สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และกาพย์กลอน "ความเปลี่ยนแปลง"

80 ฿

หนังสือลำดับที่ 4 ในโครงการ “อ่านนายผี”

รหัสสินค้า: 5150 หมวดหมู่: ป้ายกำกับ: ,

รายละเอียด

หมายเหตุจากสำนักพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นงานเขียนในกลุ่มกาพย์กลอนของ “นายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้ง ในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

กาพย์กลอนสองเรื่องนี้เขียนขึ้นไล่เลี่ยกันในระหว่างที่คุณอัศนีกำลังหลบหนีการจับกุมในปีที่เกิดกรณี “กบฏสันติภาพ” (10 พ.ย. 2495) แต่งานเขียนทั้งสองเรื่องไม่ได้ตีพิมพ์จนกระทั่งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเริ่มมีผู้นำเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ และได้มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 กล่าวคือ สำนักพิมพ์คนหนุ่ม จัดพิมพ์ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ออกวางจำหน่ายในราคา 3 บาท ส่วน “ความเปลี่ยนแปลง” รวมพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ทวี เกตะวันดี นักรบผู้ขาดเหรียญ (มิตรนราการพิมพ์, 2517) โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่ง หลังจากนั้นมา ได้มีผู้จัดพิมพ์กาพย์กลอนสองเรื่องนี้ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ข้อมูลการตีพิมพ์กาพย์กลอนทั้งสองเรื่องยังมีความสับสนอยู่ เนื่องจากเรายังไม่พบหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งต่างๆอย่างครบถ้วนจากหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ การรวบรวมข้อมูลจึงต้องอาศัยข้อมูลอ้างอิงจากฉบับตีพิมพ์ครั้งหลังและจากหนังสือกับวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่สืบค้นได้พบว่า เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. จัดพิมพ์ครั้งที่สองในปี 2519 โดยสำนักพิมพ์กระแสลม และครั้งที่สามในปี 2522 โดยสำนักพิมพ์เยาวชน ซึ่งในครั้งนี้มีการนำกาพย์กลอน “ความเปลี่ยนแปลง” มาพิมพ์รวมไว้พร้อมกับผลงานอื่นๆของนายผี คือ กาพย์กลอน 15 เรื่องและเรื่องสั้นแปล “อิฟตารี” ของราษิท ชาหัน ครั้นต่อมาในปี 2533 สำนักพิมพ์เกี้ยว-เกล้า พิมพการ จัดพิมพ์ซ้ำ แต่ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น ชะนะแล้ว…แม่จ๋า และระบุว่า
เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ 5-6 โดยไม่ได้ระบุข้อมูลการจัดพิมพ์ก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นในปี 2535 มีการจัดพิมพ์ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. อีกครั้งในลักษณะฉบับเฉพาะกิจเพื่อประกอบการจัดแสดงละครจินตภาพประกอบบทกวีในงานคอนเสิร์ต 75 ปีอัศนี พลจันทร ครั้งนี้สำนักพิมพ์ทะเลหญ้าของคุณวิมล พลจันทร ได้นำฉบับสำนักพิมพ์คนหนุ่มมาเป็นต้นร่างและระบุว่า “เพราะตรวจสอบแล้วว่าเป็นฉบับที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพิมพ์มา”

เกี่ยวกับชื่อของกาพย์กลอนเรื่องนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’ ” ของสุจิรา คุปตารักษ์ ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2526 ได้อ้างอิงถึงลักษณะคำประพันธ์ของนายผีใน “แม่จ๋า, เราชะนะแล้ว! ฉบับลายมือเขียน (อัดสำเนา)” (น. 170-171) และจากการสอบถามคุณสุจิราเมื่อกลางปี 2556 ได้รับคำตอบว่า ต้นฉบับอ้างชื่อตามที่ปรากฏในปริญญานิพนธ์ จึงพอสรุปได้ว่า
แรกเริ่มเดิมทีกาพย์กลอนเรื่องนี้ชื่อว่า แม่จ๋า, เราชะนะแล้ว! แต่ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกใช้ชื่อ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า.

