สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน

80 ฿

หนังสือเล่มแรกในโครงการ “อ่านนายผี”

รายละเอียด

หมายเหตุจากสำนักพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย “ศรีอินทรายุธ” เป็นหนังสือใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์ออกสู่สาธารณชนพร้อมกับ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สำนักพิมพ์อ่านเลือกนำ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มาจัดพิมพ์ใหม่เป็นเล่มแรกของโครงการฯ ก็เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ควรนับว่าเป็นผลงานแรกสุดเล่มหนึ่งของคุณอัศนีที่มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยก่อนหน้านี้งานเขียนของคุณอัศนีมีตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเรื่องๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เท่านั้น และหากจะมีกรณียกเว้นก็น่าจะมีกรณีเดียว คือการจัดพิมพ์ จากพระลอและศรีบูรพา โดยสำนักพิมพ์สหบรรณกรในปี 2495 แต่หนังสือดังกล่าวเป็นงานรวมบทความสองเรื่องของนักเขียนสองคน คือ “ลิลิตพระลอ…วรรณคดีศักดินา” ของ “อินทรายุธ” ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ใน อักษรสาส์น (เมษายน 2492) และบทความ “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ของ “พ. เมืองชมพู” โดยมีอารัมภกถา “ข้อคิดเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปวรรณคดี” บรรจุอยู่ด้วย แต่ข้อมูลสำคัญที่ทำให้ระบุได้ว่า มีการจัดพิมพ์หนังสือของคุณอัศนีตามลำพังเมื่อ พ.ศ. 2501 ก็คือ คำบอกเล่าของคุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา:

ประมาณ พ.ศ. 2500 วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ คุณอุดม สีสุวรรณ ได้นัดผมให้มาพบกันที่หน้าโรงภาพยนตร์โอเดียน สามแยก (ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนเพื่อทำกิจการอื่นไปแล้ว) เป็นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า แล้วขึ้นรถไปที่บ้านของคุณอัศนี พลจันทร ด้วยกันเพื่อไปพบปะพูดคุย และรับต้นฉบับที่คุณอัศนีจะมอบให้ผมไปจัดพิมพ์จำหน่าย เมื่อรถของเราถึงตลาดพระโขนง เรายังต้องนั่งเรือต่อเข้าไปตามลำคลองอีก เมื่อขึ้นฝั่งไปก็ต้องเดินเท้าไปตามร่องสวนอีกระยะหนึ่งจึงถึง ซึ่งคุณอัศนีได้รอเราสองคนอยู่แล้ว อาหารเช้าวันนั้น คุณอัศนีเลี้ยงต้อนรับเราด้วยกาแฟ ไข่ลวก และมีขนมปังปิ้งทาเนยอีกต่างหาก ระหว่างจิบกาแฟคุยกัน คุณอัศนีได้ถามผมถึงเรื่องการค้าขายแบบเรียนเครื่องเขียนและการพิมพ์หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นคุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้ม ซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ “รวมกาพย์กลอน ‘นายผี’ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2” เล่มที่ 3 คือ “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” โดยใช้นามปากกา “อินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ “ภควัทคีตา” งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น สำหรับเล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์เพราะผมถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์เสียก่อน ซึ่งถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค,“เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”, ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานนายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่, 2541, น. 223.)

นอกจากนั้น นิตยสาร สายธาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2501 ก็มีโฆษณาจำหน่ายหนังสือ กาพย์กลอนนายผี เล่ม 2 และ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ของอักษรวัฒนาด้วย โดยระบุราคาจำหน่ายที่ 2 และ 4 บาทตามลำดับ

สำนักพิมพ์อ่านได้สืบค้นหนังสือตามคำบอกเล่าของคุณอารีย์ แต่น่าเสียดายว่าเราไม่พบจากแหล่งข้อมูลใดๆ จนกระทั่งปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อ่าน ได้พบหนังสือ กาพย์กลอนนายผี ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ซึ่งจัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล จึงได้จัดทำสำเนานำกลับมาเพื่อใช้ในการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีต่อไป ส่วน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน นั้นเรายังไม่พบฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ได้สืบค้นพบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-4 จากหอสมุดหลายแห่ง จึงนำมาใช้ในการชำระต้นฉบับครั้งนี้ ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่ “ศรีอินทรายุธ” เขียนหนังสือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน อาจกล่าวว่าเป็นระยะที่เขาได้ตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับกาพย์กลอนมาแล้วไม่น้อยหลังจากที่ใช้นามปากกา “นายผี” และ “อ.ส.” เขียนงานในเวทีต่างๆ มาแล้วเกือบ 300 เรื่อง นับตั้งแต่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย (รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน) รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่เป็นเสียงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ มหาชน (รายสัปดาห์) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเขาได้ผ่านสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกบฏสันติภาพ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495) ซึ่งทำให้เขาต้องหลบหนีเพทภัยคุกคามชีวิตและหยุดเขียนงานลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ไปจนถึงปี 2500

