สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ

120 ฿

หนังสือลำดับที่ 6 ในโครงการ “อ่านนายผี”

รายละเอียด

หมายเหตุการจัดพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ โดย “ประไพ วิเศษธานี” เป็นหนังสือลำดับที่ 6 ในโครงการอ่านนายผี ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี ให้จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้ง โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทความสองชุดซึ่งเคยตีพิมพ์ต่างวาระกัน ชุดแรก เคล็ดกลอน เป็นบทความแปดเรื่องตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ ฉบับที่ 121-123 ประจำวันที่ 21, 28 กันยายน และ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2502 บทความชุดที่สอง เคล็ดแห่งอหังการ มีอยู่สี่เรื่องด้วยกัน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันในภายหลัง คือตั้งแต่ฉบับที่ 188-192 ประจำวันที่ 2, 9, 16, 27 และ 30 เดือนมกราคม พ.ศ. 2504 บทความชุดเคล็ดแห่งอหังการนี้ยังต้องนับด้วยว่าเป็นงานเขียนเรื่องสุดท้ายของคุณอัศนี พลจันทร ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ เพราะหลังจากนั้นเขาได้เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว

คุณอัศนีใช้นามปากกา ประไพ วิเศษธานี เขียนบทความทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ และได้เล่าถึงมูลเหตุของการเขียนบทความชุดเคล็ดกลอนไว้ ในจดหมายที่เขาเขียนถึงคุณทำดี มีเรือช่วย บรรณาธิการของ ปิยมิตรวันจันทร์ (ดูภาคผนวก 1 หน้า 179-180) ว่า เมื่อ ปิยมิตรวันจันทร์ เปิดคอลัมน์ “ศาลากลอน” ให้ผู้สนใจส่งกาพย์กลอนเข้าประกวด และมีผู้อ่านบางคนเขียนจดหมายมาตำหนิว่าบทกลอนที่คัดมาลงในศาลากลอนนั้นยังมีที่ผิดอยู่ เขาจึงได้อาสาเขียนเคล็ดเกี่ยวกับการแต่งกาพย์กลอนซึ่งไม่ได้มีอยู่ในตำรากาพย์กลอนทั่วไปมาช่วยเสริม และเพื่อ “1.เป็นการสนองน้ำใจดีของท่าน [หมายถึงบรรณาธิการของปิยมิตรฯ] 2. จะได้ช่วยนักแต่งกลอนให้มีโอกาสแต่งได้ดีมากขึ้น ผิดพลาดน้อยเข้า เป็นการเชิดชูเกียรติกวีของประเทศของเราต่อไป”

อีกราวปีเศษถัดมา ประไพเขียนบทความชุดเคล็ดแห่งอหังการ โดยมีจุดประสงค์ ในทำนองเดียวกันกับเคล็ดกลอน กล่าวคือ เมื่อ ปิยมิตรวันจันทร์ จัดประกวดเรื่องแต่งขนาดสั้นเพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ “เพชรจากกองกระดาษ” ประไพจึงได้นำเสนอเคล็ดการเขียนงานประเภทร้อยแก้วในลักษณะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่ควรละเลยไป ดังที่เขากล่าวว่า “…เป็นความจำเป็นและเหมาะสมที่จะได้ช่วยกันออกความเห็นที่มีต่อการเขียนเรื่องมาสู่กันฟังเล็กๆน้อยๆ สำหรับกระตุ้นให้นักเขียนรุ่นเยาว์ของเราก้าวไปสู่ความสำเร็จอันงามไปสู่อนาคตอันเรืองแสงจ้าอยู่ข้างหน้าโน้นด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้นอีกขั้นหนึ่ง” (หน้า 107)

การนำบทความทั้งสองชุดนี้มาจัดพิมพ์เป็นหมวดหมู่รวมกันในหนังสือเล่มเดียวจึงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องการขีดเขียนอยู่ไม่น้อย และเป็นความริเริ่มของสำนักพิมพ์วรรณกรรมและความรู้ ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์รวมบทความสองชุดนี้ในชื่อ เคล็ดแห่งอหังการ เมื่อ พ.ศ.2519 หลังจากนั้นอีกสิบปีต่อมากองบรรณาธิการนิตยสาร ถนนหนังสือ จึงได้จัดพิมพ์หนังสือนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ได้ตั้งชื่อหนังสือว่า เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ และเป็นชื่อที่ภายหลังสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าใช้ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2536 ด้วย

ทั้งนี้ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 ผู้จัดพิมพ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า บทความชุดเคล็ดกลอนนั้น “เป็นการพัฒนาคลี่คลาย” มาจากบทความยาวสามตอนจบชุด “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์” ที่อินทรายุธเขียนลงในอักษรสาส์น (ส.ค., ก.ย., ต.ค. 2492) ส่วนบทความชุดเคล็ดแห่งอหังการนั้นน่าจะมาจากคำบรรยายของเมาเซตุงเรื่อง “Arts and Literature” ซึ่งอินทรายุธแปลลงตีพิมพ์ครั้งแรกใน อักษรสาส์น (ธ.ค. 2492, ม.ค., ก.พ. 2493) เพียงแต่ว่าบทความชุด เคล็ดกลอน และ เคล็ดแห่งอหังการ นั้นใช้ภาษาที่อ่านง่ายกว่า