กรณีของกาพย์กลอน “ความเปลี่ยนแปลง” นอกจากจะจัดพิมพ์อยู่ในอนุสรณ์งานศพของคุณทวี เกตะวันดี (นักหนังสือพิมพ์, นักประพันธ์, และนักเขียนบทภาพยนตร์เจ้าของนามปากกา รมย์ รติวัน, รอย ฤทธิรณ, บุษบา เริงชัย) ดังกล่าวแล้ว งานเขียนของนายผีเรื่องนี้ยังได้พิมพ์รวมเล่มอยู่ใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ฉบับของกลุ่มทัพหน้าราม เมื่อ พ.ศ. 2518 และรวมพิมพ์อยู่ใน รวมบทกวี เรื่องสั้นเรื่องแปลของนายผี ของสำนักพิมพ์กระแสธารในปีถัดมา ต่อมาในปี 2522 ก็ได้รวมพิมพ์อยู่ใน เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ของสำนักพิมพ์เยาวชน การจัดพิมพ์ ความเปลี่ยนแปลง เป็นเล่มเอกเทศออกวางจำหน่ายครั้งแรกน่าจะเป็นฉบับของเกี้ยว-เกล้าพิมพการในปี 2533 ซึ่งระบุว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 4 และให้ข้อมูลว่ามีการจัดพิมพ์ครั้งที่ 1, 2 และ 3 โดยสำนักพิมพ์คนหนุ่ม กระแสลม และเยาวชน ในปี 2517, 2519, 2522 (ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลจากการสืบค้นข้างต้น) และในปลายปี 2533 เกี้ยว-เกล้าพิมพการก็ได้จัดพิมพ์ ความเปลี่ยนแปลง ซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 5

ล่าสุด ภายหลังงานเชิญอัฐินายผีคืนสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2540 กาพย์กลอนทั้งสองเรื่องนี้ได้รวมพิมพ์อยู่ใน รวมบทกวี ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (สามัญชน, 2541)

ความที่กาพย์กลอนเราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และ ความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ตีพิมพ์จนกระทั่งเวลาผ่านไปแล้วราวยี่สิบปี อีกทั้งเมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานสองเรื่องนี้ คุณอัศนีก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เช่นเรื่องที่ว่างานสองเรื่องนี้นายผีเขียนในปี 2490 หรือ 2495 หรือมาเขียนเสร็จในภายหลัง เป็นต้น คุณอัศนีเคยพูดถึงกาพย์กลอนทั้งสองเรื่องนี้ไว้ในต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลงานของเขา โดยเฉพาะ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. นั้น เขาเคยพูดถึงที่มาหรือแรงบันดาลใจในการเขียนงานเรื่องนี้:

… กรรมกรสตรีผู้หนึ่งได้เสียสละอย่างสูงอันควรแก่การคารวะของผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย เธอได้เสียมารดาผู้แก่ชราและหิวโหยกับน้องเล็กๆของเธอไปในการยืนหยัดต่อสู้นี้ แต่เธอก็หาหวั่นไหวไม่ แม้ว่าจะเจ็บช้ำและชอกช้ำอย่างแสนสาหัส วีรกรรมของเธอเรียกร้องน้ำตาและความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนทั้งประเทศ การเสียสละของเธอเป็นการบุกเบิกที่สูงค่าสำหรับการต่อสู้ของสตรีเพื่ออุดมการอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ใครเล่าจะอาจปฏิเสธการคารวะวีรกรรมของ น.ส. เล็ก กรรมกรสตรีในบริษัทอีสต์เอเซียติคผู้นี้ได้?

