คำอธิบาย
ในสายธาร รวมข้อเขียนสังสนทนาว่าด้วยการประพันธ์
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 18 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
120 หน้า ราคา 120 บาท
ISBN 978-616-7158-86-0
หมายเหตุบรรณาธิการ
ในสายธาร เป็นการรวมงานเขียนของคุณอัศนี พลจันทรจากคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” และคอลัมน์ “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสียบาบ่าบ้า” ที่เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายเดือนชื่อ สายธาร ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยคุณอัศนีใช้นามปากกา “กุลิศ”, “ก.”, “ศรีฯ”, “หง” และ “อ.” สำหรับคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” และใช้นามปากกา “น.น.น.” สำหรับคอลัมน์ “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสียบาบ่าบ้า” สำนักพิมพ์อ่านได้รวบรวมขึ้นจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ในลำดับที่ 18 ในโครงการอ่านนายผี โดยตั้งชื่อหนังสือว่าในสายธาร เพื่อเป็นการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงที่มาของข้อเขียนเหล่านี้ ทั้งเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พื้นที่บุกเบิกดังกล่าว อันเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ของวงการประพันธ์และสิ่งพิมพ์นิตยสารของไทย
สายธาร เป็นนิตยสารรายเดือนที่วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2501 มี ทองเติม เสมรสุต เป็นเจ้าของและผู้จัดการ, เชาวน์ พงศ์พิชิต เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แม้นิตยสารฉบับนี้จะมีอายุเพียงหกเดือน แต่นับเป็นเวทีชุมนุมนักเขียนคนสำคัญในยุคสมัยนั้น อาทิ ศรีบูรพา, เสฐียรโกเศศ, ทีปกร (นามปากกาหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์), บรรจง บรรเจิดศิลป์, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์, เสนีย์ เสาวพงศ์, จิตร บัวบุศม์, อิศรา อมันตกุล และรวมถึงอัศนี พลจันทร
กล่าวสำหรับ “จดหมายในหมู่มิตร” เป็นงานที่เขียนในรูปแบบจดหมายหกฉบับในนามปากกาต่างๆ ที่ส่งถึงหกบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับนิตยสาร สายธาร อันได้แก่ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้กำลังเขียนนวนิยายเรื่อง ล่องใต้ ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ, ทองเติม เสมรสุต, เชาวน์ พงศ์พิชิต, สวิง พรหมจรรยา ผู้เขียนเรื่องในแวดวงศิลปะ และ “อุชเชนี” ผู้ดูแลคอลัมน์ “สนามกลอน” ที่เปิดรับผลงานนักกลอนหน้าใหม่
ส่วน “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสียบาบ่าบ้า” เป็นคอลัมน์ว่าด้วยภาษาและความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับแวดวงนักเขียน ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการตีพิมพ์หนังสือก่อนออกวางจำหน่าย โดยผู้เขียนคือ ‘น.น.น.’ เรียกร้องให้ผู้มีความร้ด้านต่างๆ ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ของตนในวงกว้างเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ไม่ใช่ ‘รู้แล้วนิ่งเสีย’ และเก็บงำความรู้ทั้งหลายไว้กับตนเอง
