สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์

115 ฿

หมวดหมู่:

รายละเอียด

โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์
ผู้เขียน อุทิศ ประสานสภา
ลำดับที่ 16 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
128 หน้า ราคา 130 บาท
ISBN 978-616-7158-84-6

หมายเหตุบรรณาธิการ

โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ เป็นงานเขียนของอัศนี พลจันทร ในนามปากกา “อุทิศ ประสานสภา” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2518 ในชื่อสำนักพิมพ์ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง สำนักพิมพ์อ่านนำมาจัดพิมพ์เป็นลำดับที่ 16 ในโครงการอ่านนายผีโดยยึดฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้เป็นต้นร่าง

หนังสือ โต้ลัทธิแก้ไทย ฯ ฉบับต้นร่าง ไม่ปรากฏคำนำและหน้าสารบัญ ส่วนชื่อหนังสือในหน้าเครดิตนั้นก็จัดวางในลักษณะที่ชวนให้กังขาว่าโครงสร้างหนังสือเป็นอย่างไรแน่ อันจะมีผลต่อไปว่าชื่อหนังสือที่ประกอบด้วยสองวลีที่เพียงแต่นำมาวางต่อกันเฉยๆ นั้น ควรจะได้รับการจัดความสัมพันธ์อย่างไร ระหว่างการเป็นชื่อเดียวติดกันไป, หรือเป็นชื่อหลักกับชื่อรอง, หรือควรมีบุพบท “และ” มาคั่น?

ในบันทึกของวิมล พลจันทร ซึ่งเป็นเอกสารพิมพ์ดีดและลายมือ และเป็นร่างที่ยังไม่สมบูรณ์ที่สำนักพิมพ์อ่านได้รับมอบจากทายาทนั้น มีข้อความที่พาดพิงถึงงานชิ้นนี้ ว่าเป็นงานที่อัศนี พลจันทร เขียนขึ้นในเขตป่าเขา คือ “น่านเหนือ” เนื่องจาก “ก่อนเกิด 6 ตุลาคม คุณอัศนีได้เสนอฝ่ายนำให้มีข้อชี้นำ ‘แนวทาง’ หากฝ่ายนำไม่คิดอะไรทำอย่างไร” คุณอัศนีซึ่งเป็นผู้นำหน่วยงานโฆษณาในขณะนั้นจึงลงมือทำสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบที่จะทำได้ด้วยตนเองไปก่อนด้วยการเขียนงานชิ้นนี้และ “ฝากสหายผู้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และสู่ที่ราบเป็นผู้นำมาเผยแพร่” ทั้งนี้ในบันทึกดังกล่าวเรียกชื่อต้นฉบับนั้นเพียงว่า “โต้ลัทธิแก้” แต่เนื่องจากเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการเรียกโดยย่อ หรือว่าต้นฉบับเดิมมีชื่อเพียงเท่านั้น เราจึงตัดสินใจตีพิมพ์ในชื่อโต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ต่อไป นอกเหนือจากอีกเหตุผลที่ว่า เราเห็นว่าชื่อหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นเอกสารอ้างอิงถึงความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญไปแล้ว จึงควรที่จะเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ต่อไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจะพอสรุปได้ก็คือว่า ข้อเขียนสามชิ้น (หรืออาจจะถือว่าสองบวกหนึ่งชิ้น) ในเล่มนี้ อันได้แก่ “พวกเราลงกลางน้ำ…กระทุ่ม” กับ “จากอุตตรกุรุ, นครแห่งความเพ้อฝัน สู่สังคมนิยมสยาม, รัฐจริงในอุดมคติ” ซึ่งเสมือนเป็นภาคหนึ่งของเล่ม และ “วิจารณ์แห่งวิจารณ์: วรรณคดีของปวงชน ชลธิรา กลัดอยู่” ซึ่งอยู่ในภาคท้ายของเล่ม ล้วนอยู่ภายใต้กรอบของการ “โต้ลัทธิแก้ไทย” อันหมายถึงการตอบโต้วิจารณ์ต่อสิ่งที่อุทิศ ประสานสภา เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แม้ว่าอาจจะด้วยน้ำหนักและน้ำเสียงหรือท่วงทำนองที่มีความเข้มข้นรุนแรงในระดับที่แตกต่างกันไป

ในบทความแรก ซึ่งตั้งชื่อและจบท้ายด้วยข้อความในบทสุดท้ายของบทกลอน “ษางท์รา” จากหนังสือกาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง คือ “พวกเราลงกลางน้ำ…กระทุ่ม” นั้น ระบุไว้ชัดถึงข้อเขียนอันเป็นที่มาของปัญหา หรือเป็น “ลัทธิแก้” ที่อุทิศต้องเขียนงานขึ้นมาตอบโต้ แม้อุทิศจะไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียนผลงานเหล่านั้น แต่จากรายชื่อผลงานก็ทำให้ทราบได้ว่าคือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ หรือ ผิน บัวอ่อน อดีตกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะหนังสือ แนวทาง14 ตลุาจงเจริญ ของอำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงในขบวนการนักศึกษาว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาควรได้รับการเชิดชูในแง่เจตนารมณ์ หรือควรยกขึ้นเป็นแนวทาง และทำให้มีการตอบโต้กันอย่างหนัก ดังที่อุทิศเรียกว่าเป็น “การประลองกำลังทางทฤษฎีครั้งใหญ่”