นี่คือคำบอกเล่าแรกสุดเกี่ยวกับกาพย์กลอน เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผลงานเรื่องนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ โดยปรากฏอยู่ในบทความ “ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปาฐกถา ‘ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ของ
กุหลาบ สายประดิษฐ์’” ปาฐกถาพิเศษภาคฤดูร้อนดังกล่าวเป็นหนึ่งในปาฐกถาหกครั้งที่ชมรมปาฐกถาและโต้วาทีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้นในปี 2495 คุณอัศนีเป็นผู้นำปาฐกถาชุดนี้มาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปวงชน (รายสัปดาห์) ในปีเดียวกันนี้ พร้อมกับเขียนข้อคิดเห็นต่อปาฐกถาบางรายการด้วย ต่อมามีการรวมบทความชุดนี้จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ มหาชนทรรศนะ เมื่อ พ.ศ. 2517

อีกครั้งหนึ่งที่คุณอัศนีกล่าวถึง เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ก็คือในหนังสือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ซึ่งเขาได้เสนอให้สำนักพิมพ์อักษรวัฒนา ของคุณอารีย์ พื้นนาค จัดพิมพ์และวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2501 ในข้อเขียนชิ้นนี้
ศรีอินทรายุธ เอ่ยถึงกาพย์กลอนเรื่องนี้สั้นๆ:

… ตัวอย่างในการเลือกแบบวิธีการเขียนให้สอดคล้องกับเนื้อความที่เขียน ตัวอย่างหนึ่งก็คือ: กาพย์กลอนเรื่อง เราชะนะแล้ว แม่จ๋า ของนายผี, อันเปนกาพย์กลอนที่ผูกเปนเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง ซึ่งสท้อนชีวิตการยืนหยัดต่อสู้ของกรรมกร โรงเลื่อยแห่งหนึ่งในอดีต

ข้อมูลทั้งสองนี้ชี้ให้เห็นถึงที่มาของกาพย์กลอนเรื่องเอกของคุณอัศนีว่ามีเค้ามาจากเหตุการณ์จริงของการต่อสู้ของกรรมกรสตรีชื่อเล็กแห่งโรงเลื่อยของบริษัทอีสต์เอเซียติค ต่อมาในภายหลัง เมื่อคุณอัศนีตัดสินใจ “เข้าป่า” แล้วเขาได้เขียนจดหมายถึงกวีรุ่นหนุ่มคนหนึ่ง โดยตอนหนึ่งเล่าถึงกาพย์กลอนสองเรื่องนี้:

… ก็แต่งปี 95 นั้นเอง, มิใช่ปี 90, คือแต่งพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ที่บ้านมิตรกรรมกรผู้หนึ่ง. เราสดุดีชนชั้นกรรมกร, สะท้อนภาพการต่อสู้นัดหยุดงานโดยเอาภาพกรรมกรหญิง (ชื่อเล็ก) แห่งอีสต์เอเซียติคเป็นหลัก, ภาพชีวิตกรรมกรส่วนตัวทั้งหมด คือภาพครอบครัวบ้านกรรมกรที่ผมไปอยู่ด้วย. เซ็ตติ้งและแบ็คกราวนด์ก็ที่นั่นทั้งนั้น, ต้นแก้วออกดอกหอมกรุ่นอยู่ริมบันไดเรือน, กาเหว่าก็ร้องวิเวกอยู่บนยอดหลังคาเรือน. ความรักระหว่างครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของเขาก็เป็นเช่นนั้นทั้งหมด, แต่อาจไม่ตรงกับครอบครัวนางสาวเล็กก็ได้. เรารวบรวมเอาขึ้นมาเป็นแก่นและเป็นแบบอย่างเท่านั้น. แต่งเสร็จแล้วผมก็ไปตามเรื่องของผมและของ …, ตอนนั้นผมทิ้งลูกชายและลูกสาวน้อยๆ ไว้กับภรรยาข้างหลัง, ไม่รู้เป็นตายร้ายดี, ฉะนั้น อารมณ์ในกลอนก็อาจมีสิ่งนั้นผนวกอยู่ด้วยก็เป็นได้.

