สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ภควัทคีตา

160 ฿

หมวดหมู่:

รายละเอียด

ภควัทคีตา
ผู้แปล อินทรายุธ
ลำดับที่ 12 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
176 หน้า ราคา 180 บาท
ISBN 978-616-7158-78-5

หมายเหตุบรรณาธิการ
ภควัทคีตา ของ กฤษณไทวปายนวยาส เป็นงานแปลของ “อินทรายุธ” ซึ่งเขาเริ่มลงมือทำตั้งแต่สมัยที่รับราชการเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรีอยู่ที่ปัตตานีในระหว่าง พ.ศ.2485- 2487 ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 งานแปลเรื่องนี้จึงเป็นผลงานสำคัญในวัยหนุ่มของเขา ที่แสดงถึงความมุมานะทำงานทั้งๆที่ตนเองถูกกลั่นแกล้งสั่งย้ายไปอยู่พื้นที่ชายแดนห่างไกล ต้องเผชิญความยากลำบากยามสงคราม

สำนักพิมพ์อ่านรวบรวมต้นฉบับงานแปลชุดนี้มาจากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร อักษรสาส์น ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 (ต.ค.2493), ปีที่ 3 ฉบับที่ 5-7 (ส.ค.-ต.ค. 2494) โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ซึ่งเป็นผู้สะสมครอบครองไว้ และได้รับความอนุเคราะห์จากคุณนุชจรี ใจเก่ง และคุณวริศา กิตติคุณเสรี ที่เป็นผู้ถ่ายสำเนามาให้ นอกจากนี้เรายังได้รับความอนุเคราะห์จากคุณสมาน อู่งามสิน และคุณธิกานต์ ศรีนารา ที่ให้สำเนา อักษรสาส์น ปีท่ี 2 ฉบับที่ 10 (ม.ค. 2494) ด้วย ท้ังหมดนี้ทำให้ในที่สุดเราได้ต้นฉบับครบถ้วนสำหรับใช้เป็นต้นร่างเพื่อจัดพิมพ์ ภควัทคีตา เป็นหนังสือลำดับที่ 12 ในโครงการอ่านนายผี โดยสอบทานเพิ่มเติมกับฉบับพิมพ์รวมเล่มก่อนหน้านี้ของสำนักพิมพ์ศิวาลัย (2522) และสำนักพิมพ์ศยาม (2536)

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำส่วนอาภาษและคำนำผู้แปลมาไว้ในตอนต้นเรื่องตามลำดับที่เรียงพิมพ์ในอักษรสาส์น นอกจากนี้ในระหว่างชำระต้นฉบับเราได้พบว่าภายหลังจากการอสัญกรรมของมหาตมะคานธีแห่งอินเดียเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2491 “อินทรายุธ” ได้เขียนบทความ “ภควัทคีตากับฮินดู” ตีพิมพ์ใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2491 โดยอธิบายถึงความสำคัญของภควัทคีตา อีกทั้งระบุ ในตอนท้ายว่า หลานสาวของคานธีพร่ำสวดบทภควัทคีตานี้ให้คานธีฟังในวาระสุดท้ายของชีวิตด้วย เราจึงนำบทความดังกล่าวมาเป็นภาคผนวกไว้ท้ายเล่ม เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงมุมมองหนึ่งของ “อินทรายุธ” ต่องานแปลเร่ืองนี้

อนึ่ง การสะกดคำต่างๆ ในฉบับพิมพ์ครั้งนี้ คงไว้ตามที่ตีพิมพ์ในอักษรสาส์น เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้แปล ดังที่ อักษรสาส์น ได้ระบุกำกับไว้ว่า

ตัวสะกดการันต์ทั้งมวลในเรื่องนี้คงรูปไว้ตามต้นฉบับตามความประสงค์ของผู้แปลและเรียบเรียง มิได้แก้ไขให้ตรงกับพจนานุกรม

ดังนั้นเอง เราจึงไม่แก้ไขตัวสะกดการันต์ตามพจนานุกรมเช่นกัน อีกทั้งยังไม่แก้ไขตัวสะกดในกรณีอื่นใด เว้นแต่กรณีที่สันนิษฐานว่าเป็นความผิดพลาดในขั้นเรียงพิมพ์ในอักษรสาส์น ซึ่งอาจกระทบต่อการสื่อความหมาย โดยจะระบุการแก้ไขไว้ในเชิงอรรถของ บ.ก. ด้วยเครื่องหมาย * เพื่อมิให้สับสนกับเลขลำดับเชิงอรรถที่ผู้แปลทำไว้แต่เดิม ส่วนกรณีที่เป็นการสะกดคำโดยลักลั่น แต่ไม่กระทบต่อความหมาย ทั้งยังเป็นความลักลั่นซึ่งชี้ให้เห็นช่วงรอยต่อของการสถาปนาคำดังกล่าวให้สะกดอย่างใดอย่างหนึ่งตามพจนานุกรมของแต่ละยุคสมัย เช่น ในกรณีคำว่า “เปน” กับ “เป็น” และคำว่า “เลื่อยเจื้อย” กับ “เรื่อยเจื้อย” เราจะคงความ “ลักลั่น” นั้นไว้