คงไม่ใช่การกล่าวเกินเลยไปนักหากจะระบุไว้ว่าการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนตุลาคม 2501 ได้ก่อความเสียหายให้กับแวดวงการเขียนอยู่ไม่น้อย และคงเป็นเหตุสำคัญให้นิตยสาร สายธาร ซึ่งออกจำหน่ายได้เพียงหกฉบับนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีอันต้องล้มหายตายไปจากบรรณพิภพในเดือนตุลาคม ขณะที่คุณอัศนีก็ตัดสินใจเป็นนักปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเต็มตัว โดยทิ้งงานเขียนในสองคอลัมน์นี้ซึ่งจัดเป็นงานในช่วงท้ายที่มีการตีพิมพ์ไว้ให้เป็นที่ระลึกถึง กระนั้นก็ดี ข้อเขียนในคอลัมน์ทั้งสองนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงความหวังของคุณอัศนีที่มีต่อแวดวงการเขียน ด้วยน้ำเสียงท่าทีให้กำลังใจแก่นักเขียนรุ่นใหม่อย่างเต็มเปี่ยม
การจัดพิมพ์ ในสายธาร ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ใช้ต้นฉบับตามที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สายธาร ซึ่งเราสืบค้นมาจากหอสมุดแห่งชาติมาเป็นต้นร่าง โดยเรียงลำดับเรื่องไปตามการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่เนื่องจากต้นฉบับที่พบมีอยู่ห้าฉบับ โดยขาดฉบับเดือนกันยายน 2501 ไป จึงได้อาศัยงานตีพิมพ์ซึ่งมีรวมอยู่ในหนังสือรวมบทความ ‘นายผี’: อัศนี พลจันทร ของสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อปี 2541 เป็นต้นร่างแทน
ในแง่หลักเกณฑ์ภาษาและถ้อยคำ สำนักพิมพ์อ่านปฏิบัติต่อต้นฉบับชิ้นนี้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนพัฒนาการของภาษาในแต่ละยุคสมัยที่มีชีวิตของมันเอง เราจึงรักษารูปแบบการสะกดคำ รวมทั้งเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ไว้ตามต้นฉบับเดิม เพื่อเก็บร่องรอยภาษายุค 2500 ไว้ รูปคำที่พบจึงย่อมมีที่ “ผิด” ไปจากบรรทัดฐานปัจจุบันซึ่งมักอ้างอิงกันตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ อาจจัดกลุ่มโดยคร่าวได้ดังนี้
ก. คำที่สะกดผิดไปจากพจนานุกรมปัจจุบัน แต่สะกดตรงตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493
ข. คำที่สะกดผิดจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 แต่สะกดตรงตามพจนานุกรมฉบับก่อนหน้า และ/หรือพบหลักฐานการใช้อยู่ก่อนหน้าการบัญญัติของ
พจนานุกรมฯ 2493 รวมถึงคำที่เข้าใจว่าผู้เขียนเลือกสะกดตามรากศัพท์หรือรากภาษา คำในกลุ่มนี้ ได้แก่ เปน, พิสวง, ศักติ, เทฆนิค, นาฑี, ปลาด, ชตากรรม, ชะนะ, ขะโมย, อีศาน, เวียตนาม, จักรวาฬ, กะเด็น, ชรอย, ทนง, พากพูม, เพ็ชรบุรี, สกด, บันดา, บันทัด, เครื่องยนตร, บุบผา, กระแสร์, เม็ดตา, พลั่งพรู, อิศระ, ใหม, ไฝ่ เป็นต้น
ค. กรณีคำที่มีการใช้ลักลั่นกัน ระหว่างรูปคำที่ใช้กันอยู่ก่อนและภายหลังการเลือกบัญญัติโดยคณะกรรมการของพจนานุกรมฯ 2493 เราจะคงความ “ลักลั่น” นั้นไว้ เพื่อให้เห็นว่าการชี้ขาดรูปคำบางคำนั้นยังไม่นิ่งในช่วงรอยต่อของยุคสมัย เช่น โอกาศ/โอกาส, อัธยาศรัย/อัธยาศัย, ฉะบับ/ฉบับ, ใส้/ไส้ นอกจากนี้เรายังสืบพบหลักฐานข้อเขียนของนักเขียนและปราชญ์ทางภาษาในฝักฝ่ายต่างๆ ซึ่งแสดงการโต้แย้งต่อการเลือกเก็บและเลือกกำหนดรูปคำบางคำของคณะกรรมการฯ ในช่วงเวลานั้น เช่นคำว่า ศิลปวรรณคดี/ศิลปะวรรณคดี, สท้อน/สะท้อน, ละคอน/ละคร, ฉะเพาะ/เฉพาะ, มะลายู/มลายู เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีการใช้รูปคำซึ่งบัญญัติไว้ในพจนานุกรมแล้วทั้งคู่ แต่ใช้อย่างดูเหมือนลักลั่นกัน เราก็จะยังคงไว้ เช่น มรรคา/มรคา ส่วนคำว่า ประสบ/ประสพ นั้น ปรากฏในพจนานุกรมฯ 2493 ทั้งสองคำโดยบัญญัติความหมายต่างกันเล็กน้อย แต่ในเล่มนี้ใช้ในความหมายเดียวกัน
