สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง

Original price was: 220 ฿.Current price is: 165 ฿.

หมวดหมู่:

รายละเอียด

กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง
ผู้เขียน เหมาเจ๋อตุง
ผู้แปลประไพ วิเศษธานี
ลำดับที่ 17 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
222 หน้า ราคา 220 บาท
ISBN 978-616-7158-85-3

 

หมายเหตุบรรณาธิการ

กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง เป็นงานแปลของอัศนี พลจันทรในนามปากกา ประไพ วิเศษธานี สำนักพิมพ์อ่านนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในลำดับที่ 17 ของโครงการอ่านนายผีโดยใช้ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518 ของผู้จัดพิมพ์ในนาม “ทัพหน้าราม” เป็นต้นร่าง ตามที่คุณวิมล พลจันทร คู่ชีวิตของคุณอัศนี ได้ริเริ่มชำระต้นฉบับไว้บางส่วน

ตามต้นร่างเดิม หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือบทแปลจากภาษาจีนเป็นไทย หรือที่ผู้แปลเรียกว่า “สยามพากย์” ของกาพย์กลอน 34 เรื่องของเหมาเจ๋อตุง อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประพันธ์ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1925-1963 (2468-2506) ถัดจากบทแปลคือตารางเทียบเสียงจีน-ไทย ซึ่งผู้แปลแจกแจงไว้ให้แล้วตามด้วยกาพยสูจิหรือสารบัญกาพย์กลอนซึ่งจัดเรียงทั้งในแบบปทานุกรมเรียงตามเลขหน้าหนังสือและแบบอักษรานุกรมเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อกาพย์กลอน ปิดท้ายด้วยโคลงหนึ่งบทซึ่งเข้าใจว่าเป็นของผู้แปล ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 1968 (2511)

ส่วนที่สองเป็นภาคผนวกห้าภาค ซึ่งในหน้าแรกลงปีกำกับไว้ว่า 1975 หรือ 2518 ประกอบด้วย 1) “ฎีกาของผู้ฎีกา” ซึ่งเป็นคำอธิบายขยายความเกี่ยวกับศัพท์ต่างๆ ในกาพย์กลอน 2) ตารางเทียบเสียงจีน-ไทย 3) “สูจิ” หรือดัชนีค้นคำ 4) “แทงเกษียนในกาพย์กลอนที่แต่ง” หรือข้อเขียนสรุปอธิบายโดยเหมาเจ๋อตุงเอง รวมถึงที่ตัดตอนมาจากจดหมายบางฉบับซึ่งอธิบายที่มาของกาพย์กลอนบางส่วน 5) จดหมายจากผู้แปลสองฉบับถึงเพื่อนผู้หนึ่ง

การจัดพิมพ์ครั้งนี้สำนักพิมพ์อ่านยังรักษาโครงสร้างเดิมไว้ตามต้นฉบับยกเว้นแต่ที่ได้ตัดตารางเทียบเสียงจีน-ไทยที่อยู่ท้ายบทแปลในส่วนแรกออกไป เนื่องจากซ้ำซ้อนกันกับภาคผนวกที่ 2

