สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1

Original price was: 230 ฿.Current price is: 170 ฿.

หมวดหมู่:

รายละเอียด

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 13 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
232 หน้า ราคา 230 บาท
ISBN 978-616-7158-81-5

หมายเหตุบรรณาธิการ

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เป็นงานในกลุ่มบทความ บทบรรณาธิการ สารคดี คอลัมน์ประจำ และข้อเขียนเบ็ดเตล็ดที่อัศนี พลจันทร เขียนลงในสิ่งพิมพ์หลายฉบับในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484-2495 หรือหลังจากที่เขาเรียนจบเป็นเนติบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนกระท่ังเกิดกรณีกบฏสันติภาพ (วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495) ปิดท้ายด้วยข้อเขียนเรื่อง “ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว” ซึ่งถูกส่งออกมาจากเขตป่าเขาในระยะท่ีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลายในราวปี 2526- 2527 และจนถึงปัจจุบันถือกันว่าเป็นงานเขียนช้ินสุดท้ายของอัศนี พลจันทร

งานเขียนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเขียนในชื่อ อัศนี พลจันทร โดยบางครั้งมีการลงกำกับว่า ธ.บ. บ้าง, เนติบัณฑิตย์ บ้าง และบางคร้ังสะกดตามเกณฑ์ของยุคสมัยว่า อัสนี พลจันท์ อีกส่วนหน่ึงนั้นใช้นามปากกาต่างๆ อันได้แก่ กุลิศ, กุลิศ อินทุศักดิ์, นายกุลิศ อินทุศักดิ์, มาลินี สุนทรธรรม, ศรีอินทรายุธ, สายฟ้า, หะยี ซัมซูดิน บิน อับดุลฆานี, อ. พลจันท์, อ.พ., อ.ส., และ อินทรายุธ งานเหล่านี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างสยามนิกร และสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ ได้แก่ เอกชน, การเมือง, การเมืองรายสัปดาห์, มหาชน, สยามสมัย, ปวงชน รวมไปจนถึงรายเดือนอย่าง วรรนคดีสาร และอักษรสาส์น สำนักพิมพ์อ่านรวบรวมงานเขียนชุดนี้มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในลำดับที่ 13, 14 และ 15 ในโครงการอ่านนายผี

กล่าวสำหรับ ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 เป็นการรวมบทความจากปี 2484-2489 จำนวน 25 เรื่องเท่าที่เราสืบค้นได้ โดยงานเหล่านี้ตีพิมพ์อยู่ใน เอกชน, วรรนคดีสาร, การเมือง และสยามนิกร

ในเอกชน ฉบับปฐมฤกษ์ (11ม.ค.2484) ซึ่งตีพิมพ์บทความแรกที่เรานำมารวมไว้น้ี มีการแนะนำคุณอัศนี ในนามปากกาอินทรายุธไว้ในคอลัมน์ “บันทึกท้ายเล่ม” ว่า “อินทรายุธเป็นนักภาษา และนักวรรณคดี ท่ีมีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ของเขาในแนววิทยาการเหล่านี้ ทั้งนี้เท่าที่เราสามารถรวบรวมต้นฉบับ เอกชน มาได้ เราค้นพบบทความของอินทรายุธในนิตยสารฉบับนี้จำนวนสี่เรื่อง (นอกนั้นเป็นงานกวีซึ่งเขียนในนามปากกา “นายผี” ฯลฯ) ทั้งสี่เรื่องไม่เพียงสะท้อนความทะเยอทะยานในการทำหน้าที่นักภาษาและวรรณคดีดังที่ เอกชน แนะนำไว้ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะและจุดยืนทางการเมืองของอินทรายุธไปพร้อมกัน ไม่ว่าต่อเรื่องสิทธิสตรี, ประชาธิปไตย หรือเช่นใน “พระศุนหเศป” บทความว่าด้วยงานแปลของรัชกาลที่ 6 ที่อินทรายุธยืนยันเรียกขานนามเพียงว่า “รัชกาลที่ ๖” เช่นน้ัน ด้วยเห็นว่าเป็นการแสดงความชื่นชมในฐานะปราชญ์ไทยคนหน่ึงได้ดีกว่า “คำเรียกอันยืดยาวเพื่อประดับเกียรติ์ในวงการบ้านเมืองมากมายนัก”