“ศรีอินทรายุธ” เล่าไว้ในช่วงต้นของปรารภการของหนังสือเล่มนี้ ว่าหลังจากที่เขาได้อ่านหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยา ซึ่ง เจษฎา วิจิตร รวบรวมกาพย์กลอนของ 10 นักเขียนกลอนมาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500 แล้ว เขามีความเห็นว่าวงการกาพย์กลอนของไทยจะขยายตัวต่อไปอย่างองอาจและสง่าผ่าเผย และ “คำว่า ‘กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม’ เป็นคำที่จริงอยู่ตลอดไป” (น. 32)

คำชื่นชมและให้กำลังใจกวีรุ่นใหม่โดยย้อนกลับไปหาวลีสำคัญในงานชิ้นเอกสมัยอยุธยาเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ นี้ ชวนให้นึกไปถึงกาพย์กลอนเรื่องแรกที่ “อ.ส.” แต่ง คือ “อัญเชิญ” (เอกชน, 1:2, 18 ม.ค. 2484, น. 20) ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนกวีเขียนกาพย์กลอนเพื่อจะช่วยฟื้นฟูวงการกวีให้พ้นจากภาวะซบเซา แต่เมื่อไม่มีผู้ใดขานรับ “อ.ส.” จึงได้เขียน “ยอมแล้วฤๅ” (เอกชน, 1:14, 12 เม.ย. 2484, น. 39) เปรียบเปรยแกมประชดว่า ถ้า สมุทรโฆษคำฉันท์ แต่งค้างมาถึงขณะนั้น ก็คงจะไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้:

สรวลสมุทร โฆเรศเรื้อง รจนา
สรวลปรมานุชิตสรวล ศัพทไท้
สรวลเสียงกวีสา รสร่ำ ฤๅพ่อ
สรวลกวีแล้งไร้ แหล่งสยาม

ปรากฏว่า ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ุ กวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคนั้น เขียนกาพย์กลอน “กวีวงศ์” (เอกชน, 1:16, 26 เม.ย. 2484, น. 36-37) ตอบรับคำเชิญนี้ และ “อ.ส.” ก็ได้เขียนกาพย์กลอน “ความปิติ” แสดงความยินดีลงใน เอกชน ฉบับเดียวกัน (น. 38)

ต่อมาเมื่อ “นายผี” เขียนกาพย์กลอนลงเป็นประจำในคอลัมน์ “วรรณมาลา” ใน สยามนิกร (ก.ค. 2489-พ.ค.2490) และคอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (พ.ค. 2490-ส.ค. 2495) เขาได้ใช้กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง และยังขยายข้อเรียกร้องต่อกวีให้ร่วมมือกันต่อสู้กับความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมด้วย ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ “Poets of All Countries Unite!” (สยามสมัย, ต.ค. 2492, น. 18) ซึ่งเปรียบเทียบว่ากาพย์กลอนคือ “ไถทิพ” ซึ่งกวีพึงใช้ในการขจัดสิ่งไม่ถูกต้องต่างๆ ไปเสีย ดังข้อความตอนหนึ่ง:

อันไถทิพลิบมายังหล้าโลก
ศุภโยคยอดกวีที่เสถียร
วิธีไถคือวิธีกวีเวียน
วาดอาเกียรณ์กลอนทิพระยิบระยับ

ใน พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทความวิจารณ์กาพย์กลอน “อีศาน” และยกย่อง “นายผี” ว่าเป็น “กวีของประชาชน และในปีเดียวกันนี้เองที่คุณอัศนีหวนคืนสู่เวทีงานเขียนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลงบ้างแล้ว โดยเขาได้นำข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องต่อกวีและนักกลอนมาเขียนใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน อีกทั้งยังระบุว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยา ดังกล่าวข้างต้น