ทั้งนี้ ข้อมูลวันเวลาและชื่อเฉพาะคล้ายชื่อสถานที่ซึ่งลงกำกับไว้อย่างไม่มีที่มาที่ไปอยู่ท้ายภาคผนวก ส่วนที่เป็นฎีกา ทำให้เราอนุมานได้ว่าผู้แปลน่าจะทำงานชิ้นนี้สำเร็จลงในวันที่ 28 พฤษภาคม 1968 (2511) และมีบันทึกสั้นๆ ที่ต้นฉบับเดิมได้ตีพิมพ์ไว้ถัดมาข้างๆ กัน ระบุว่าได้มีการชำระและ “พิมพ์สอดลายมือครั้งที่ ๒” เป็นบรรณาการในวันครบรอบวันเกิด 77 ปีของ “ท่านปรมาจารย์” ลงวันที่ 26 ธันวาคม 1970 (2513) ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าปรมาจารย์ที่ว่านั้นหมายถึงเหมาเจ๋อตุง ส่วนชื่อสถานที่ที่ลงกำกับไว้ว่า อัษฎาทศสถานนั้น คำว่า “อัษฎาทศ” ซึ่งแปลว่า สิบแปด ก็ทำให้อนุมานได้ว่าหมายถึง “บ้านพัก 18 หลัง” ซึ่งคุณวิมล พลจันทร เคยพาดพิงถึงไว้สั้นๆ ใน รำลึกถึงนายผีจากป้าลม (2533) ว่า หลังออกเดินทางมาจากเวียดนาม ที่ซึ่งคุณอัศนีไปช่วยบุกเบิกริเริ่มสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ไว้ ทั้งคุณอัศนีและคุณวิมลก็เดินทางต่อมายังประเทศจีน และ “เมื่อมาถึงสถานีรถไฟปักกิ่ง ผู้รับผิดชอบฝ่ายจีนได้ส่งรถมารับไปพักอยู่ที่บ้านรับรอง ๑๘ หลังชานเมืองปักกิ่ง” ทั้งหมดนี้คือร่องรอยเท่าที่พบในต้นฉบับต่อมาเมื่อได้มีโอกาสอ่านบันทึกความทรงจำของคุณวิมล พลจันทร ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านรับมอบมาจากทายาท คือคุณวิมลมาลี พลจันทร ก็ทำให้พบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้มากขึ้น บันทึกดังกล่าวเป็นบันทึกด้วยลายมือ และพิมพ์ดีด ซึ่งแม้จะยังเขียนไม่เสร็จสมบูรณ์แต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง นั้น ถึงกับมีการบันทึกไว้เป็น “ผนวกที่สอง เรื่องแปลกาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง” เป็นต้นร่างลายมือ ดังนี้

เรื่องนี้เนิ่นนานมาแต่เริ่มมารับผิดชอบในกรุงฮานอยกรมวิเทศสัมพันธ์เวียตนามมาขอให้คุณอัศนีช่วยแปลบทกวีของท่านประธานโฮ จากเวียตเป็นภาษาไทย* และเมื่อไปจีน–กรมวิเทศสัมพันธ์ก็ได้ขอให้แปลกาพย์กลอนของท่านประธานเหมา ที่เปนเช่นนี้เพราะผู้ปฏิ [บัติ] งานของทั้งสองประเทศรู้จักบทกวีที่คุณอัศนีเขียนตีพิมพ์ในเมืองไทยมาเปนอย่างดี ส่วนประเทศจีน-ยังรู้จากข้อเขียนของคุณนงเยาว์**ผู้ไปติดอยู่ในประเทศจีนนานถึง 9 ปี [–] จีนได้ขอให้คุณนงเยาว์เขียนประวัตินักเขียนผู้มีชื่อในเมืองไทยทั้งหมด เพื่อสดวกในภายหน้า ถ้าจะเชื้อเชิญนักเขียนเหล่านั้นมาเยือนประเทศจีน คุณนงเยาว์ได้เขียนประวัติคุณอัศนีแต่ครั้งเยาว์วัย จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนปฏิวัติอย่างละเอียด เพราะคุณนงเยาว์ได้รับรู้และศึกษาข้อมูลจากลูกพี่ลูกน้องของคุณอัศนีมาอย่างละเอียด

