สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ในฝันอันเหลือจะกล่าว

200 ฿

นิยมนิยายอันเหลือจะบรรยาย
โดยเดือนวาด พิมวนา

พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2563
ISBN 978-616-7158-96-9
ปกอ่อน ขนาด 14.3×21 ซม.
จำนวนหน้า 224 หน้า
ราคา 250 บาท  จัดส่งฟรี

 

รายละเอียด

หมายเหตุบรรณาธิการ

ท่านดีเสียแล้ว ข้าพเจ้าเลวเองก็แล้วกัน
ท่านถูกเสียแล้ว ข้าพเจ้าผิดเองก็แล้วกัน
สายตาอันหยามเหยียดนั้น ข้าพเจ้ายินดีรับการเหยียดหยาม
(เดือนวาด พิมวนา, อาชญารมณ์ต่อเนื่อง, น. 27)

วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2557 ข้าพเจ้าได้รับพัสดุไปรษณีย์กล่องเล็กๆ ภายในบรรจุมะนาวราวหกลูกที่มาจากบ้านของนักเขียนผู้หนึ่งซึ่งข้าพเจ้านับเป็นมิตรผู้มีระยะห่างทั้งในทางภูมิศาสตร์และในแง่การวางตัวเพื่อคงความเคารพต่อกันโดยหลีกเลี่ยงวัฒนธรรมพวกพ้องอุปถัมภ์ของวงการ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรนักเขียนผู้ใกล้ชิดทางความคิดความรู้สึกมากที่สุดคนหนึ่งในห้วงเวลานั้นที่สังคมไทยรวมถึงผู้คนในวงวรรณกรรม (รวมทั้งในวงวิชาการ) รังเกียจเดียดฉันท์ทั้งเยาะเย้ยถากถางนักเขียนหรือกวี (รวมทั้งบรรณาธิการ) ที่ “แดง” มันเป็นห้วงเวลาที่การแสดงจุดยืนเช่นนั้นโดยเปิดเผยแทบจะเป็นอาชญากรรมพอๆกับเป็นความโง่เขลาเปลืองตัว

มะนาวลูกเล็กๆหกลูกนั้นราวกับแทนความคิดถึงและปลอบใจกันในห้วงยามที่หันไปทางไหนก็ได้ยินแต่เสียงนกหวีด ได้ยินแต่เสียงกรี๊ดๆใส่ประชาชนคนชั้นล่างว่าเป็นวัวเป็นควายที่ไม่คู่ควรแก่ระบอบการปกครองชื่อยาวเป็นลูกแหง่ของไทย เพียงแต่ว่ามันเดินทางมาถึง ในวันที่รัฐประหารได้เกิดขึ้นโดยสมคะเนและสมใจของพสกนกหวีดเหล่านั้นไปแล้ว และข้าพเจ้าก็ไม่มีมีดที่จะหั่นมะนาวอีกต่อไปแล้ว

เหมือนนาฬิกาหยุดเดินที่ตรงนั้น เนิ่นนานหลายปีผ่านไป เมื่อต้นฉบับนวนิยายเรื่องนี้เดินทางมาถึงมือ ข้าพเจ้าก็รู้สึกราวกับว่าเราได้กลับไปต่อบทสนทนาที่ค้างคาไว้เมื่ออดีตนั้น ณ จุดพลิกผันก่อนที่ประเทศนี้จะตกอยู่ในสภาพอันน่าอเนจอนาถเช่นทุกวันนี้

ณ จุดนั้นที่มีคนเคยเรียกว่า ยุควิปลาสในราชอาณาจักรวิปริต

หนังสือเล่มนี้จึงราวกับเป็นนิยายย้อนยุคที่หวนกลับไปสํารวจข้อถกเถียงของอุดมการณ์ต่างชุดกันที่ดันมาตั้งอยู่บนฐานของอุดมคติโรแมนติคชุดเดียวกันอันสืบเนื่องมาจากนวนิยายอัศวินเรื่องหนึ่ง มันคือการตั้งคําถามถึงสํานึกอย่างถือสิทธิ์ของความเป็นผู้ผดุงคุณธรรมและผู้ปราบปรามความชั่วร้าย ที่กระทําไปในนามของความฝัน อันมีเส้นที่บางยิ่งนักมาคั่นแบ่งกับความวิปลาส

ถ้าในสมัยหนึ่ง โฟลแบรต์จะเขียนนวนิยายให้ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ชีวิตไปตามความฝันโรแมนติคอันเป็นอิทธิพลจากนิยายประโลมโลกที่เธออ่าน กระไรเล่าถ้าในอีกสมัย จะมีนักอ่านซึ่งยึดเอาความหมายของอุดมคติใินนวนิยายมาเป็นแรงผลักดันฝันใฝ่ของการผดุงคุณธรรม

แต่คําถามของการอ่านก็ยังมีอยู่ว่า เราอ่านมันอย่างไร และอ่านด้วยสำนึกแบบไหน พอๆกับคำถามว่าความฝันที่ว่านั้นคือฝันยามตื่น หรือคือฝันยุ่งเหยิงในวิกาลยาวนานของความหลับใหล และเป็นความฝันที่ต้องแลกมาด้วยอะไร

เพราะ “To dream the impossible dream” ก็ยังเป็นได้ทั้ง “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” ของอุดมการณ์ฝ่ายขวา และ “สุดมือเอื้อมคว้าข้าจะฝัน” ของอุดมการณ์ค่อนมาทางซ้าย (ในนามปัญญาชนเดือนตุลา) ที่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าเอาเข้าจริงแล้วก็แทนค่ากันได้ไม่ต่างอะไร ในฐานะสัญญะลอยล่องอันว่างเปล่าพอกัน

เดือนวาด พิมวนา เขียนนวนิยายเรื่องนี้ด้วยท่วงท่าสมจริงชนิดที่แทบจะเป็นบันทึกเหตุการณ์จริงและตัวละครน้ันก็ดูมีเค้าอ้างอิงจากบุคคลจริง เป็นการนําภาวะที่เกิดขึ้นจริงมาเขียนเป็นนิยายที่ว่าด้วยนิยายที่ถูกนํามาเป็นโจทย์ของความจริง และดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่โลกความจริงจําลองนิยายนี้จะแวดล้อมอยู่กับโลกนักเขียน นักอ่าน และวงการวรรณกรรม ราวกับเป็นภาพจำลองความขัดแย้งร้าวฉานในกาลคร้ังหนึ่งของผู้คนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่อ่านไม่เหมือนกัน

การมาอ่านนวนิยายเรื่องนี้ในตอนนี้หลังจากเวลาผ่านมาขนาดนี้ ชวนให้นึกถึงคำถามของความสาย แต่ไม่ใช่ความสายของตัวนวนิยายเท่ากับคําถามว่า ความสายของการสํานึกได้ในวันนี้ของบรรดาผู้คนเหล่านั้นต่อความสูญเสียและความเสียหายที่ผ่านมานั้น สายเกินไปแล้วไหม เพราะมันเป็นไปได้ท้ังในทางที่ว่า

อํามหิตไม่ผิดนัด
แต่เมตตามาสาย
และยังคงมาดหมายว่าทันเวลา (อาชญารมณ์ฯ, น. 97)

และเป็นไปได้ทั้งในแง่ที่เข้าใจได้ว่า

ไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่ลมสายหนึ่งจะพัดผ่านไม้ต้นหนึ่ง (อาชญารมณ์ฯ, น. 51)

ข้าพเจ้าเพียงคิดถึงมะนาวหกลูกนั้น

ไอดา อรุณวงศ์