ปีถัดมา คุณอัศนีเริ่มเขียนงานลงหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ กับนิตยสาร สายธาร เขากล่าวย้ำอีกครั้งถึงความหวังที่มีต่อกวีและนักกลอนรุ่นใหม่ ในข้อเขียนเปิดคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” (สายธาร, พ.ค. 2501, น. 80) ซึ่งใช้รูปแบบของจดหมาย เขียนถึงเสนีย์ เสาวพงศ์ ตอนหนึ่ง:

ที่ผมส่งลำนำแห่งเจ้าพระยามาให้คุณอ่านนั้นก็เพื่อจะให้คุณได้มีโอกาศทราบว่า; ในสมัยของเรานี้ มีหนุ่มสาวนักกลอนเกิดขึ้นไม่น้อย, และที่เป็นกวีก็ มีอยู่หลายคน, กาพย์กลอนที่เขาเขียนพลั่งพรูออกมานั้นเป็นสิ่งอันแสนพิสวง. ไม่เพียงแต่จะเป็นกาพย์กลอนที่อ่านได้ไพเราะเพราะพร้อง. มีสำนวนและโวหารอันชวนให้ติดใจ, หากยังเป็นกาพย์กลอนที่ชวนให้คิดอีกด้วย, นักกลอนและกวีเหล่านี้เป็นคนที่ควรนับถือก็ที่เป็นคนมีความคิดของตนเองแลได้ใช้ความคิดของตนเองเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์. มีคนอยู่อีกจำพวกหนึ่งเหมือนกันที่เห็นเขาเขียนกลอนก็เลยเขียนกับเขาบ้าง, อ่านดูแล้วไม่เห็นมีอะไรอยู่ในกลอนของเขามากไปกว่าตัวหนังสือที่เอามาเรียงๆ กันเข้าไว้จำนวนหนึ่ง-ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง! ความไพเราะของกาพย์กลอนนั้น มิใช่เพียงแต่การกระทบกันฤๅการคล้องจองกันของคำต่างๆ เหล่านั้นมิใช่หรือ? ในลำนำแห่งเจ้าพระยานั้น, นอกจากคุณจะได้เห็นกาพย์กลอนที่ดีๆ หลายบท, นอกจากคุณจะได้เห็นคนหลายคนกำลังจะกลายเป็นความพากพูมของสยามใหม่อย่างที่ใครคนหนึ่งว่า, คุณยังจะได้เห็นสำนวนใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการหนังสือของเรา แลสำนวนเหล่านี้กลายเป็นที่ติดปาก, ติดตา, และติดใจแก่คนทั่วไป; อย่างน้อยก็ที่ว่า: ‘ดวงเดือนรูปเคียว’, ‘สายธารแห่ง…’ ฯลฯ (สะกดตามต้นฉบับ – สนพ. อ่าน)

เมื่อพิจารณาที่เนื้อหา ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มีข้อแตกต่างอย่างสำคัญจากหนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนส่วนใหญ่ กล่าวคือ ในขณะที่หนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนมักให้ความสำคัญกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ทางด้านฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนประเภทต่างๆ**** หนังสือเล่มนี้กลับมุ่งกล่าวถึงปัญหาเบื้องต้นของการเขียนกาพย์กลอนเช่นว่า กาพย์กลอนคืออะไร รูปการและเนื้อหาของกาพย์กลอนคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเขียนกาพย์กลอนอย่างไร กวีและนักกลอนแตกต่างกันหรือไม่ และควรใช้แบบวิธีใดบ้างในการเขียนกาพย์กลอน เป็นต้น การวางน้ำหนักของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ทรรศนะหรือจุดยืนในการเขียนกาพย์กลอนมากกว่าเรื่องฉันทลักษณ์ และขณะที่ศรีอินทรายุธชื่นชมกวีรุ่นใหม่ๆ ว่ามีจินตนาการค่อนข้างลึกซึ้งและมีฝีมือแหลมคม เขาก็ได้อธิบายให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเขียนกาพย์กลอนเพื่อ “กล่อมโลก” หรือ “ค้ำจุนโลก” ไว้นั้นยังไม่เพียงพอ และยิ่งจะเป็นสิ่งไม่ถูกต้องหากกล่อมโลกให้หลับไม่ลืมตาตื่นขึ้นดูความกดขี่และทารุณกรรมหรือคอยค้ำจุนโลกแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและเอารัดเอาเปรียบกันไว้ ดังที่เขาได้ระบุในตอนท้ายหนังสือว่า