ทว่าหลังจากที่คุณอัศนีสอบเข้ารับราชการเป็นอัยการฝึกหัด ประจำกองคดี กระทรวงมหาดไทย ในกลางปี 2484 นั้น เขาได้หยุดเขียนงานไประยะหนึ่ง ประกอบกับในปีถัดมา เขาถูกสั่งย้ายไปประจำที่ปัตตานี จึงไม่ได้เขียนเรื่องลงประจำในหนังสือใดๆ ในระหว่างที่อยู่ที่ปัตตานีนี้เอง เขาตั้งใจศึกษาภาษามลายูและหลักศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเขียนจดหมายปรึกษาข้อปัญหาต่างๆ กับพระยาอนุมานราชธน ผู้ชักชวนให้เขาเขียนบทความส่งมาตีพิมพ์ในวรรนคดีสาร คือเรื่อง “ลำน้ำน้อยอีกครั้งหนึ่ง” และ “ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย” และได้ตีพิมพ์ในปี 2487 อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เขาถูกย้ายจากปัตตานีไปประจำที่สระบุรี งานเขียนดังกล่าวเป็นบทความเพียงสองชิ้นในปี 2487 ที่เราพบและได้นำมาพิมพ์รวมไว้ในเล่มนี้

ในปี 2489 คุณอัศนีเริ่มเขียนบทความอย่างต่อเนื่อง และบทความในช่วงปีดังกล่าวก็คือส่วนใหญ่ของผลงานท่ี เรานำมาตีพิมพ์ใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 น้ี เริ่มจากงานบทความเพียงสามเรื่องที่เราค้นพบใน การเมือง ปี 2489 คอื “พระจ้าวตายเสียแล้ว” กับ “ทักษิโณตตรภาคี” และ “เสียงของผู้ไม่มีเสียง” นอกนั้นจะพบแต่บทความในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ท่ีแม้จะยังแวดล้อมอยู่กับงานวิจารณ์วรรณคดีเหมือนอย่างงานก่อนๆ หน้า แต่เนื้อหาท่ีเพิ่มเข้ามาในสัดส่วนเกินครึ่งนั้น ว่าด้วยสถานการณ์สังคมในปี 2489 ไม่ว่าจะเป็นการพูดผ่านวรรณคดี หรือการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ความจำเพาะกรณีหนึ่งของบริบทสังคมการเมืองนครึ่งหลังของปี 2489 คือเหตุการณ์ท่ีเรียกกันว่า “กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8” อันเป็นที่มาของความโกลาหลของ การสอบสวนข้อเท็จจริง , การใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา และ ความเผ็ดร้อนของการอภิปรายโต้เถียงในสภา บนหน้าหนังสือพิมพ์ สยามนิกร จึงมีท้ังการรายงานความคืบหน้าของการสอบสวนข้อเท็จจริงไปพร้อมๆ กับการเซ็นเซอร์การรายงานข้อเท็จจริงและความเห็นต่างๆ จนปรากฏเป็นพื้นที่ว่างเปล่าสีขาวแทรกอยู่เป็นระยะ งานเขียนของคุณ อัศนีในช่วงน้ี กระทั่งเมื่อเป็นการเล่าเรื่องจากวรรณคดีเช่นในกรณีบทความ “วารณาวดี” ก็ถูกเซ็นเซอร์เนื้อหาไปบางส่วน บทความที่ตามมาหลังจากน้ันอย่าง “ไววัสวัตมนู” ก็มีหมายเหตุกำกับว่า “เรื่องนี้เขียนตามหลักฐานตามตำราศาสนวิทยาคือ Theosophy” ส่วนบทความที่เป็นการแปลสรุป ใจความจากบทละครกรีกของโซโฟคลีสเรื่อง Oedipus Tyrannus ที่อินทรายุธแปลว่า “ออยดิปุสประภุ” นั้น ถูกจัดอยู่ภายใต้หัวคอลัมน์ที่ชัดเจนว่า “จักรวาฬวรรณกรรม” อย่างไรก็ดี คุณอัศนีก็ยังคงเขียนบทความแสดงความเห็น ท่ีเป็นการประเมินผลการสอบสวนกรณีสวรรคตได้ และข้อเขียนอีกหลายช้ินของเขาที่เราจัดกลุ่มแยกไว้ในฐานะบทบรรณาธิการ ก็ยังพาดพิงต่อกรณีดังกล่าวได้บ้างแม้จะผ่านข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ต่อประเด็นแวดล้อม ภาวะที่อื้ออึงอลหม่านในปีน้ันเองที่ทำให้เราเลือกท่อนหนึ่งของโคลงบทหน่ึงของคุณอัศนีที่ว่า “อึงคะนึงนินนาททั้ง ธรณี” มาเป็นคำโปรยปก* ของหนังสือเล่มนี้