ง. คำที่ยังไม่ได้รับการบัญญัติไว้ชัดในพจนานุกรมฯ 2493 เราจะคงการสะกดไว้ตามต้นฉบับแม้จะมีความลักลั่น เช่นประสบการณ์/ประสบการ หรือสำนวนที่ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการชี้ขาดให้ใช้รูปคำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สิ้นศูนย์
จ. คำที่ผู้เขียนเลือกสะกดหรือเลือกใช้ในความหมายที่ผู้เขียนเห็นว่าเหมาะสมเอง ได้แก่ คำในกลุ่มสร้างสรร/สังสรรค์/สังสนทนา, ปราชญ์เปรื่อง/เปรื่องปราด หรือกรณีคำว่า “นิยาย” ที่ใช้ในความหมายของการขยายความ
ฉ. ชื่อเฉพาะที่มีการสะกดลักลั่น คือชื่อนามปากกาบรรจง บรรเจิดศิลป์ กับ บรรจง บรรเจอดศิลป์ เราคงไว้ทั้งสองแบบตามต้นฉบับ เนื่องจากชื่อนี้มีปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วยการสะกดทั้งสองแบบ
กรณีเดียวที่มีการแก้ไขตลอดทั้งเล่มคือการแก้ความลักลั่นระหว่าง ฤา กับ ฤๅ ให้เหลือ ฤๅ คำเดียว ส่วนกรณีคำที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดในขั้นเรียงพิมพ์ของต้นฉบับเดิมนั้น เราจะหมายเหตุความเห็น บ.ก. ไว้
นอกจากการสะกดคำแล้ว ยังมีเรื่องการเน้นความไม่ว่าจะโดยการใช้ตัวหนา, ตัวเอน หรือการเพิ่มขนาดตัวอักษรไปตลอดทั้งประโยคหรือทั้งย่อหน้า อันเป็นความนิยมของการเรียงพิมพ์บนหน้านิตยสาร กรณีนี้เราจะคงไว้เฉพาะที่เป็นการเน้น ถ้อยคำ หรือวลี ที่แสดงการแยกแยะความหมายหรือชี้นัยสำคัญ อันเป็นการเน้นอย่างที่เราเคยพบในต้นฉบับลายมือและพิมพ์ดีดของคุณอัศนี รวมทั้งที่เป็นการเน้นโดยใส่เครื่องหมายอัญประกาศ
ส่วนกรณีที่ต้นฉบับเดิมมีการเน้นชื่อเฉพาะและนามปากกาด้วยตัวเอน เราจะคงไว้เฉพาะเมื่อปรากฏครั้งแรกเท่านั้น ขณะที่เมื่อเป็นชื่อหนังสือซึ่งเดิมมีการใช้ตัวเอนอยู่บ้างแล้วนั้น เราจะปรับให้เป็นการใช้โดยสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนการใช้เครื่องหมายวงเล็บตลอดทั้งเล่มนี้ คงการใช้วงเล็บเหลี่ยม หรือ [ ] ตามต้นฉบับ ดังนั้นความเห็นแทรกใดๆ จาก บ.ก. จะอยู่ในเชิงอรรถเท่านั้น มิใช่ในวงเล็บ
ทั้งนี้ เฉพาะจดหมาย “ถึงคุณสวิง พรหมจรรยา” ในภาค “จดหมายในหมู่มิตร” และเฉพาะใน “ตอนที่ 5” ของภาค “พูดไปสองไพเบี้ยฯ” ที่เราไม่อาจเข้าถึงต้นฉบับเดิมใน ปิยมิตร ฉบับเดือนกันยายน 2501 ได้ จึงตีพิมพ์ไปตามฉบับพิมพ์ใหม่ใน รวมบทความ ‘นายผี’: อัศนี พลจันทร (สามัญชน, 2541)
อนึ่ง ภาษาจีนในเล่มนี้ เราได้รับความช่วยเหลือจากคุณสุรัตน์ ปรีชาธรรม จึงขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้ ส่วนภาษามลายู เราใช้วิธีสำเนาลายมือเขียนในต้นฉบับเดิมมาวาง แทนการใช้ฟอนท์สำเร็จรูปสมัยใหม่ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวอักษรซึ่งเขียนด้วยลายมือของคุณอัศนีเอง เราจึงต้องการเก็บร่องรอยนั้นไว้
ท้ายที่สุดนี้ สำนักพิมพ์อ่านหวังให้ผลงานลำดับที่ 18 ในโครงการ “อ่านนายผี” เล่มนี้ เป็นหนึ่ง ในสายธาร ของการสังสนทนาว่าด้วยการประพันธ์ พร้อมกันไปกับการเป็นร่องรอยหลักฐานของสายธารแห่งขนบภาษาและขนบงานบรรณาธิการในประวัติศาสตร์สิ่งตีพิมพ์ไทย