การแปลกวีนิพนธ์ของท่านประธานเหมา–ต่อเมื่อเห็นว่านักปราชญ์ของจีนที่พยายามจะแปลกาพย์กลอนของท่านประธานเหมามาแต่เริ่มปลดปล่อยใหม่ๆ จนกระทั่งถึง “ปฏิวัติวัฒนธรรมใหญ่ของจีน” ก็ยังแปลไม่เสร็จ ส่วนคุณอัศนีมีภาระจะต้องกลับประเทศให้ได้ และไม่อยากเปนผู้ละเมิดสิทธิ์ จึงไม่คิดจะนำมาแปลใน “น่านเหนือ” ด้วยเหตุนี้ทุกบทของบทกวีของท่านประธานเหมาเจ๋อตุงจึงผ่านสายตาท่าน “โตรวเอนไหล” นายกรัฐมนตรีจีนว่าตรงกับสถานที่ๆ ท่านประธานเหมาเขียนหรือไม่ ทั้งสถานที่และบทกวี–เกิดขึ้นในเหตุการณ์อะไร ดังนี้เปนต้น (สถานที่อาศัยการอ่านจากหนังสือประวัติศาสตร์ของจีนที่ซื้อด้วยเงินของคุณอัศนี – ราคา 100 หยวนหรือกว่านั้น) กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุงมีหลายภาษาในปักกิ่ง แต่มิได้เปนทางการ เพราะฝ่ายนักปราชญ์ราชบัณฑิตของจีนยังแปลออกมาไม่ได้ ฉะนั้นการแปลของคุณอัศนี–อาจจะเปนเครื่องระลึกถึงท่านประธานเหมาเจ๋อตุงอย่างหนึ่ง และมีประโยชน์ต่อนักปฏิวัติที่ทำการปฏิวัติในเขตป่าเขา

จากบันทึกนี้ก็หมายความว่า ด้วยเหตุที่คุณอัศนีตั้งใจว่าจะกลับไทย จึงลงมือแปลให้เสร็จตั้งแต่ยังอยู่ที่จีนเพื่อให้งานแปลนั้นได้รับการรับรองถูกต้อง ในการแปลกาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุงนี้ คุณวิมลบันทึกว่าคุณอัศนีเป็นผู้แปลคนเดียว โดยขณะอยู่ที่ปักกิ่งนั้น คุณอัศนีทำงานเป็นหัวหน้าของหน่วยงานแปล สรรพนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง ซึ่งมีคนไทยร่วมทำงานแปลด้วยอีกสองคน ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานแปลจะได้รับสวัสดิการตามที่พรรคกำหนดให้ในฐานะผู้ปฏิบัติงานของพรรค มิใช่งานรับจ้าง ส่วนคุณวิมลซึ่งเป็นผู้พิมพ์ดีดและเย็บเล่มต้นฉบับนั้นมาช่วยงานโดยเต็มใจและไม่ได้รับเงินเดือนจากพรรค

อีกหลายปีต่อมา เมื่อทั้งคุณอัศนีและคุณวิมลมาเป็นผู้ปฏิบัติงานในเขตป่าเขาที่ภูพยัคฆ์ เขตงานน่านเหนือ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง ก็ได้ทำหน้าที่อีกประการ ดังที่คุณวิมลเล่าไว้ว่า

“กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง” ได้สู่ที่ราบในปี 2516 ถ้าจำไม่ผิด และจากการสู่ที่ราบของหนังสือนี้ ได้เปนเรื่องทำไปโดยพลการไม่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนำก่อนเกิด 6 ตุลาคม คุณอัศนีได้เสนอฝ่ายนำให้มีข้อชี้นำ “แนวทาง” หากฝ่ายนำไม่คิดอะไรและไม่ทำอย่างไรโต้ลัทธิแก้ไทย และ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง ในขณะที่คุณอัศนียังนำหน่วยงานโฆษณา ก็คือการรับผิดชอบที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ – เพราะหนังสือที่กล่าวถึงนี้ ขณะมีหน้าที่ยังต้องฝากสหายผู้ขอลาออกจากการเปนสมาชิกพรรคและสู่ที่ราบ -เปนผู้นำมาเผยแพร่

