สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

แม่บ้านหัวเห็ด

Original price was: 150 ฿.Current price is: 135 ฿.

หมวดหมู่:

รายละเอียด

แม่บ้านหัวเห็ด
ผู้เขียน อำแดงกล่อม
ลำดับที่ 19 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
144 หน้า ราคา 150 บาท
ISBN 978-616-7158-87-7

หมายเหตุบรรณาธิการ

แม่บ้านหัวเห็ด เป็นชื่อคอลัมน์บทความซึ่ง “อำแดงกล่อม” หรือคุณอัศนี พลจันทร เขียนลงในนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2502 โดยมีชื่อรองของคอลัมน์ระบุว่า “ว่าด้วยการบ้านการเรือน” งานเขียนชุดนี้ยังไม่เคยพิมพ์รวมเล่มมาก่อน สำนักพิมพ์อ่านได้รวบรวมมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในลำดับที่19 ในโครงการอ่านนายผี

งานเขียนชุดนี้นับว่าแผกไปจากงานเขียนส่วนใหญ่ของคุณอัศนี พลจันทร คือนอกจากจะเขียนโดยใช้ตัวตนสมมติและนามปากกาเป็นผู้หญิงแล้ว เนื้อหาก็มุ่งสื่อสารกับผู้อ่านที่เป็น “แม่บ้าน” โดยเฉพาะ ทั้งยังวาดภาพประกอบบทความโดยลงชื่อกำกับไว้ด้วย

สาเหตุที่อำแดงกล่อมเขียนงานชุดนี้ขึ้นมาส่วนหนึ่งอาจเป็นดังคำอธิบายทีเล่นทีจริงในบทเปิดคอลัมน์ของเขาว่า ทนการรบเร้าจากคุณทำดี มีเรือช่วย (นามปากกาของสุธรรม นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์) ไม่ได้ แต่เราก็ได้เห็นว่าอำแดงกล่อมสอดแทรกทัศนะต่อ “ผู้หญิง” ไว้อย่างสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ว่าเรื่องการประหยัดในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง การดูแลครอบครัวโดยไม่ละเลยที่จะแสวงหาความรู้และสนใจทั้งการบ้านและการเมือง ผู้หญิงที่อำแดงกล่อมนำเสนอจะว่าไปก็คือแม่บ้านสามัญสมัยใหม่ในยุค 2500 คนหนึ่ง ขณะเดียวกัน การที่คุณอัศนีอุปโลกน์ให้เป็นมุมมองของหญิงสูงวัยที่บอกว่าตน “หัวโบราณ” ที่ใช้นามโบราณอย่าง “อำแดงกล่อม” ก็บ่งให้รู้ว่าความเป็นสมัยใหม่นั้นยังอยู่ภายใต้กรอบบางอย่าง

ทั้งนี้ ก่อนหน้างานเขียนชุดนี้ย้อนกลับไปในปี 2484 “อินทรายุธ” (นามปากกาของอัศนี) เคยเขียนบทความ “การปฏิวัติของหญิง” (ใน เอกชน รายสัปดาห์) และหลังจากนั้นยังเขียนงานว่าด้วยผู้หญิงอีกมาก ทั้งในรูปกาพย์กลอนบทความและในนิทานการเมืองและเรื่องสั้น เพียงแต่งานเหล่านั้นไม่ได้เขียนขึ้นโดยสมมติตัวเองเป็นผู้หญิงและมุ่งสื่อสารกับผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านโดยตรงเช่นนี้

และทั้งนี้ ควรบันทึกไว้ด้วยว่างานเขียนชุดนี้ยุติตอนสุดท้ายในราวกลางปี 2502 ปีที่คุณอัศนีเดินทางออกจากประเทศไทยไปเข้าร่วมขบวนปฏิวัติอย่างเต็มตัว

การชำระต้นฉบับงานชุดนี้ สำนักพิมพ์อ่านยึดตามที่ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรวันจันทร์ โดยจัดเรียงบทความไปตามลำดับการตีพิมพ์ ทั้งนี้เราได้รักษารูปการสะกดคำไว้ตามต้นฉบับเดิม เพื่อเก็บร่องรอยรูปแบบภาษาของยุคสมัย ดังนั้นผู้อ่านจึงจะพบคำที่สะกด “ผิด” ไปจากมาตรฐานของพจนานุกรมปัจจุบัน เช่น ใยดี, กระทันหัน, ละเอียดละออ, ประวัติ (ในความหมายของคำว่า ประหวัด ในปัจจุบัน) ซึ่งล้วนเป็นรูปคำที่พบการใช้อยู่ก่อนหน้าการบัญญัติให้เป็นอย่างอื่นของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานขณะนั้น คือฉบับ พ.ศ. 2493 รวมทั้งคำเช่น สังกะโลก, อ๊อกซิเยน, พะโล้ว ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการบัญญัติไว้ในพจนานุกรม

