สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

กรุงเทพฯ (ไม่) มีคนเสื้อแดง: บันทึกการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกรุงเทพฯ

Original price was: 250 ฿.Current price is: 150 ฿.

ผู้เขียน ปืนลั่นแสกหน้า
คำนำโดย คำ ผกา
ภาพประกอบสี่สี
สภาพหนังสือ 80%

รายละเอียด

คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

จำไม่ได้ชัดว่าข้อเขียนหรือกระทู้ใดของ “ปืนลั่นแสกหน้า” ในเว็บบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน” ที่ทำให้สะดุดใจและจดจำล็อกอินนี้ของคนเขียนได้เป็นครั้งแรก แต่จำได้ว่าภาษาที่ดูจะดิบและเป็นต่อนๆ ตามประสาภาษาเว็บบอร์ดนั้นกลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เข้มข้นในทางความรู้สึกนึกคิดที่ระบายออกอย่างตรงไปตรงมา มีข้อเท็จจริงมาเสนอโดยไม่ต้องอวดโอ่ และมีข้อโต้แย้งมาถกเถียงโดยไม่ต้องอวดอ้าง อันที่จริงก็คงมีเพียงไม่กี่กระทู้ที่ทันได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่บังเอิญว่ามันเป็นบางกระทู้ในบางสถานการณ์ที่ตีบตัน อัดอั้น แล้วชื่อ “ปืนลั่นฯ” ก็อยู่ในความทรงจำแต่นั้นมา

ดังนั้นเอง เมื่อมีความคิดว่าอยากจะทำหนังสือที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของประชาชนจากความทรงจำของประชาชนแม้เพียงสักไม่กี่คนเท่าที่จะพอทำได้ จึงสนใจที่จะลองเสี่ยงชวนให้มาเขียนทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุณปืนลั่นฯ ได้ตอบตกลง และทยอยเขียนส่งมาให้ตั้งแต่ต้นปี 2554

แม้จะประเมินไว้ว่าน่าจะได้อย่างใจ แต่ต้นฉบับที่ได้รับมานั้นเกินความคาดหมาย ตั้งแต่ในแง่ที่เขาได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มาแต่แรก ทว่ามิใช่ในฐานะปัญญาชนแอคทิวิสต์แต่ในฐานะประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางทั่วไป และคงเพราะเหตุนี้นี่เองที่ทำให้เมื่ออ่านข้อเขียนของเขาแล้วไม่รู้สึกถึงน้ำเสียงที่ยกตนแต่อย่างใด เขาชัดเจนว่าตำแหน่งแห่งที่ของเขาอยู่ตรงไหน

ผมจะไม่ออกตัวว่ารู้ดีกว่าใคร ไม่เคยอ้างบทความทฤษฎีไหน แต่จะใช้เหตุผลและมุมมองของผู้เคลื่อนไหวคนหนึ่ง ใช้ความชัดเจนในจุดยืนที่ว่า ถ้าจะมีคนโปรทักษิณแล้วยังไง มันผิดตรงไหน แล้วสมมติว่าผมโปรทักษิณ ผมเป็นหนึ่งใน “พิมพ์ความคิด” ของเขาไหมว่าคนโปรทักษิณต้องโง่และถูกหลอกใช้ “รากหญ้า” โง่จริงหรือ การต่อสู้เคลื่อนไหวโดย “รากหญ้า” แบบไม่ต้องมีนักวิชาการหรือปัญญาชนชี้นำเป็นไปได้ไหม ฯลฯ

และที่เกินความคาดหมายยิ่งขึ้นไปอีก คือวิธีเล่าเรื่องด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยรายละเอียดอย่างชนิดเห็นภาพ ทักษะในการถ่ายทอดแบบนี้มิใช่เพราะเขาเป็นนักเขียน แต่น่าจะเพราะเขาไม่ใช่ “นักเขียน” นั่นเอง เราจึงได้เห็นความพยายามในการเรียบเรียงความทรงจำออกมาอย่างสามัญที่สุด โดยไม่ต้องถูกกลบด้วยความทะเยอทะยานในทางกลวิธีแต่อย่างใด และสิ่งที่ถ่ายทอดนั้นก็แจ่มชัดจนเหลือเชื่อ ครั้งหนึ่งในการสนทนาเพียงน้อยครั้งระหว่างกัน เคยถามเขาว่าทำไมจำได้ละเอียดขนาดนี้ เขียนบันทึกประจำวันหรืออย่างไร เขาตอบว่าเป็นเพราะภาพที่เขาถ่ายไว้ เมื่อหยิบมาดู ความทรงจำก็ผุดขึ้นมาได้เป็นฉากๆ — “photographic memory” ทั้งในความหมายตามตัวอักษรและในทางอุปมา