นอกเหนือจากบทความและบทบรรณาธิการแล้ว งานอีกกลุ่มในสยามนิกร คืองานเขียนในคอลัมน์ “ปริทัศน์” ซึ่งเราได้จัดแยกไว้เป็นอีกกลุ่มหน่ึงในเล่มน้ีเช่นกัน งานเขียนคอลัมน์นี้ซึ่งคุณอัศนีเกริ่นไว้ว่าเป็น “ทำนองข้อเบ็ดเตล็ดต่างๆ อ่านง่ายๆ อ่านแล้วไม่ขุ่นมัวหัวใจ เปนข้อเขียนที่แสดงความคิดเห็นอย่างใหม่ที่น่าฟัง” นั้น ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วก่อนที่คุณอัศนีจะมาเขียนในนามปากกากุลิศ อินทุศักดิ์ ตีพิมพ์โดยท่ีไม่มีกำหนดวันประจำอย่างสม่ำเสมอชัดเจน และเท่าท่ีพบน้ันเป็นการสลับกันเขียนระหว่างผู้ใช้นามว่า “ปุถุชน”, “ชากังราว”, “วิกรม”, แม้นมาส ลีละหุต และ ประยูร ณ นคร (สองนามหลังนี้จะลงคุณวุฒิกำกับทุกครั้ง ว่า อ.บ.) เมื่อกุลิศ อินทุศักดิ์ มาเขียนคอลัมน์นี้ ก็ยังเป็นการเขียนสลับกับนักเขียนคนอื่นๆ ข้างต้น โดยเขายังท้วงช่ือคอลัมน์นี้ไว้อย่างทีเล่นทีจริงว่า “ปริ คำนี้แปลว่าทั่วไป ทุกด้าน หรือรอบๆ ฯลฯ ทัศน์ คงให้หมายถึงทรรศน์ ซึ่ง แปลว่า การดู คือ การดูไปทั่วๆ ทุกด้าน คงจะไม่จงใจให้หมายถึงทัศน์ ซึ่งแปลว่าการกัด คือการกัดไปรอบๆ เปนแน่”

ปี 2489 อีกเช่นกันที่ความผูกพันต่อบริเวณ 7 หัวเมือง (พื้นท่ีจังหวัดชายแดนใต้) ตั้งแต่คร้ังที่คุณอัศนีไปประจำอยู่ที่ปัตตานีเป็นเวลาสองปี ออกดอกผลมาเป็นงานเขียนด้วย อันได้แก่บทความ “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร” และ “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” งานเขียนเกี่ยวกับบริเวณเจ็ดหัวเมืองน้ีจะพบมากข้ึนในปี 2490 และ 2491 และเป็นงานที่คุณอัศนีใช้นามปากกา “อ.ส.” ท้ังหมด ท่ีน่าสังเกตคืองานเขียนเกี่ยวกับอิสลามเหล่านี้มักถูกนำเสนอภายใต้ชื่อคอลัมน์เฉพาะกิจเป็นครั้งๆ ไปว่า “สารคดีพิเศษ” ซึ่งในบริบทนี้ คำเรียกจำแนกประเภทเป็น “สารคดี” (ที่ “พิเศษ” ด้วย) น้ี บ่งนัยถึงการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่ต่างไปหรือไม่เป็นที่คุ้นเคย นั่นคือเป็นสารคดีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ศาสนิกอิสลาม

