รายละเอียด
บางส่วนจากคำนำเสนอโดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล
“ต้องขอสารภาพตามตรงว่า ภารกิจการเขียนคำนำให้หนังสือ ปั้นอดีตเป็นตัว เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสมาก อ่านไปไม่กี่หน้าก็หมดแรง ทั้งๆที่หนังสือมีประเด็นชวนติดตาม เนื้อหาแต่ละบทก็ล้วนอัดแน่นไปด้วยความคิดที่กลั่นกรองมาแล้วหลายชั้น และเต็มไปด้วยเครื่องมือทางความคิดหลายชุดที่ท้าทายสติปัญญาและอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ทำไมจึงเหนื่อยเหลือเกิน อ่านก็เหนื่อย เวลาเขียนยิ่งเหนื่อยขึ้นไปอีก เขียนๆหยุดๆ จนแทบจะเลิกไปแล้วหลายครั้งหลายครา
ความยากของการอ่านและเขียนถึง ส่วนหนึ่งคงจะมาจากข้อจำกัดส่วนบุคคลของดิฉันเอง ซึ่งไม่อยากนิยามตัวเองว่าอยู่ในโลกวิชาการอีกต่อไป อยากจะเอาเวลาที่เหลือน้อยนิดในชีวิต ไปปลูกต้นไม้ สนทนากับแมว หรือฝึกหัดวาดรูปเสียมากกว่า แต่นอกจากอาการต้องฝืนใจตัวเองอยู่บ้างแล้ว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดมาจากลักษณะเฉพาะของหนังสือเล่มนี้ด้วย
ปั้นอดีตเป็นตัว เป็นการรวมพิมพ์บทความเก้าเรื่องที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ระหว่าง พ.ศ. 2536 – 2550 ประมาณครึ่งแรกของเล่มเป็นบทความที่เขียนเป็นเชิงสรุปสังเคราะห์เนื้อหา และประมวลความคิดจากงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาและงานค้นคว้าของนักวิจัย ครึ่งหลังเป็นบทความที่เล่าถึงงานวรรณกรรมบางชิ้น เนื้อหาจึงครอบคลุมเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตหลายเรื่อง ตั้งแต่ศิลปะสุโขทัย, อีสาน, เจ้านายฝ่ายใน, ภูมิปัญญา, วัฒนธรรมชุมชน, รัฐประหาร ไปจนถึงงานเขียนของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด, นิยายของอรุณธาตี รอย, พรี โม เลวี และยูริ ตริโฟนอฟ ปั้นอดีตเป็นตัว จึงมิใช่การนำเสนองานวิจัยทางประวัติศาสตร์ของผู้เขียนเอง แต่เป็นการเขียนสรุปและวิเคราะห์ถึงงานชิ้นอื่น ในเมื่องานเหล่านั้นเป็นงานประวัติศาสตร์ ก็มักจะเขียนถึงหลักฐานเอกสาร หรืองานเขียนที่มีมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นอาจารย์ไชยันต์ยังได้เขียนบทนำสรุปความคิดทั้งหมดเอาไว้เรียบร้อยแล้วในบทนำ การเขียนคำนำซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นเสมือนการตีความงานเขียนที่ตีความงานชิ้นอื่น ซึ่งก็ตีความงานชิ้นอื่นต่อไปอีกหลายทอด ห่างไกลจากเหตุการณ์หรือข้อมูลต้นทางมาก ความสดใหม่ของข้อเขียนเดิมจึงได้รับการตีความ ถกเถียงทางตรรกะ สรุป ขมวดหรือย่อมาแล้วหลายชั้น หากจะใช้อุปมาแบบที่อาจารย์ไชยันต์ตั้งเป็นชื่อหนังสือ ก็คงได้ภาพว่า ผู้เขียนเดิมในชั้นแรกก็ปั้นมาทีหนึ่งแล้ว ในบทความต่างๆของอาจารย์ไชยันต์ อาจารย์ก็เอาที่ปั้นแล้วมาปั้นต่ออีก แล้วก็ยังปั้นต่อเป็นคำนำไว้อีกทอดหนึ่งด้วย แล้วจะเหลืออะไรให้คนเขียนคำนำปั้นต่อได้อีก
เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านต้องใช้เวลามากเกินเหตุกว่าจะรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ขอสรุปรวบยอดไว้แต่ต้นนี้เลยว่า ปั้นอดีตเป็นตัว มีจุดมุ่งหมายที่จะตั้งคำถามต่อการศึกษาอดีต ใครก็ตามที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถค้นหาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ได้ หรือสามารถจะยืนยันได้ว่าเหตุการณ์นั้นๆได้เกิดขึ้น “จริงๆ” คงจะต้องรู้สึกท้าทายหรือสั่นคลอนบ้างไม่มากก็น้อยหากอ่านบทความต่างๆจนจบ ทั้งนี้เนื่องจากอาจารย์ไชยันต์ได้แสดงถึงความซับซ้อนยอกย้อนของการสร้างหรือเสนอภาพของอดีต จนเรื่องราวของอดีตที่นำเสนอนั้น ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวของผู้เขียนหรือความคิดความต้องการของผู้เขียน เจตนารมณ์ของการเขียน หรือบรรยากาศของยุคสมัย แม้แต่งานของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าแยกแยะ จัดระเบียบ อธิบาย ประเมินหลักฐานต่างๆ จากอดีต ฯลฯ เพื่อเสนอภาพข้อเท็จจริงจากอดีต เราก็ยังมิอาจยืนยันได้ว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ คือความจริงจากอดีต”
สารบัญ
คำนำเสนอ โดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล
บทนำ การรับรู้อดีต
บทที่ 1 ฤๅว่าอดีตดิ้นไม่ได้
บทที่ 2 อดีต: รับรู้อะไร ? ใครรับรู้ ?
บทที่ 3 ภูมิปัญญาท้องถิ่น: วันวาน และวันนี้
บทที่ 4 ฝันถึงอดีต ฝันถึงวัฒนธรรมชุมชน
บทที่ 5 การรับรู้อดีตที่ยังอุ่นๆ: รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
บทที่ 6 การรับรู้ผู้อื่นกับกระจกส่องตนเอง: Orientalism โดยเอ็ดเวิร์ด ซาอิด
บทที่ 7 น้ำมือมนุษย์หรืออุ้งมือประวัติศาสตร์: The God of Small Things โดย อรุณธาตี รอย
บทที่ 8 ความรู้สึกกับอดีต: บ้านริมฝั่งน้ำ The House on the Embankment โดย ยูริ ตริ โฟนอฟ
บทที่ 9 การบันทึกอดีตให้เป็นบทเรียนทางศีลธรรม: กรณีค่ายกักกันในสงครามโลกครั้งที่ 2
บทความภาคผนวก
เยือนความหลังครั้งเป็น บ.อ
อาวรณ์และคำสอนของครู… อาดัม เคิร์ล
รำลึกถึงวัลเตอร์ เพื่อนผู้มาด่วนจากไป
บรรณานุกรม
ดัชนี
ประวัติการตีพิมพ์