนจน คนโง่ คนโลภ คนถูกซื้อ คนถูกหลอกใช้ คนไม่มีค่า
คนสมควรถูกยิงยิ่งกว่าหมาข้างถนน ในสายตาชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง
แต่คนเหล่านี้ มาทวงคืนสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของพวกเขา
หรืออำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของพวกเขา?
บทกวีของ เพียงคำ ประดับความ ไม่เพียงเป็น “คำ” และ “ความ” ในเชิงปัจเจกของกวี
หากคือ “วจนะ” ของ “พระเจ้า” ผู้ทรงอยู่ในไร่นา ในชนบท ในเมืองน้อย ในเมืองใหญ่ ในโรงงาน ในที่ทำงาน
ในหน่วยงาน ในองค์กร ในภาวะปกติตามถนนรนแคมหย่อมย่านร้านถิ่น
ในทุก ๆ ที่…
บทกวีของ เพียงคำ ประดับความ คือดอกผลอันมีพัฒนาการ และในที่สุด – สุกงอมพร้อมกับขบวนการต่อสู้ของประชาชน
ประชาชนมือเปล่าถูกยิงตายกลางถนน แต่บทกวีของประชาชนครวญคร่ำร่ำเรียกไปในสายลม…
ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานกลางคืน
ฮอดมื้ออื่น เจ้าอย่าได้ห่วงหา
หากตัวแม่บ่กลับ แต่มีเสียงร่ำลือมา
ลูกจงไปตามหา… ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
(แด่… นักสู้ผ่านฟ้า)
ประชาชนมือเปล่าถูกยิงตายกลางถนน แต่บทกวีของประชาชนพร่ำเพรียกเรียกร้องไปในสายลม…
เจ้าการะเกดเอย…
เกียรติภูมิกองทัพ กลับเหยียบหัวคน
ยิงกลางถนน คนจนเช่นหมูหมา
อย่าเป็นเลยลูกรัก นักรบศักดินา
มาเป็นคนธรรมดา เป็นนักรบประชาชน
มาสู้อย่างคนธรรมดา เป็นนักรบประชาชน
มาสู้เพื่อคนธรรมดา เป็นทหารของประชาชน
(เจ้าการะเกดเอย)
ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในเขตอภัยทาน บทกวีของประชาชนกลับ “มีชีวิต” และส่งเสียงกู่ก้อง…
จดหมายถึงฟ้า กลั่นเลือดคนกล้าแทนน้ำหมึก
กี่วันคืนดื่นดึก กรำศึกท่ามกลางแดดฝน
วิถีทาสบาดลึก กร่อนรู้สึกเกินอดทน
นักบุญผู้ฉ้อฉล ผ่านพ้นคุณคืออดีตกาล
ใต้ท้องฟ้าผืนนี้ เรามีสิทธิเป็นมนุษย์
อย่างน้อยที่สุด เรามีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ทุกคนบนโลก หายใจอยู่อย่างเท่าเทียมกัน
แม้จันทร์เก่าแก่ดวงนั้น กระหายใฝ่ฝันนิรันดร
(จดหมายถึงฟ้า)
คล้ายเป็น “คำ” และ “ความ” ในลักษณาการของ “บทกวี”
แต่นี่คือเลือดเนื้อแห่งการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการถูกมอมเมา – กดขี่
คล้ายเป็น “บทกวี” ของกวีผู้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน
แต่นี่คือ “พยานหลักฐาน” ของระยะเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญ ของสังคมและการเมืองไทย
จะยาวนานอีกกี่คืนอีกกี่วัน
กระหายใฝ่ฝันนิรันดร.
ประกาย ปรัชญา
สำนักเขียน, 2554
ในฤดูฝน ที่ชวนหวนนึกถึงกลางฤดูร้อน