สำหรับการชำระต้นฉบับ สำนักพิมพ์อ่านใช้ต้นฉบับงานตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นต้นร่าง โดยยังรักษาการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามเดิมเพื่อเป็นหลักฐานถึงความเปลี่ยนแปลงของภาษา (ในช่วงที่คุณอัศนีเขียนงานเหล่านี้เป็นระยะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ยังไม่แล้วเสร็จ) จึงอาจพบคำที่ “ผิด” จากมาตรฐานพจนานุกรมฉบับปัจจุบันหรือการใช้อย่าง “ลักลั่น” อยู่บ้าง เช่น กระฉับกระเฉง, กระทัดรัด, กาลทวีป, ขะโมย, ถ่าย (ไถ่), นิสสัย, ประโยชน, ปลาด, ฉะบับ, บริศุทธิ, ประติดประต่อ, สพ (สบ), พยุ, พศกนิกร, พิเคราะห, มึนเมาห, ใยดี, ลักษณ, ศาป, สารพัสว์, เหน็จเหนื่อย, วรรธนะ เป็นต้น รวมทั้งการใช้ไม้ยมกซ้ำคำด้วยเกณฑ์ที่ต่างจากปัจจุบัน

นอกจากนี้ บทความที่ตีพิมพ์ในวรรนคดีสาร ยังสะกดด้วยเกณฑ์ที่เป็นระบบต่างหากออกไป ตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูสงคราม ซึ่งเราก็ยังคงรักษาร่องรอยเหล่านั้นไว้ทั้งหมด รวมทั้งร่องรอยของความแตกต่างที่ว่าบทความที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารต่างๆ ล้วนใช้เลขไทย แต่เฉพาะใน วรรนคดีสาร เท่านั้นที่มีการเริ่มใช้เลขอารบิค สิ่งที่เราได้แก้ไขไปจึงมีเพียงการเน้นเอนชื่อหนังสือ และการใช้เลขเชิงอรรถเป็นเลขอารบิคทั้งหมด กรณีนอกเหนือจากนั้นเราได้ทำเชิงอรรถ บ.ก.ไว้

การจัดพิมพ์ ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับสำเนางานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งมาจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ธิดาของคุณอัศนีและคุณวิมล พลจันทร ซึ่งเป็นทายาทผู้ดูแลต้นฉบับ และผลงานของคุณอัศนี รวมทั้งงานต้นร่างต่างๆ ที่คุณวิมล พลจันทร ริเริ่มจัดเตรียมไว้อย่างยากลำบาก สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงเป็นงานตั้งต้นให้สำนักพิมพ์อ่านติดตามสืบค้นเพิ่มเติม โดยที่เรายังได้อาศัยรายชื่องานเขียนต่างๆ ของคุณอัศนีจากปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นไว้อย่างดี เป็นหลักในการสืบค้นงานเรื่อยมาและเรายังได้สืบค้นแสวงหาต้นฉบับและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง

กล่าวสำหรับ ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 สำนักพิมพ์อ่านยังได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากคุณไทเรล ฮาเบอคอร์ณ (Tyrell Haberkorn) ในการสืบค้นและสำเนาจากไมโครฟิล์มนิตยสาร การเมือง รายสัปดาห์จำนวนหนึ่งในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นอกจากนั้นแล้ว คุณธิกานต์ ศรีนารา และคุณปราการ กลิ่นฟุ้ง ยังมีน้ำใจมอบ การเมือง ซึ่งสำเนามาจากหอสมุดของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยไว้ได้บางส่วน (ปัจจุบันต้นฉบับเหล่านี้ไม่มีเก็บที่หอสมุดแห่งนั้นอีกแล้ว) อีกทั้งเรายังได้อาศัยต้นร่างของบทความ “อารยกับอนารย” จาก เอกชน ฉบับวันที่ 21 มิ.ย. 2484 ที่คุณสมาน อู่งามสิน แห่งสำนักพิมพ์อัล-อีหม่าน ได้กรุณามอบสำเนาให้ไว้ด้วย