ควรกล่าวไว้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า เมื่อ “อินทรายุธ” แปลเรื่อง ภควัทคีตา เสร็จแล้ว เขาเคยปฏิเสธไม่ตีพิมพ์ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเก่าที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมใหม่ แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม 2493 เขาได้ให้ตีพิมพ์งานเรื่องนี้ใน อักษรสาส์น รายเดือน ซึ่งตัวเขาเองเป็นบรรณาธิการกำกับแผนกวรรณคดีอยู่ และภายหลังไปอีกนานทีเดียวคือในปี 2518 เมื่อหนังสือ โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ของ “อุทิศ ประสานสภา” (นามปากกาของอัศนี พลจันทร) ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง ปรากฏว่าในบทความ “จากอุตตรกุรุ, นครแห่งความเพ้อฝัน สู่สังคมนิยมสยาม, รัฐจริงในอุดมคติ” ซึ่งอยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าว อุทิศได้วิจารณ์การที่ชนชั้นนำใช้ความคิดเพ้อฝันในอดีตเป็นเครื่องมือกล่อมคนในสังคมให้หลงเชื่อและยอมรับสภาพความไม่เป็นธรรมที่กำลังดำเนินอยู่โดยไม่โต้แย้ง โดยในบางตอนนั้นเขาได้ยกตัวอย่างทั้งจาก มหาภารตะ และจาก ภควัทคีตา ด้วย

แต่ที่ยิ่งน่าสนใจก็คือ หลังจากที่ ภควัทคีตา ตีพิมพ์ใน อักษรสาส์น ราวสามเดือน คุณสุภา ศิริมานนท์ บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้ ได้เขียนบทความ “ภควัทคีตา ใน ทรรศนะของเยาวฮาราล เนห์รู” โดยแปลความเรียงขนาดสั้นชิ้นหนึ่งของนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียเกี่ยวกับ ภควัทคีตา ลงในอักษรสาส์น ฉบับเดือนมกราคม 2494 สุภาได้เกริ่นนำว่า แม้ ภควัทคีตา จะเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่มีความใหม่อยู่เสมอในแง่ที่เป็น “กาพย์แห่งวิกฤติ” คือเป็นที่พึ่งแก่ผู้คนให้หลีกเร้นวิกฤติได้ แต่คัมภีร์นี้ยังอาจถูกใช้เป็น “เครื่องมือสะกดจิตใจมหาชน” เพื่อให้มีการขูดรีดทางชนชั้นได้เช่นกัน ดังนั้นการที่ อักษรสาส์น นำ ภควัทคีตา มาตีพิมพ์ ก็เพื่อให้เห็นว่า “วรรณกรรมบรรดาที่เรียกและถือกันว่าขลังๆ ของโบราณนั้นมิใช่ว่าจะดีวิเศษไปเสียทั้งหมด ก็หาไม่”

ท้ังงานแปลของอินทรายุธ และข้อคิดเห็นของสุภา ล้วนแสดงถึงสปิริตการทำงานหนังสือที่น่านับถือและพึงเผยแพร่ ในวาระการจัดพิมพ์ภควัทคีตา ฉบับสำนักพิมพ์อ่านครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่มีงานแปล ภควัทคีตา อยู่ในตลาดหนังสือปัจจุบันอีกหลายสำนวน เราจึงขอคัดถ้อยคำของคุณสุภาที่เปรียบเทียบการศึกษาวรรณคดีแบบเก่ากับคติของสำนักใหม่ของเขา (ซึ่งหมายถึงสำนักอักษรสาส์น) ในวาระที่ภควัทคีตา ตีพิมพ์คร้ังแรกนั้น มาไว้ในที่นี้อีกครั้ง :

การศึกษาวรรณคดีอย่างท่ีเคยปฏิบัติกันมาในสมัยก่อน คือด้วยการท่องจำและแล้วก็กล่าวสรรเสริญแต่คุณวิเศษแห่งความไพเราะหรือประวัติผู้แต่งไปอย่างเพ้อเจ้อนั้น มีแต่จะพาผู้ศึกษาให้ถอยหลังเข้าป่าเข้าดงแห่ง ความจดจำจนเสียสติไปเป็นแน่แท้ ในคติของสำนักใหม่ถือว่าวรรณคดีต้องเนื่องอยู่กับการปฏิบัติของชีวิตมนุษย์ในแต่ละยุค และวรรณคดีก็อาจจะช่วยมนุษย์ได้เหมือนกันในยามที่เกิดวิกฤติ ขอเพียงแต่ว่าให้วรรณกรรมนั้นๆ เป็นของประชาราษฎรโดยแท้จริงเท่าน้ัน มิใช่เป็นเครื่องมือของอภิชนใดๆ