สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

จิตรา

100 ฿

ราคานี้รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียนแล้ว

หมวดหมู่:

รายละเอียด

จิตรา

ผู้เขียน อินทรายุธ
ลำดับที่ 11 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
112 หน้า ราคา 120 บาท
ISBN 978-616-7158-79-2

หมายเหตุบรรณาธิการ

จิตรา เป็นผลงานของ “อินทรายุธ” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านจัดพิมพ์เป็นลำดับที่ 11 ในโครงการอ่านนายผี โดยใช้ฉบับพิมพ์คร้ังที่ 1 พ.ศ. 2534 ของสำนักพิมพ์ทะเลหญ้า เป็นต้นร่าง เนื่องจากเป็นฉบับที่จัดพิมพ์โดยคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี พลจันทร ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์

คำนำของ จิตรา ฉบับต้นร่างนี้ เล่าความเป็นมาพอสรุปได้ว่า จิตรา ไม่ใช่เรื่องแปล แต่เป็นการนำเค้าเรื่องเดิมของรพินทรนาถ ฐากูร มาเรียบเรียงแต่งใหม่ เมื่อพิจารณาจากประวัติของคุณอัศนี ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาเริ่มทำงานนี้ตั้งแต่ครั้งยังรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วยอยู่ที่ปัตตานี จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2487 และต่อมาตัดสินใจไม่ตีพิมพ์ เพราะเห็นว่าทรรศนะในเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ในภายหลัง เขายังกล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า เป็นงานแต่งใส่ความใหม่เพื่อ

“เรียกร้องการ ‘ออกนอกคอก’ ของคนสมัยนั้น, เรียกร้องให้กล้าสู้กับความคิดเก่า. ทำได้ไม่เท่าไรสภาพเปลี่ยนแปลง, ก็เลิกและไม่ได้ตั้งใจพิมพ์ … มีทรรศนะหลายอย่างในนั้น มิใช่ของชนช้ันกรรมาชีพ, ควรเลิก, จึงปฏิเสธไป…” [ดู กัญจน์ ชงค์, “อัศนี พลจันทร์ ผู้คระวีวิริยอาวุธ ในวังวนของความ ขัดแย้ง”, ปริทัศน์สาร (กุมภาพันธ์ 2526): 59.]

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปในปี 2499 “แสงทอง” (นามปากกาของหลวงบุณยมานพพาณิชย์) ผู้ดูแลคอลัมน์ “ภาษาและหนังสือ” ประจำนิตยสารรายสัปดาห์ สยามสมัย ได้ตอบจดหมายผู้อ่านนาม “วเนจร วิเวกจญ” ซึ่งสอบถามมาเกี่ยวกับผลงานของรพินทรนาถ ฐากูร “แสงทอง” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเขียนชาวเบงกาลีผู้นี้พร้อมกับแจ้งว่า ผลงานของรินทรนาถ ฐากูรที่มีผู้แปลเป็น ไทยแล้วคือเรื่อง จิตรา ซึ่งอินทรายุธได้เคยส่งต้นฉบับงานแปลห้าฉากแรกไปให้เขาอ่านและขอข้อคิดเห็นตั้งแต่ราวปี 2488 แต่หลังจากน้ันก็ไม่ได้ส่งไปให้เขาอีก หนำซ้ำฉากที่ 4 ก็พลัดหายในระหว่างการจัดส่งทางไปรษณีย์เสียอีกด้วย “แสงทอง” ระบุต่อไปในคอลัมน์ของเขาว่า:

ข้าพเจ้าเสียดายงานร้อยกรองของนายอัศนีที่ทราบกันมากแล้วว่าใช้นามปากกา “นายผี” ที่มามีอยู่ในครอบครองของข้าพเจ้าจะสูญหายไปเปล่า จะขออนุญาตเจ้าของเอาลงเปิดเผยแพร่คารมเขา ก็ไม่ทราบว่าจะติดต่อได้ที่ไหน หากมีท่านผู้ใดกล้ารับผิดชอบว่า ถ้าข้าพเจ้าเอาร้อยกรองของอัศนี พลจันทร์ ผู้แปลเรื่อง จิตรา ของฐากูรลงพิมพ์แพร่ไปได้โดยข้าพเจ้าไม่ต้องคดีใดๆ ทั้งแพ่งและอาญา ข้าพเจ้ารับประกันว่าท่านผู้อ่านจะได้รสภาษาและหนังสือจากเรื่อง จิตรา คารมกลอนของ “นายผี” มากทีเดียว