ต้นฉบับหนังสือ โต้ลัทธิแก้ไทย หรือ โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ถูกส่งลงมาเพื่อตอบโต้คัดง้างกระแสการฉวยโอกาสยกแนวทาง 14 ตุลาไปในทิศทางคุณที่อัศนีเห็นว่าจะลดทอนการต่อสู้ และตีพิมพ์ในนามปากกา อุทิศ ประสานสภา ซึ่งคุณอัศนีไม่เคยใช้มาก่อน และปรากฏในงานชิ้นนี้เพียงครั้งเดียว ส่วน กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง นั้น คุณอัศนีเลือกที่จะใช้นามว่า ประไพ วิเศษธานี อย่างไรก็ดี ต้นฉบับ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แม้จะถูกส่งลงมาในเหตุวาระอันเกี่ยวเนื่องกับกรณี 14 ตุลาเหมือนกัน แต่มิใช่เพื่อคัดง้างฟาดฟันหรือเตือนภัยเช่นเดียวกันกับ โต้ลัทธิแก้ไทย หากเพื่อปลุกเร้ากำลังใจในสถานการณ์ที่คุณอัศนีเห็นว่าฝ่ายประชาชนกำลังรุดหน้า และควรจะรุดหน้าไปอย่างประสานกันระหว่างฝ่ายที่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ กับฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ในเมือง ดังที่เขาระบุไว้ในจดหมายถึงเพื่อนซึ่งแนบมากับต้นฉบับนี้ (ดูในภาคผนวกห้าของเล่มนี้) ว่า

อนึ่งโสด, เหตุการณ์ในประเทศเราระยะนี้, โดยฉะเพาะหลังกรณี 14 ตุลาคมมา, กำลังกลายเป็นอย่างที่ว่า ‘เมฆน้ำเกรี้ยวกราดม้วนสี่สมุทร, อึกทึกฟ้าลมทังทวีปห้า.’ กระแสร์การต่อสู้ของกรรมกรชาวนา – นักเรียนนักศึกษาปัญญาชน ตลอดจนประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลายในเงื้อมอำนาจปกครองปฏิกิริยากำลัง ‘เกรี้ยวกราดม้วนสี่สมุทร,’ และกระแสร์การต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชนนอกเงื้อมอำนาจนั้นก็กำลัง ‘อึกทึกฟ้าลมทังทวีปห้า’ อยู่แล้ว . การประสานเข้าด้วยกันของกระแสร์ใหญ่ทั้งสองนี้กำลัง ‘จักล้างสัตว์ร้ายสุดสิ้นหมด’ และกำลังสำแดง ‘สรรพศักดิ์ค้ำค้าค้าขาดอรี ’ อยู่แล้วเช่นกัน. สถานการณ์กำลังคลี่คลายขยายตัวไปอย่างใหญ่โตและรวดเร็ว, สมดั่งคำพยากรณ์อันยิ่งใหญ่เมื่อ 127 ปีก่อนโน้นที่ว่า ‘ชนชั้นปกครองจงตัวสั่นอยู่เบื้องหน้าการปฏิวัติ’ นี้นั้นเถิด

อย่างไรก็ดี ในที่สุดชนชั้นปกครองที่ “ตัวสั่นอยู่เบื้องหน้าการปฏิวัติ” ก็ตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการสังหารหมู่ 6 ตุลาในอีกสามปีต่อมา

กล่าวสำหรับต้นฉบับนี้ ในขั้นนี้เรายังไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้รับฝากลงมา และเมื่อมาถึงปลายทางแล้วใครเป็นผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครคือผู้รับที่คุณอัศนีฝากจดหมายแนบมาถึง ซึ่งในจดหมายนั้นมีคำปรึกษาเกี่ยวกับตัวต้นฉบับไว้หลายประเด็น อันทำให้เราแน่ใจได้ว่าผู้รับนั้นจะต้องเป็นผู้ที่คุณอัศนีเห็นว่ามีความรู้พอที่จะช่วยจัดการต้นฉบับให้สมบูรณ์

เราไม่อาจทราบว่าจดหมายนั้นได้ถึงมือผู้รับคนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อต้นฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 ผู้จัดพิมพ์ในนาม “ทัพหน้าราม” ก็ตีพิมพ์ตัวจดหมายนั้นไปด้วย รวมทั้งคำถามหรือคำปรึกษาที่แทรกอยู่ในตัวเนื้อหา ก็ยังคงไว้อยู่ตามเดิม เช่น ใน “ฎีกา” ของ “ความเห็นเสนอท่านประธานเหมา” (ดู หน้า 134 ในเล่มนี้) ที่คุณอัศนีถึงกับฝากว่า “หากไม่บริบูรณ์ก็ขอได้ช่วยแปลให้ครบด้วย.” และอันที่จริง คำว่า “ฎีกา” นั้น คุณอัศนีก็ดูจะยังไม่พอใจที่จะให้ใช้ (ดูหน้า 221 ในเล่มนี้) กระนั้นสุดท้าย