การจัดพิมพ์ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้กลับไปใช้ต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปิยมิตรวันจันทร์ เป็นต้นร่างในการจัดพิมพ์เนื่องจากเราไม่มีลายมือต้นฉบับร่างแรกของคุณอัศนีหลงเหลืออยู่ และจากการสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งต่างๆ พบว่า มีการปรับเปลี่ยนภาษาไปจากฉบับซึ่งตีพิมพ์ใน ปิยมิตรวันจันทร์ อยู่ไม่น้อย อีกทั้งมีข้อความที่ยังตกหล่นอยู่บ้าง จึงได้ชำระต้นฉบับพร้อมกับกลับไปใช้รูปภาษาตามงานตีพิมพ์ครั้งแรกโดยไม่เปลี่ยนการสะกดคำต่างๆให้เป็นตามแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงลักษณะการใช้ภาษาตามยุคสมัยนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ต้นฉบับที่สืบค้นมาจากหอสมุดแห่งชาติก็มีไม่ครบถ้วนทั้งหมด หนังสือพิมพ์ปิยมิตรวันจันทร์ ฉบับที่ 188 ซึ่งบรรจุเนื้อหาในส่วนท้ายของเคล็ดกลอนและส่วนต้นของบทความชุดเคล็ดแห่งอหังการได้สูญหายไปแล้ว การตรวจสอบต้นฉบับในส่วนนี้จึงอาศัยต้นฉบับที่ตีพิมพ์รวมเล่มในภายหลัง

อนึ่ง ในระหว่างที่สำนักพิมพ์อ่านเริ่มย้อนกลับไปสืบค้นต้นฉบับการตีพิมพ์ในปิยมิตรวันจันทร์ เราได้พบข้อมูลบางประการเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความสองชุดนี้ของประไพ วิเศษธานี จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตเพื่อประกอบการอ่านงานเขียนชุดนี้ ดังนี้

1. บทความทั้งสองชุดนี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักอ่านแฟนหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ อยู่ไม่น้อย เพราะมีผู้เขียนจดหมายไปยังคอลัมน์ “ขอแสดงความนับถือ” ของคุณทำดี มีเรือช่วย บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว โดยมีทั้งที่เขียนชมและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้คำต่างๆ ของประไพ วิเศษธานี รายละเอียดเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้อ่าน เราได้คัดมาส่วนหนึ่งไว้ในภาคผนวกที่ 1 ท้ายหนังสือนี้แล้ว

2. ในระหว่างการสืบค้นข้อมูล เรายังได้พบว่ามีผู้ใช้นามปากกา “อ.พ.” เขียนกาพย์กลอนเรื่อง “อันความดี” ลงในคอลัมน์ “ศาลากลอน” (ปีที่ 3 ฉบับที่ 122 วันที่ 28 กันยายน 2502 หน้า 19) นามปากกาดังกล่าว แม้ปัจจุบันจะมีผู้ให้ความเห็นแตกต่างกันไปสองทางว่า เป็นนามปากกาของคุณอัศนี พลจันทร หรือเห็นว่าเป็นนามปากกาของคุณอุดม สีสุวรรณ แต่กาพย์กลอนเรื่องนี้ก็ปรากฏใน ปิยมิตรวันจันทร์ ในระยะเดียวกับที่คุณอัศนีเขียนบทความเคล็ดกลอนพอดี จึงได้คัดมาไว้ในภาคผนวกที่ 2 เพื่อเป็นบันทึกไว้สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณอัศนี พลจันทร ต่อไป

3. หากพิจารณาจากช่วงเวลาที่ประไพเขียนบทความสองชุดนี้ คือในราวปี 2502-2503 ประกอบกับงานเขียนเรื่อง ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ที่ศรีอินทรายุธได้เขียนให้กำลังใจแก่นักกลอนรุ่นใหม่ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือไว้เมื่อปี 2501 โดยสำนักพิมพ์อักษรวัฒนานั้น เราจะพบว่าในระยะสองสามปีนี้คุณอัศนีสนใจและให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการเขียนงานทั้งในประเภทกาพย์กลอนและเรื่องสั้น โดยเขาได้เน้นไปที่คนรุ่นใหม่ในขณะนั้นซึ่งกำลังสนใจเขียนงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากเราพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองที่แวดล้อมอยู่ในขณะนั้นด้วย ก็จะพบว่าเป็นช่วงเวลาที่เผด็จการทหารกำลังมีบทบาทอย่างสูงและใช้มาตรการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จนทำให้ท้ายที่สุดคุณอัศนีตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยไปในราวปี 2504 ดังนั้นการที่คุณอัศนีพยายามเขียนบทความเหล่านี้เพื่อให้กำลังใจแก่นักเขียนรุ่นใหม่ในห้วงเวลาอันยุ่งยากเช่นนี้ จึงควรนับว่าเป็นคุณูปการอีกข้อหนึ่งของคุณอัศนีที่เราไม่ควรละเลยไป

แม้จะไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปแล้วว่า ให้หลังวาระ 95 ปีชาตกาลคุณอัศนี พลจันทร เพียงหนึ่งปี เผด็จการทหารได้กลับมาเถลิงอำนาจอีกครั้งหนึ่ง การจัดพิมพ์ เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ ในครั้งนี้จึงประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ซ้ำซากเป็นวังวน สำนักพิมพ์อ่านหวังว่างานของประไพ วิเศษธานี เล่มนี้ รวมทั้ง ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ที่จัดพิมพ์ไปแล้วก่อนหน้า จะทำหน้าที่เช่นเดียวกับเมื่อราวห้าสิบปีก่อน คือชี้ชวนกวีและนักเขียนให้มีอหังการต่อความกดขี่ทั้งมวลต่อไป จนกว่าวงจรอุบาทว์จะจบสิ้นลง.

อื่นๆ

ผู้เขียน

ประไพ วิเศษธานี

บรรณาธิการ

เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

ครั้งที่พิมพ์

พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2557