ในจดหมายฉบับนี้ คุณอัศนียังได้กล่าวถึงกาพย์กลอนความเปลี่ยนแปลง ไว้ด้วยเช่นกัน:

… ก็มิใช่ประวัติบ้านช่องอะไรหนักหนา, เอาภาพบ้านและครอบครัวที่เป็นตัวอย่างมาทำใหม่เท่านั้น. การล้มละลายของศักดินาและการเกิดขึ้นของทุน,เป็นภาพอันจรัสในนั้น. ประวัติศาสตร์ไกลออกไปก็เป็นเพียงจะให้เห็นความเป็นมาของชนชาติไทยว่าผ่านสมัยพเนจรเลี้ยงสัตว์มาสู่สมัยใหม่กว่านั้นเป็นพิเศษอะไรบ้าง, ทำให้ได้ภาพหนึ่งว่าภาษาไทยปัจจุบันมาจากไหนกันถึงได้สลับซับซ้อนอย่างนี้. ลัทธิคัมภีร์เข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้, มองเห็นสังคมตะวันออกเป็นอย่างสังคมตะวันตกเผง. การเปลี่ยนแปลงของคนเราต้องผ่านการต่อสู้ที่เป็นจริง. ภาพในเรื่องนั้นมิใช่ภาพผู้ใดผู้หนึ่ง, หากเป็นภาพทั่วไปของปัญญาชน ซึ่งหลัง 14 ตุลาคมเรามีภาพเช่นนี้มากและชัดเจน. จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศ.(น. 314-315)

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 อุทิศ ประสานสภา (นามปากกาของคุณอัศนี) ได้เขียนบทความ “วิจารณ์แห่งวิจารณ์: ‘วรรณคดีของปวงชน’ ของชลธิรา กลัดอยู่” ตีพิมพ์ในนิตยสาร ประชาชน โดยมีข้อความตอนหนึ่งพูดถึงการ
ปฏิเสธผลงานของตนเองบางส่วนเนื่องจากเห็นว่า “ไม่มีคุณประโยชน์แก่การเคลื่อนไหวศิลปะวรรณคดีใหม่แต่อย่างใด” เขากล่าวถึงกรณีของกาพย์กลอน ความเปลี่ยนแปลง ว่าเป็นการ “ปฏิเสธกวีนิพนธ์เกี่ยวกับประวัติบ้านเกิดของเขาเอง (ซึ่งได้เขียนขึ้นปลุกใจญาติของเขาคนหนึ่งยืนหยัดต่อสู้กับการปราบปรามอันเหี้ยมโหดของพิบูล-เผ่า)”

ในจดหมายถึงกวีรุ่นหนุ่มที่นายผีเขียนภายหลัง เขาพูดถึงกรณีที่เคยปฏิเสธงานกาพย์กลอนเรื่องนี้เพิ่มเติม:

…มีผู้เห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว, เขียนเรื่องส่วนตัวให้ญาติอ่านเป็นการส่วนตัว. ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรเผยแพร่ต่อไป, ผมจึงได้ปฏิเสธเสีย. ส่วนคนอื่นจะเข้าใจอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. ทว่าวรรณกรรมที่ได้เสนอต่อมหาชนหรือสาธารณชนแล้วนั้น, ผู้เขียนย่อมหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของ,ต้องตกเป็นสมบัติของสาธารณชน, สุดแต่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเอาไปทำอะไร. ผมไม่มีสิทธิ์อะไรเหลืออยู่อีกแล้วในเรื่องที่เขียนนั้นๆ. ที่ปฏิเสธเป็นเรื่องฉะเพาะตัวผมเพื่อกันเข้าใจผิดไปยึดถือแนวที่ไม่เหมาะสมแล้วเท่านั้นเอง. ผมไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆในข้อเขียนนั้นๆ

ความเห็นที่เปิดกว้างให้สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ผลงานได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้แต่งเช่นนี้ กล่าวได้ว่าล้ำสมัยอย่างยิ่ง ในเวลาต่อมาจึงมีผู้ศึกษากาพย์กลอนทั้งสองเรื่องนี้ของนายผี และเขียนบทวิจารณ์ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันไป ดังได้รวบรวมไว้ส่วนหนึ่งในภาคผนวกท้ายหนังสือเล่มนี้แล้ว