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนมิใช่เครื่องกล่อมโลกให้หลับอยู่ในมายา และก็มิใช่เครื่องพิทักษ์รักษา ฤๅค้ำจุนโลกอันเลวร้ายน่าอิดหนาระอาใจนี้. ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แท้ที่จริงแล้วก็คือ กาพยายุธอันคมกล้าที่ได้ช่วยผลักดันโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดชะงักฤๅที่ได้ช่วยพิทักษ์มิให้ใครยื้อ ยุดฉุดกลับหลัง. พลังแห่งศิลปาการนี้มีสุดที่จะคณนา, เพียงแต่ว่าขอให้กวีและนักกลอนรู้จักใช้. มิฉะนั้นไซร้ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนก็จักไม่มีประโยชน์. (น. 110-111)

เนื้อหาที่แตกต่างไปจากหนังสือกาพย์กลอนทั่วไปเช่นนี้ รวมทั้งความเห็นว่ากาพย์กลอนเป็นสิ่งสะท้อนชีวิตที่เป็นจริงของสังคมและ “ย่อมเป็นสิ่งที่รับใช้การต่อสู้กันของความขัดแย้งในสังคมไม่มากก็น้อย” (น. 85) คงจะก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงนักเขียนอยู่ไม่น้อยเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกวางจำ หน่าย เพราะเมื่อคุณอัศนีเขียนคอลัมน์ “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสีย บา บ่า บ้า” ใน สายธาร ฉบับเดือนกันยายน 2501 เขาได้กล่าวตำหนิข้อเขียนในสัปดาห์สาร (ปีที่ 1 ฉบับที่ 11) ว่าใช้วิธีตัดตอนทอนความใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ลงเป็นท่อนๆ จนทำให้ผู้อ่านเกิดความไขว้เขว เข้าใจผิดว่าผู้แต่งต้องการทำลายกวีและนักกลอนที่มีมนุษยธรรมและ “เตือนไม่ได้” เพราะเป็นกวีที่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับตน ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ศรีอินทรายุธ” ระบุว่ามนุษยธรรมเป็นต้นทางของการก้าวไปสู่ความถูกต้อง แต่ที่เขามองว่าเป็นอุปสรรคก็เนื่องว่าผู้มีมนุษยธรรมมักต้องการแก้ความขัดแย้งที่ผล ไม่ได้มุ่งแก้ที่เหตุ

“ศรีอินทรายุธ” ได้ชี้แจงความเห็นของเขาต่อประเด็นมนุษยธรรมกับการเขียนกาพย์กลอนไว้แล้วในหนังสือเล่มนี้ และนี่คืออีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แตกต่างไปจากหนังสือร่วมยุคสมัยในหมวดหมู่เดียวกัน อย่างไรก็ดีการกลับไปอ่านงานเขียนอายุมากกว่า 50 ปีเล่มนี้อีกครั้งก็ไม่น่าจะเป็นเพียงการอ่านอย่างหวนหาอดีต เพราะทรรศนะต่อแวดวงกาพย์กลอนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะชวนให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบกับวงการกาพย์กลอนไทยในปัจจุบันซึ่งกำลังต่อสู้กันท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคม

สำนักพิมพ์อ่านคาดหวังว่า การจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เนื่องในวาระ 95 ปีชาตกาลคุณอัศนี พลจันทร จะเป็นการกลับไปตั้งต้นที่เจตนารมณ์แรกของคุณอัศนีเมื่อครั้งที่เขานำงานเขียนมาพิมพ์เผยแพร่ “แด่ประชาชน” ดังคำอุทิศในหนังสือ กาพย์กลอนนายผี อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนี้เราจะทยอยจัดพิมพ์ผลงานเรื่องอื่นๆ ของคุณอัศนีตามที่ได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ดูแลต้นฉบับผลงานทั้งหมด สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณคุณวิมลมาลี พลจันทร เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

 

อื่นๆ

พิมพ์ครั้งที่

กันยายน 2556

ผู้เขียน

ศรีอินทรายุธ (นายผี, อัศนี พลจันทร)

บรรณาธิการ

เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์