(สยามสมัย 20 ก.พ. 2499, น.31)

สามเดือนต่อมา สยามสมัย ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2499 ได้ตีพิมพ์บทละคอน จิตรา ตอนแรก โดยแสงทองได้เขียนคำนำเล่าที่มาในทำนองเดียวกับที่ยกมาข้างต้น ทว่าเมื่อ คุณวิมล พลจันทร ทราบเรื่อง ก็ได้ไปเจรจากับ บ.ก. สยามสมัย ให้ยุติการตีพิมพ์งานที่เจ้าของไม่อนุญาต จิตรา ฉบับสยามสมัย จึงยุติลงเพียงเท่านั้น จากนั้นท้ังคุณอัศนีและคุณวิมลก็เดินทางไปใช้ชีวิตในเขตป่าเขา จนกระทั่งทั้งสองต้องพลัดพรากจากกันในปี 2526 โดยที่คุณวิมลกับลูกๆ กลับคืนสู่เมือง ส่วนคุณอัศนีไปเสียชีวิตท่ีประเทศลาวราวปี 2530

เมื่อคุณวิมลนำผลงานของคุณอัศนีมาจัดพิมพ์ในวาระครบรอบอายุ 72 ปีของอัศนี พลจันทร ก็ได้ตัดสินใจนำ จิตรา มาพิมพ์ด้วยในระยะไล่เรี่ยกันในนามสำนักพิมพ์ทะเลหญ้า โดยใช้ต้นฉบับจากสี่ฉากที่เคยตีพิมพ์ใน สยามสมัย และที่ต่อมาสำนักพิมพ์ศิวาลัยได้นำมาพิมพ์รวมเล่มในปี 2522 ทั้งนี้ คุณวิมลได้เผยความรู้สึกของเธอไว้ในคำนำว่า “ส่วนที่ขาดไปห้าฉากนั้นเปรียบเสมือนรัดเกล้าที่รัดร้อยข้าเจ้า มาตราบเท่าทุกวันนี้”

การจัดพิมพ์ จิตรา ฉบับสำนักพิมพ์อ่านครั้งนี้ใช้ฉบับสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าเป็นต้นร่าง โดยได้สอบทานกับฉบับ สยามสมัย เฉพาะฉากแรกจากใน สยามสมัย ปีที่ 9 ฉบับที่ 470 วันที่ 14 พ.ค. 2499 และบางส่วนของฉากสองจาก สยามสมัย ปีที่ 9 ฉบับที่ 471 วันที่ 21 พ.ค. 2499 กับบางส่วนของฉากสาม ซึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์จากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่ให้เราได้สำเนาจาก สยามสมัย ปีที่ 10 ฉบับท่ี 474 วันที่ 11 มิ.ย. 2499 โดยคุณนุชจรี ใจเก่ง ได้กรุณาถ่ายสำเนามาให้ ส่วนท่ีเหลือนอกจากน้ัน เราไม่สามารถสืบหาต้นฉบับใน สยามสมัย มาตรวจทานได้

นอกจากนี้ เราได้ปรับแก้คำประพันธ์บางส่วนซึ่งถูกแก้ไขใน สยามสมัย ให้กลับคืนเป็นตามที่อินทรายุธทำไว้ โดยได้ระบุการแก้ไขไว้ในหมายเหตุ บ.ก. ส่วนคำอธิบาย ศัพท์ซึ่งเคยมีการทำไว้ในฉบับพิมพ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้น้ัน เราได้ปรับให้เหลือเพียงบางส่วนเพื่อมิให้เป็นการจำกัดการตีความคำประพันธ์ตามนิยามในพจนานุกรมมากเกินไป อีกท้ังเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าตัวผู้ประพันธ์เองมีเจตนาที่จะไขคำศัพท์ไว้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้คำอธิบายศัพท์เท่าที่เหลืออยู่นี้ เราอาศัยอ้างจากสํสกฤต-ไท-อังกฤษอภิธาน ของหลวงบวรบรรณรักษ์, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 และพจนานุกรมฉบับมติชน

สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ คุณวิมลมาลี พลจันทร ที่ อนุญาตให้จัดพิมพ์จิตรา อีกครั้งในนามสำนักพิมพ์อ่าน