ทั้งนี้หากเราพิจารณาในแง่เวลาที่นายผีเขียนกาพย์กลอน เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และความเปลี่ยนแปลง จะพบว่า พ.ศ. 2495 เป็นปีสำคัญปีหนึ่งเกี่ยวกับผลงานของนายผี กล่าวคือ ในเดือนเมษายน นายผีได้แต่งกาพย์กลอน
“อีศาน” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามสมัย (รายสัปดาห์) ซึ่งต่อมาในปี 2501 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทวิจารณ์กาพย์กลอนเรื่องนี้ และยกย่องนายผีว่าเป็น “กวีของประชาชน” ขณะที่ในปี 2517 ชลธิรา กลัดอยู่ ก็ยกย่องกาพย์กลอน เราชะนะแล้ว. แม่จ๋า. ว่าเป็น “วรรณคดีของประชาชน”

นอกจากนั้นควรกล่าวด้วยว่า เราชะนะแล้ว. แม่จ๋า. และความเปลี่ยนแปลง เป็นงานเขียนที่นายผีได้ตกผลึกทางความคิดมาแล้วอย่างเข้มข้นหลังจากที่เขาเริ่มเขียนกาพย์กลอนและบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 และได้ผ่านสถานการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2, กรณีสวรรคตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 เรื่อยมาจนกระทั่งกรณีกบฏสันติภาพ และเมื่อถึงปลายปี 2495 เขายังได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วหันไปยึดถือแนวทางเปลี่ยนแปลงสังคมแบบมาร์กซิสม์ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. จึงตกผลึกเป็นงานเขียนเพื่อสดุดีการต่อสู้ของกรรมกรและแสดงจุดยืน/สำนึกทางชนชั้นของนายผี ขณะที่เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติครอบครัวใน ความเปลี่ยนแปลง ก็เขียนวิพากษ์ระบบศักดินาดังที่เขากล่าวไว้ข้างต้น ยิ่งกว่านั้นงานทั้งสองเรื่องนี้ยังอาศัยรูปแบบคำประพันธ์ของวรรณคดีในการเขียนเนื้อหาว่าด้วยชีวิตและการต่อสู้ของสามัญชน จึงควรบันทึกไว้ในฐานะกาพย์กลอนแนวมาร์กซิสม์ของไทยอีกโสตหนึ่งด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น สำนักพิมพ์อ่านจึงเห็นควรที่จะจัดพิมพ์เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และความเปลี่ยนแปลง ไว้ในเล่มเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้เลือกฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ในปี 2517 เป็นต้นร่างในการจัดพิมพ์และพิสูจน์อักษร โดยถือตามความเห็นของคุณวิมล พลจันทร ที่ระบุว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรกเป็นฉบับที่สมบูรณ์ถูกต้องที่สุด ส่วน ความเปลี่ยนแปลง นั้นได้สืบค้นต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกมาเป็นต้นร่าง และได้ใช้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2, 3 และ 5 มาสอบทานด้วย

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ยึดหลักว่าจะคงอักขรวิธีตามต้นฉบับเดิมไว้ ไม่ปรับแก้วิธีสะกดคำตามพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจของคุณวิมล และคุณวิมลมาลี ที่ต้องการรักษารูปแบบภาษาของงานไว้ตามยุคสมัย ทว่าเราได้ปรึกษา ปทานุกรมฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493, สํสกฤต-ไท-อังกฤษอภิธาน ฉบับของร้อยเอกหลวงบวรบรรณารักษ์ (แสงดาว, พิมพ์ครั้งที่ 5,
2554) เมื่อพบข้อสงสัยทั้งในแง่รูปคำและความหมายในระหว่างการชำระต้นฉบับครั้งนี้ด้วย

อ่านหมายเหตุสำนักพิมพ์ฉบับเต็มได้ในตัวเล่ม เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. และกาพย์กลอน “ความเปลี่ยนแปลง”

อื่นๆ

ผู้เขียน

นายผี

ครั้งที่พิมพ์

พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557