นอกจากนี้ยังมีคำที่ถอดเสียงทับศัพท์ตามยุคนั้นซึ่งจะไม่ตรงกับหลักการเขียนทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานยุคปัจจุบัน เช่น แบ๊งค์, แฟ็บ, น้ำมันก๊าซ, พล๊อต, ปีบ (คือปี๊บ ในปัจจุบัน) และยังมีคำที่เขียนรูปไปตามการออกเสียง หรือตามที่ผู้เขียนต้องการให้เป็นรูปภาษาพูด เช่น ครือว่า, ช่างเทอค่ะ, ธู่ระ, เอาเทอน่า, กระหมั่ง, ก้อ เป็นต้น รวมถึงคำว่า เหื่อ ซึ่งใช้ตามการออกเสียงที่สลับกันไปในประโยคคำพูด ดังนั้นจึงมีสลับกันทั้ง เหื่อ และ เหงื่อ และในทางกลับกัน คำในภาษาพูดว่า รึ ก็จะพบการใช้รูป ฤ แทน แม้ปัจจุบันอาจถือเป็นรูปภาษาเขียน

ส่วนคำว่า ขี้เถ้า และ ขี้เท่า ซึ่งมีการใช้อย่างลักลั่นนั้น พจนานุกรมฯ 2493 มีทั้ง เท่า และ เถ้า ในความหมายเดียวกันคือ สิ่งที่เป็นผงละเอียดเหลือจากไฟเผามอดแล้ว

นอกจากนี้ ผู้อ่านบางท่านยังอาจพบรูปคำที่ไม่คุ้นเคย แม้ว่าในพจนานุกรมปัจจุบันก็มีระบุไว้ เช่น สัปดาหะ, พรับ, บุทคล หรือคำว่า กระเบียดกระเสียน ที่พจนานุกรมปัจจุบันบอกว่าเป็นรูปคำโบราณ และในทางกลับกันก็จะพบคำว่าซวดทรง ซึ่งมีในพจนานุกรม 2493 แต่ไม่มีในพจนานุกรมปัจจุบันซึ่งมีแต่คำว่า ทรวดทรง อันเป็นคำที่พจนานุกรม 2493 บอกว่าเป็นคำโบราณ

นอกเหนือจากนั้นแล้ว สิ่งที่เราปรับแก้ทั้งหมดจากต้นฉบับในปิยมิตรวันจันทร์ คือการเปลี่ยนเลขไทยเป็นเลขอารบิค, การปรับชื่อหนังสือให้เป็นตัวเอนทั้งหมด และการตัดเครื่องหมายอัญประกาศออกในกรณีที่เป็นการยกข้อความมาจากที่อื่น แล้วเปลี่ยนเป็นการใช้ย่อหน้าที่จัดระยะใหม่ ส่วนการเน้นข้อความทั้งหมดเป็นไปตามต้นฉบับเดิมแม้ว่าบางกรณีจะเปลี่ยนรูปแบบการเน้นไป

อนึ่ง บทความชุดนี้ตีพิมพ์ได้ราวสี่เดือนก็ยุติลง หลังจากนั้นราวสามสัปดาห์ ได้มีจดหมายจากผู้อ่านเขียนมาถึงอำแดงกล่อมโดยใช้นามปากกา ‘สายม ณ ฝั่งยม’ และได้ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรวันจันทร์ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2502 เนื้อหาเป็นการสนทนากับบทความชุด แม่บ้านหัวเห็ด และมีสำนวนการเขียนที่คล้ายคลึงกับอำแดงกล่อมอยู่มาก จนน่าเชื่อได้ว่าเป็นข้อเขียนของคุณอัศนีเอง จึงได้นำมารวมพิมพ์ไว้ในภาคผนวกด้วย อย่างไรก็ดี หากว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของสำนักพิมพ์อ่านเองแล้ว เราพร้อมที่จะขออภัยและรับผิดชอบค่าตอบแทนข้อเขียนชิ้นนี้แก่ ‘สายม ณ ฝั่งยม’ หรือทายาท ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณหอสมุดแห่งชาติที่ได้เก็บรักษาเอกสารให้เป็นแหล่งค้นคว้าสำหรับประชาชน และหวังว่าผู้อ่านที่ติดตามผลงานของอัศนี พลจันทร จะได้อรรถรสอันสำราญจากผลงานชุด แม่บ้านหัวเห็ด นี้ตามสมควร