กระนั้นก็ดี หนังสือ ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร คงจะมีเนื้อหาน้อยไปกว่านี้อีกมากหากเราไม่ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักหอสมุดแห่งชาติให้เข้าไปสืบค้นหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา โดยเฉพาะ สยามนิกร ซึ่งมีงานเขียนของคุณอัศนี พลจันทร ตีพิมพ์อยู่เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2489-2491 ทั้งนี้เนื่องจากในชั้นแรก ไมโครฟิล์มเอกสารชุดนี้ชำรุดไปและไม่อาจเรียกดูได้อีก อีกทั้งหอสมุดแห่งชาติได้ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลาร่วมสองปีแต่นับเป็นโชคดีที่เมื่อหอสมุดแห่งชาติเปิดให้บริการแก่ประชาชนอีกครั้งในกลางปี 2560 สำนักพิมพ์อ่านก็ได้รับความอนุเคราะห์ในการขออนุญาตเข้าสืบค้น เราจึงได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ตั้งแต่ฉบับเดือนกรกฎาคม 2489 จนถึงปลายปี 2495 รวมถึงต้นฉบับที่ตีพิมพ์ใน เอกชน รายสัปดาห์ ปี 2484 เท่าที่ยังมีเหลืออยู่ด้วยยังผลให้เราสามารถนำงานของคุณอัศนีจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยมีการเผยแพร่ซ้ำหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกกลับคืนสู่สาธารณชนในวาระ 100 ปีชาตกาล ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร ในปี 2561 สำนักพิมพ์อ่านจึงขอขอบคุณหอสมุดแห่งชาติ โดยเฉพาะคุณบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ และบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องบริการวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีในการอำนวยความสะดวกแก่การค้นคว้าของประชาชน

เรายังขอขอบคุณ คุณนุชจรี ใจเก่ง และคุณวริศา กิตติคุณเสรี ที่อาสามาช่วยเหลือในการถ่ายรูปหนังสือพิมพ์สยามนิกร ส่วนหนึ่งในช่วงแรก ก่อนที่ต่อมาสำนักพิมพ์อ่านจะตัดสินใจใช้บริการจ้างช่างภาพมืออาชีพมาทำให้การถ่ายภาพต้นฉบับให้มีความคมชัดแม่นยำพอที่จะเป็นต้นร่างและสำเร็จลงได้ทันเวลา ทั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้มอบสำเนาภาพถ่ายดังกล่าวนั้นให้แก่หอสมุดแห่งชาติไว้ด้วย เพื่อช่วยเหลือกระบวนการเก็บรักษาสิ่งพิมพ์ของหอสมุดแห่งชาติให้ผู้ค้นคว้าเอกสารเก่ายังใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

นอกจากนี้เรายังขอขอบคุณ คุณสะรอนี ดือเระ ที่ช่วยให้คำปรึกษาในบทความที่เกี่ยวกับอิสลาม และขอขอบคุณ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่กรุณาช่วยเหลืออย่างดีในการค้นหาเอกสารมาให้เพื่อใช้สอบทานในขั้นงานบรรณาธิการ

การจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ลุล่วงในที่สุดได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้ที่เอ่ยนามมาข้างต้น แต่อันที่จริงแล้วตลอดมาเราได้รับคำแนะนำข้อซักถาม และกำลังใจจากมิตรสหายและผู้อ่านที่สอบถามข่าวคราวเข้ามารวมทั้งอีกหลายท่านที่กรุณาช่วยค้นหรือชี้ช่องทางค้นหาเอกสารให้ สำนักพิมพ์อ่านได้แต่ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง เราหวังว่าหนังสือของคุณอัศนี พลจันทร ชุดนี้ จะได้มีประโยชน์ตามความตั้งใจของผู้เขียน ซึ่งมุมานะทำงานเพื่อประชาชนอย่างเสียสละตลอดชีวิตของเขา รวมทั้งได้เป็นประโยชน์แก่สังคมเราในฐานะแหล่งข้อมูลหนึ่งที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ต่อไป

———

* จาก “อนิจจาจอมคน!” (สยามสมัย, 25 ต.ค. 2491) ทั้งนี้แม้จะยังเป็นปริศนาว่า “จอมคน” ที่ว่า หมายถึงใคร และคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ก็เคยเสนอการตีความว่าอาจหมายถึงกรณีที่รัชกาลที่ 9 ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สวิตเซอร์แลนด์ แล้วพสกนิกรพากันวิตกห่วงใยเมื่อทราบข่าว แต่ความเป็นไปได้อย่างยิ่งอีกกรณีหนึ่งก็คือหมายถึง ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองต่อไปหลังจากมีการสรุปผลการสอบสวนคดีสวรรคตเพิ่มเติมและส่งฟ้องศาลในเดือน ส.ค. 2491 แล้วออกหมายจับปรีดีไปทั่วประเทศ ดูโคลงบทนี้ฉบับเต็มได้ใน กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 2

© 2018 ติดต่อหรือแลกเปลี่ยนความเห็นที่ [email protected]