ผมยังจำวันที่เจอ “เจ๊ดา” ครั้งแรกได้แม่นยำ ด้วยลีลาการกัดฟันพูด เค้นเสียงผ่านร่องฟันประหนึ่งมีความคับแค้นสุมอก ผมตัดสั้นทรงผู้ชาย ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวพับขึ้นสองสามทบให้ทะมัดทะแมง สอดชายเสื้อเข้าไปในกางเกงผ้าคาดเข็มขัด มือหนึ่งถือโทรโข่งซึ่งต่อสายเข้ากับไมโครโฟนสี่เหลี่ยมที่อีกมือจับไว้แน่นจนข้อนิ้วเป็นสีขาว

แต่บางทีมันคงมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าแค่การมีกล้องถ่ายรูป เพราะความทรงจำที่ผุดขึ้นมาหลังเห็นภาพถ่ายคือความทรงจำต่อสิ่งที่มิใช่บันทึกไว้ด้วยกล้อง แต่ด้วยสายตาที่ใส่ใจและพยายามจะทำความเข้าใจ การจะจดจำรายละเอียดนั้นได้ ก็เพราะต้องเห็น และต้องมีสายตาที่รู้จักมองเห็น และการจะเข้าใจมันได้ ก็เพราะเอาหัวใจตัวเองไปไว้ตรงนั้น ตรงที่เดียวกันกับคนเหล่านั้นที่เราต้องการจะเข้าใจ

อีกประการที่เกินความคาดหมาย คือการถ่ายทอดถึงความกดดันที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง นั่นคือการที่เขาซึ่งเป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เลือกที่จะเป็นเสื้อแดง มิใช่แค่ “ลงพื้นที่” ไม่ใช่ “กรณีศึกษา” ไม่ใช่ “สังเกตการณ์” แต่ “เป็น” เสื้อแดง และดูเหมือนเขาจะต้องการพลิกปมนั้นให้กลายเป็นปัจจัยในการต่อสู้ทางความคิด

เราต้องทำให้สังคมชนชั้นกลางที่มองเสื้อแดงอย่างเหยียดหยาม เกิดความสงสัยให้ได้ว่าทำไมเราถึงเป็นเสื้อแดง ถ้าเขาคิดว่าเสื้อแดงต้องโง่ ต้องจน ต้องเชื่อคนง่าย ต้องเห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ต้องป่าเถื่อน แล้วทำไม “คนอย่างเรา” ถึงคิดแบบเสื้อแดง ทำแบบนั้นได้ก็ถือว่าสร้างปมให้สังคมได้ขบคิด

มันเป็นแต่เพียงการท้าทายจาก “คนอย่างเรา” ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นอย่างเดียวกับ “คนอย่างคนเสื้อแดง” ที่เขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ผ่านความเจ็บปวดและความเป็นความตายมาด้วยกัน มันใกล้เกินกว่าที่ใครจะมากล่าวหาว่าโรแมนติค (และนั่นก็ทำให้การมีระยะห่างไม่จำเป็นจะต้องแปลว่าเรียลลิสติคเสมอไป) และเมื่อลงไปอยู่ในสนามเสียแล้ว จะถูกผิดอย่างไรก็รับไปโดยไม่ต้องออกตัว ไม่ต้องกลัวแปดเปื้อน ไม่ต้องกังวลกระทั่งว่าจะแพ้

…คู่ต่อสู้คือแชมป์ที่ครองเข็มขัดแห่งอำนาจไว้อย่างยาวนาน เราเป็นผู้ท้าชิงก็ย่อมแพ้ได้ และแพ้กี่ครั้งก็ได้ ตราบใดที่เรายังสู้อยู่ เราก็จะท้าชิงมันร่ำไป แต่เจ้าของแชมป์นี่สิ แพ้ได้ครั้งดียวเท่านั้น ในปี 53 ผมจึงออกไปเพื่อแพ้ แต่ต้องทำให้แชมป์บอบช้ำมากที่สุด

มีแต่คนที่มีสำนึกและหัวใจอย่างประชาชนสามัญเท่านั้น ที่จะคิดอะไรแบบนี้ได้และก้าวออกไป “เขียน” ประวัติศาสตร์ของพวกเขา

อื่นๆ

ผู้เขียน

ปืนลั่นแสกหน้า

คำนำ

คำ ผกา

บรรณาธิการ

ไอดา อรุณวงศ์

ปีที่พิมพ์

2554

จำนวนหน้า

208 หน้าพร้อมภาพประกอบสี่สี

ISBN

9786167158082