ต้นฉบับนี้ก็ตีพิมพ์โดยใช้คำว่า “ฎีกา” สำหรับเรียกเนื้อหาภาคคำอธิบายของกาพย์กลอน

คุณอัศนีได้ระบุไว้ในจดหมายถึงเพื่อนฉบับดังกล่าวด้วยว่า

… บทแปลและบทอธิบายที่ทำผนวกไว้นี้จึงพึงถือได้แต่เพียงเป็นกระดานหกสำหรับผู้รู้ที่เรืองวิชาจะมาใช้ในการจัดทำให้ดีและสมบูรณ์ขึ้นในการต่อไปเท่านั้น.

อย่างไรก็ดี สำนักพิมพ์อ่านยังคงตีพิมพ์ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง นี้ตามต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก เพื่อรักษาต้นฉบับนี้ไว้ในฐานะผลงานประวัติศาสตร์ของผู้บุกเบิกการแปล กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง สำนวนแรก รวมทั้งบุกเบิกการถอดเสียงภาษาจีนอย่างถี่ถ้วนจริงจัง

อนึ่ง การสะกดคำในการพิมพ์ครั้งนี้ ยังคงตามต้นฉบับเดิมที่สะกดไปตามหลักเกณฑ์ของยุคสมัยและ/หรือของผู้เขียน ดังนั้นจึงมีคำที่สะกดผิดไปจากเกณฑ์ในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น กระแสร์, กลับตะละปัตร, กะรอก, เกษร, คล, ฉนี้, ฉะบับ, ชตากรรม, ชะนิด, ชะนะ, ชะอุ่ม, ตลุย, ตลุมบอน, ตลุย, ตะบะ, ตำหรับ, ทลวง, ทลัก, ทลุ, ทัง, ทิวทรรศน์, ธรรมาศน์, นาลิกา, นิราส, นิสสัย, บุณย์, บุบผา, ผะอบ, พยาธิ์, พระศรีอารย์, พะยุ, พลั่งพรู, ไฝ่ฝัน, มนตร, มหรศพ, มหาศาสนต, มหิมา, มารกษ์, ราศรี, รื่นรมณ์, วิเวกต์, วีระชน, ศักดิสิทธิ, ศีร์ษะ, สกด, สดุ้ง, สทกสท้าน, สบัด, สพาน, สท้อน, สัญญลักขณ์, สารพัตร, เสทื้อน, เหิร, โหยหวล, อยุทธยา, อาลวาด, อุปราการ เป็นต้น รวมทั้งการใช้อย่างที่ปัจจุบันถือว่า “ลักลั่น” เช่นในกรณีที่ใส่และไม่ใส่การันต์ในคำว่า จันทร/จันทร์ หรือในคำที่ลงท้ายว่า ศาสตร/ศาสตร์, การ/การณ์ รวมถึงการสะกดสองแบบระหว่าง กระฎุมพี กับ กฎุมพี, การใช้คำว่าทลายกับทะลายในความหมายเดียวกัน และการใช้คำว่าอวกาศ, โอกาศ ในความหมายของคำว่า โอกาส ส่วนที่มีการแก้ไข จะเป็นคำที่สะกดตกหล่นหรือผิดความหมาย เช่น โครง แก้เป็น โคลง (เมื่อหมายถึงชนิดคำประพันธ์) นอกจากนั้นยังใช้ตัวยามักการ หรือ ๎ บอกเสียงพยัญชนะควบตามต้นฉบับของผู้แปล แม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ในข้อความในหน้าสุดท้ายของฉบับพิมพ์ 2518 ซึ่งเราได้นำมาพิมพ์ซ้ำไว้ในการพิมพ์ครั้งนี้ด้วยนั้น ผู้จัดพิมพ์ได้มีบันทึกสั้นๆ ระบุไว้ว่า