โต้ลัทธิแก้ไทยฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสตอบโต้ดังกล่าวภายใต้นามปากกา อุทิศ ประสานสภา ตีพิมพ์ออกมาหลังแนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ หนึ่งปี และเรียกงานชิ้นก่อนหน้าว่าเป็นพวก “ลัทธิฉวยโอกาส” อย่างไรก็ดี ราวสามเดือนต่อมา อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ก็เขียนหนังสือโต้กลับมาโดยตรงและโดยเปิดเผยด้วยว่าอุทิศ ประสานสภา คือ นายผี อัศนี พลจันทร โดยเขาตั้งชื่อหนังสือว่า วิพากษ์นายผี และระบุไว้ในคำนำว่าเป็นการวิพากษ์ “โต้ลัทธิแก้ไทยและวิจารณ์แห่งวิจารณ์” (เขาระบุชื่อหนังสือโดยมีคำว่า “และ” คั่นกลาง) ซึ่งเขามองว่าเป็น “แบบฉบับของลัทธิฉวยโอกาส”

บทความสองชิ้นแรกใน โต้ลัทธิแก้ไทยฯ แม้จะชัดเจนว่าเป็นการ “โต้ลัทธิแก้” และมีการอ้างอิงไปถึงข้อเสนอ “แนวทาง 14 ตุลา” เหมือนกัน แต่บทความแรกนั้นเป็นการวิวาทะตรงๆ ที่พาดพิงสถานการณ์จริงและกระทั่งชื่อบุคคลจริง ขณะที่บทความที่สองเสนอข้อถกเถียงว่าด้วยสังคมอุดมคติโดยยกโลกอุดมคติในวรรณคดีโบราณมาวิพากษ์เปรียบเทียบกับอุดมคติแบบสังคมนิยม ส่วนบทความสุดท้าย ซึ่งใช้ชื่ออย่างจำแนกออกไปว่าเป็นงาน “วิจารณ์ซ้อนงานวิจารณ์” นั้น เป็นการวิจารณ์ซ้อนงานวิจารณ์ชื่อวรรณคดีของปวงชน ของ ชลธิรา กลัดอยู่ ที่ระบุว่า อุทิศแด่ “วีรกรรม-ตุลาคม ๒๕๑๖” โดยหนังสือเล่มดังกล่าววิจารณ์และประเมินค่างานเขียนนับแต่ ไตรภูมิพระร่วง กับ ลิลิตพระลอ จนมาถึงงานของนายผี และจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วปิดท้ายด้วยงาน “ร้อยกรองเพื่อมวลชน” ในกระแสธาร 14 ตุลา ทั้งนี้ สำหรับอุทิศแล้ว แม้งานของชลธิราจะมีข้อที่น่าชื่นชมอยู่บางประการ แต่การนับเนื่องและนับรวมให้งานเหล่านี้มาอยู่ด้วยกันในข่ายของ “วรรณคดีของปวงชน” ก็เท่ากับว่า ขอบเขตคำว่า “ปวงชน” ของชลธิรานับรวมชนชั้นผู้ขูดรีดซึ่งสร้างงานด้วยเป้าหมายและสำนึกที่ต่างไป ดังนั้นจึงมิใช่เป็นงานที่ควรเรียกว่า “วรรณคดีของประชาชน”

โดยสรุป โต้ลิทธิแก้ไทยฯ เป็นการตอบโต้สนทนากับงานเขียนอย่างน้อยสองชิ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการประเมินเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ (ต.ค. 2517) และ วรรณคดีของปวงชน (ฝ่ายวิชาการองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2517) และยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาตามมา คือ วิพากษ์นายผี (พิมพ์ที่สารศึกษาการพิมพ์, 2518) ทั้งนี้ คงมีเฉพาะวรรณคดีของปวงชนที่มีการพิมพ์ซ้ำและยังถูกนำมาใช้อ้างอิงในการสอนวรรณคดีไทยกันได้ต่อไป ส่วน แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ ซึ่งเป็นเพียงหนังสือประกอบนิทรรศการมหกรรมการเมืองในโอกาสครบรอบปี 14 ตุลา และ วิพากษ์นายผี ซึ่งเป็นเล่มบางเพียง 36 หน้านั้น ปัจจุบันกลายเป็นเอกสารหายากเช่นกันกับ โต้ลัทธิแก้ไทยฯ ที่ต้องกลายเป็นหนังสือหายากเพราะอยู่ในรายการหนังสือต้องห้ามตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2520

ขอขอบคุณ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว ที่กรุณาช่วยเหลือด้านเอกสารและคำปรึกษาเพื่อทำความเข้าใจบริบทของงานชิ้นนี้ อย่างไรก็ดี การสรุปและประเมินข้างต้นเป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์อ่าน

อนึ่ง การเน้นคำในเล่มนี้คงตามต้นฉบับ เว้นแต่การเน้นเอนชื่อผลงานหรือชื่อหนังสือที่เพิ่มมา ส่วนการสะกดคำมีการแก้ไขกรณีที่เห็นว่าผิดพลาดในขั้นเรียงพิมพ์ของต้นฉบับเดิม แต่เราจะไม่แก้คำสะกดที่เป็นการเลือกใช้ของผู้เขียน แม้จะต่างจากพจนานุกรมปัจจุบัน คำเหล่านั้นได้แก่กระแสร์, กักขละ, ค่นแค้น, ฉะเพาะ, ชตากรรม, ชลอ, ชะนะ, ชะนิด, ทรรศคติ, ทราก, ทะยอย, ธาระกำนัน, นิครนธ์, นิทรรศ์การ, นีติบัญญัติ, บันเทา, ไบบล, ปลาด, ปิศาจ, ไฝ่ฝัน, พิศมัย, พิพิธภัณฑ์สถาน, มหิมา, มาร์กซ, รากเง่า, ละเอียดละออ, ศิลปวรรณคดี, สรวม, สัญลักขณ์, สะกัด, สัจจธรรม, เสทือน, หลงไหล, อนุสสรณ์, อริสโตตล, อิศรเสรี, อีศาน, อุดมการ