การพิมพ์ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง ครั้งนี้ อักษรจีนที่ใช้ยังเป็นอักษรจีนเดิม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่อักษรจีนใหม่ยังไม่มีใช้ในบ้านเราจึงเป็นเหตุสุดวิสัยของผู้จัดพิมพ์ไม่สามารถหามาใช้ตามต้นฉบับเดิมได้ จึงจำเป็นต้องใช้อย่างที่เรามีอยู่ ซึ่งก็พอจะอนุโลมใช้แทนกันได้ เพราะอักษรจีนใหม่ก็วิวัฒนาจากอักษรจีนเดิม

แต่ในการจัดพิมพ์ฉบับของสำนักพิมพ์อ่านในยุคสมัยนี้ที่การเลือกใช้ฟอนท์ตัวอักษรจีนพอจะอยู่ในวิสัย เราได้รับความช่วยเหลือจากคุณสุรัตน์ ปรีชาธรรม ในเรื่องการเลือกใช้ตัวอักษรภาษาจีน จึงขอแสดงความขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

สำนักพิมพ์อ่านยังขอขอบคุณ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่ค้นต้นฉบับที่เกี่ยวข้องมาให้เราได้ใช้ตรวจทานอย่างดี

ประไพ วิเศษธานี เล่าไว้ในภาคผนวกว่า “กาพย์กลอน” เป็นคำรวม หมายถึงคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองทั่วไป (poems) มิได้หมายถึงเพียงการประพันธ์สองชนิดคือกาพย์และกลอน ดังนั้นวิธีของเขาจึงเป็นการ “แปลแต่งเป็นคำประพันธ์ไทยบิดผันไปต่างๆ สุดแต่ว่าคำประพันธ์ไทยชะนิดไหนเหมาะ หรือสอดคล้องกับเนื้อหาและวิญญาณของบทประพันธ์เดิมแต่ละบทมากที่สุด” (น. 218) และหมายรวมถึงแม้แต่ในกรณีที่เป็น “กาพย์กลอนแบบใหม่” ซึ่งเหมาเจ๋อตุงเน้นให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่าการเขียนกาพย์กลอนแบบเก่าซึ่งมีกฎเกณฑ์ยุ่งยากตายตัว

ในฉบับพิมพ์ของทัพหน้าราม ปรากฏคำนำซึ่งแนะวิธีอ่าน กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง ฉบับสยามพากย์นี้ไว้ว่า

ถ้าจะให้ได้รับรสทั้งรสคำและรสความอย่างละเอียดอ่อนแล้ว อาจดำเนินไปสองวิธี คือวิธีหนึ่งอ่านตลุยไปโดยตลอด แต่อีกวิธีหนึ่งแม้จะช้าบ้างแต่เชื่อว่าจะทำให้มองเห็นภูมิหลังของงานแต่ละชิ้นอย่างรอบด้าน กล่าวคืออ่านกวีข้างต้นแล้วพิจารณาเปรียบเทียบกับภาคผนวกอย่างชนิดคำต่อคำ

สำนักพิมพ์อ่านหวังให้ผู้อ่านได้รับความรื่นรมย์และความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ตามสมควรจากงานแปลชิ้นนี้ ทั้งในฐานะที่ตัวงานกาพย์กลอนนี้และผู้ประพันธ์ได้กลายไปเป็นประวัติศาสตร์ และในฐานะที่เป็นผลงานแปลครั้งประวัติศาสตร์ของอัศนี พลจันทร

 

——
* คุณวิมลเขียนไว้เพิ่มเติมในส่วนอื่นของบันทึกความทรงจำนี้ว่า “กรมวิเทศสัมพันธ์ของสาธารณรัฐประชาชนเวียตนามติดต่อมาก่อน ให้แปลกาพย์กลอนของท่านประธานโฮจิมินต์ คุณอัศนีไม่ได้รับปาก แม้ว่าได้มีเงื่อนไขใกล้ชิดผู้นำสูงสุด…”
** เข้าใจว่าหมายถึง นงเยาว์ ประภาสถิต